จะดีแค่ไหน ถ้าแต่ละบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าเหลือเพื่อ “ขาย” ได้? จริงอยู่ที่โซลาร์เซลล์มีบทบาทมานานแล้ว และการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กำลังจะพูดถึงนี้หมายถึง “บ้านทุกหลัง” จะมีไฟฟ้าเหลือใช้ จนสามารถผลิตขายให้กับภาครัฐหรือภาคธุรกิจในบริเวณใกล้เคียงได้
สหภาพยุโรป (EU) กำลังทำให้ฝันนี้เป็นจริง โดยตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ประมาณ 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานในครัวเรือนและอาคารสำนักงานจะต้องมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อันเป็นไปตามข้อตกลงของการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum 2018
EU จริงจังกับเรื่องนี้มาก เพราะแต่ละประเทศต้องเผชิญกับอากาศหนาวจัดนานหลายเดือน การใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่นเป็นความจำเป็นสูง และเป็นค่าใช้จ่ายที่ทั้งครัวเรือนและภาคส่วนต่างๆต้องแบกรับ หลายประเทศขยับแต่ยังไม่เร็วเท่าสวีเดนที่นำไปก่อนเพื่อน
สวีเดน วางธงไว้ว่าในปี ค.ศ. 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า บ้านทุกหลังจะต้อง “ทรานส์ฟอร์ม” เปลี่ยนโฉมเป็น “โปรซูเมอร์” (Prosumer) หรือการผลิตโดยผู้บริโภค หมายความว่า ประชาชนเป็นทั้งผู้ซื้อกระแสไฟฟ้า และเป็นผู้ผลิต+ขายกระแสไฟฟ้าได้ในคนเดียวกัน
ไม่ใช่แต่คนที่ต้องการพลังงานจำนวนมากเพื่อต้านความหนาว ระบบการผลิตอาหารก็มีความต้องการพลังงานไม่น้อยไปกว่ากัน ประมาณว่าในภาคการผลิตด้านการเกษตรที่อยู่ในชนบท ต้องใช้พลังงานเพื่อการผลิตสูงกว่า 75% และส่วนใหญ่เป็นพลังงานฟอสซิลที่สร้างมลภาวะ
ทุกวันนี้สวีเดนเป็นประเทศหนึ่งใน EU ที่อยู่แถวหน้าในการจ่ายค่าคาร์บอนเครดิต เป้าหมายการทรานส์ฟอร์มนี้จึงได้ประโยชน์ ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดปัญหาโลกร้อน
ปัจจัยที่จะทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จ คือ นโยบายการดูแลรักษาธรรมชาติแบบจริงจัง ทำให้ทุกวันนี้ การใช้พลังงานในประเทศของสวีเดนมากกว่า 54% มาจากระบบไฮโดรเพาเวอร์ หรือพลังงานหมุนเวียนจากน้ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกับสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย กับอีกส่วน คือ การรักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ได้มากกว่า 63%
ภาษีน้ำมันที่สูงขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สวีเดนตัดสินใจก้าวไปสู่พลังงานหมุนเวียนแบบ 100% แม้ต้องลงทุนสูง แต่ก็มีบริษัทผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ในเขตชนบท
ระบบพลังงานชีวมวลหรือไบโอแมส (Biomass) ที่เรียกว่า District Heating ซึ่งเกิดขึ้นมานานกว่า 70 ปีแล้ว กำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาระบบและเชื่อมโยงกันมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ จากเมืองใหญ่ไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงาน และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล
การสร้างโครงข่ายพลังงานสะอาดครอบคลุมทั้งประเทศได้เช่นนี้ต้องอาศัยความพร้อม 4 ด้าน คือ โครงสร้างพื้นฐานของเมือง ความรู้ ระบบธุรกิจ และการตลาด
ปัจจัยเหล่านี้ส่งให้สวีเดนก้าวขึ้นมาสู่การแปลงโฉมทุกครัวเรือนให้เป็น “โปรซูเมอร์” ด้านพลังงาน ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายบังคับ แต่ธุรกิจที่พักอาศัยก็เต็มใจติดตั้งระบบนี้ แม้แต่ที่พักอาศัยรุ่นเก่าๆ ชุมชนก็ยอมลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นบ้านส่วนตัวหรือแม้แต่ที่พักอาศัยแบบอพาร์ตเมนต์
ลุดวิกา เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ห่างจากเมืองหลวงสตอกโฮล์มราว 200 กิโลเมตร ที่นี่อพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงระบบพลังงานอัจฉริยะหรือ Smart Energy ทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การเก็บพลังงานความร้อน (Thermal Energy Storage) และปั๊มความร้อน (Heat pump) อุปกรณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงในระบบไมโครกริด ชาร์จพลังงานข้ามคืนอย่างต่อเนื่อง
เวลานี้ อพาร์ตเมนต์ต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ สามารถผลิตพลังงาน “เกิน” ความต้องการใช้งานถึงร้อยละ 77 กลายเป็นโมเดลที่อีกหลายๆแห่งขยับปรับตัวตาม และโรงงานผู้ผลิตพลังงานในจังหวัดต่างๆ ก็หันมาทำการตลาดกับ “เจ้าของบ้าน” เพื่อรับซื้อพลังงาน บวกกับการจัดหาพลังงานหมุนเวียนจากลม จากน้ำ และชีวมวล โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงความแตกต่างของแหล่งพลังงานเหล่านี้เข้าด้วยกันตามแนวคิดสมาร์ทกริด (Smart Grid)
ทำให้วันนี้ สวีเดนได้กลายเป็น “พิมพ์นิยม” ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่โลกอนาคตก่อนประเทศอื่นในสหภาพยุโรปไปแล้ว.
Source : ไทยรัฐ