กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

8 ธันวาคม 2563

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563 คุณสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะทำงานการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคุณนที สิทธิประศาสน์ รองประธานฯ คุณวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานฯ คุณชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ เลขาธิการกลุ่มฯ เข้าพบคุณเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หารือเรื่องการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ในการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ ผ่านระบบแพลตฟอร์ม เพื่อเก็บข้อมูล big data และนำไปวิเคราะห์เพื่อ ออกนโยบาย การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนออกนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการกีดกันทางการค้า จากการใช้พลังงานมาก ที่ปล่อยมลภาวะสูง เช่น นโยบายการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ ภาวะโลกร้อนที่สหรัฐอเมริกา กำลังจะกลับมาฟื้นฟูนโยบายนี้ใหม่ ณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19

โดยมีวัตถุประสงค์  นำข้อมูลการใช้พลังงานที่ได้  มารวบรวมเป็นฐานข้อมูล Big Data เพื่อให้ทราบถึงจำนวนและปริมาณการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ส่วนต่าง อาทิเช่นการใช้พลังงานในกลุ่ม first s-curve new s-curve หรือ AI เป็นต้นรวมถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะในรูปแบบต่างๆ  และนำฐานข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์แนวโน้มการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และมาตราการ การลดการใช้พลังงานและการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของนโยบายโลกในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกจะต้องลดลงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 จากระดับปี 2553และจะต้องลดลดลงการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ที่สำคัญ ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ภาคี 186 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันข้อตกลงปารีสในการตกลงร่วมมือให้บรรลุผล สิ่งที่กล่าวมาเป็นนโยบายที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญากับนานาอารยะประเทศ  ว่าจะเริ่มดำเนินตามอย่างเคร่งครัด

อ้างอิง *
ทั้งนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาทางด้านการค้า International Trade ระหว่างประเทศมากขึ้นทุกทีดังจะเห็นได้จาก คณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายภาษีและสหภาพศุลกากร 
(DG Taxud) เปิดรับความคิดเห็นสาธารณะ (Public consultations) เกี่ยวกับแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 28 ตุลาคม 2563

นโยบาย CBAM ของสหภาพยุโรป ที่เปิดรับฟังความคิดเห็น

1) การประเมินความเป็นไปได้ทางกฎหมายและทางเทคนิคของมาตรการ CBAM ให้สอดคล้องกับระเบียบการค้า WTO ข้อตกลงการค้าเสรีของสหภาพฯ และพันธกรณีระหว่างประเทศอื่น ทั้งนี้ แนวทางเลือกที่อาจนำมาใช้ภายใต้ CBAM อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่กำหนด ทั้งที่ผลิตในสหภาพยุโรป และจากการนำเข้า การเก็บภาษีศุลกากรคาร์บอนสำหรับการนำเข้า และการขยายขอบเขต (European Union Emission Trading Scheme: EU ETS) มาใช้กับสินค้านำเข้า

2) ประเมินปริมาณและราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า และ

3) กลุ่มสินค้า/อุตสาหกรรมที่จะเก็บภาษีคาร์บอน โดยเน้นกลุ่มสินค้า/อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของการรั่วไหลของคาร์บอนสูงสุด  

 มาตรการ CBAM เป็นมาตรการที่กำหนดอัตราภาษีนำเข้าตามระดับคาร์บอน เพื่อลดความได้เปรียบทางด้านต้นทุนของสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีระดับคาร์บอนแฝงสูงกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีมาตรการจัดการกับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากประเทศที่สามที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (EU) ไม่มีการกำหนดโควตาหรือมีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซฯ ที่เข้มงวดน้อยกว่า ทั้งนี้ การใช้ CBAM จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่เทียบเท่ากับสินค้าชนิดเดียวกัน (Like products) ที่ผลิตในประเทศ โดยจะกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในประเทศหรือผู้ส่งออกสินค้าต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซในปริมาณที่เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตสินค้านั้นๆ 

ทั้งนี้ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างเข้มข้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสูง เช่น เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ เหล็ก สินค้าเหล็ก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทาง DG Taxud ได้มีการออกระเบียบกำหนดรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงการรั่วไหลของคาร์บอน ในช่วงปี 2564-2573 (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 2) อาทิ เหมืองแร่ถ่านหิน น้ำมัน แป้ง (starch) น้ำตาล เครื่องหนัง ปุ๋ย พลาสติก อะลูมิเนียม เหล็ก กระดาษ กระจก ซีเมนต์ นมผง มันฝรั่งแช่แข็ง เป็นต้น

ข้อสรุปการหารือในครั้งนี้
ทำความร่วมมือทันทีในการจัดทำข้อมูลร่วมกัน ในรูปแบบ Digital เพื่อนำสู่การวิเคราะห์ ทำแผนนโยบายและ แผนปฏิบัติ สำหรับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน 
ที่สำคัญสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที (real time)