ผลักดัน พลังงานแสงอาทิตย์ เข้าระบบเป็น 15,574 เมกะวัตต์ เปิดทางรัฐมนตรีใหม่วางนโยบายเอง 9,000 เมกะวัตต์ ด้านโรงไฟฟ้าขยะ ส่งต่อให้มหาดไทยจัดสรร 400 เมกะวัตต์ ให้ราคารับซื้อ 3.66-5.78 บาทต่อหน่วย
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า จากการที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ( พีดีพี 2018 ) ได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 แล้ว ปัจจุบัน พพ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 ( เออีดีพี 2018 ) ให้สอดคล้องกับแผนพีดีพี 2018 โดยปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะนำแผนออกไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ จากนั้นจะนำเข้าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
สำหรับแผนเออีดีพีนั้น จะมีพลังงานทดแทนเข้าระบบรวม 29,358 เมกะวัตต์ คิดเป็น 33% เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 15,574 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,786 เมกะวัตต์ พลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 928 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 75 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 188 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,918 เมกะวัตต์
แผนฉบับนี้มีพลังงานทดแทนที่ได้ปรับเป้าหมายการรับซื้อให้สูงขึ้นจากแผนเออีดีพี 2015 ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ จากแผนเดิม ณ ปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ เป็น 15,574 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 เมกะวัตต์ เป็น 5,786 เมกะวัตต์ ส่วนขยะชุมชนเพิ่มจาก 500 เมกะวัตต์เป็น 900 เมกะวัตต์ ขณะที่พลังงานบางประเภทเป้าหมายคงเดิม เช่น พลังน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพราะการหาพื้นที่ใหม่ในประเทศดำเนินการเป็นเรื่องยาก โดยแผนฉบับนี้จะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) เพิ่มขึ้น เพราะได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต้องไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าราคาค่าไฟขายส่งที่ 2.80-2.90 บาทต่อหน่วย ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะนำเข้าระบบรวมตามแผนนี้ เป็นพลังงานติดตั้งใหม่ระหว่างปี 2561-2580 จำนวน 12,725 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำที่เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อป 10,000 เมกะวัตต์ โดย 1,000 เมกะวัตต์เป็นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนอีก 9,000 เมกะวัตต์เปิดกว้างรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่กำหนด จะให้เป็นโซลาร์รูฟท็อป หรือ โซลาร์ฟาร์ม
ส่วนขยะชุมชนนั้น กระทรวงพลังงานได้ ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้คัดเลือกโครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นทั้งรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) ขนาด 10-90 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ รวม 400 เมกะวัตต์ ถือเป็นพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาใหม่ประเภทเดียวที่ยังมีการอุดหนุนการรับซื้อในรูป Feed-in tariff ( FIT ) 20 ปี เป็น อัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากเอสพีพี 3.66 บาทต่อหน่วย ส่วนวีเอสพีพี รับซื้อ 5.78 บาทต่อหน่วย เป็นพรีเมี่ยม 0.78 บาทต่อหน่วย 8 ปีแรก รวมถึงโซลาร์ภาคประชาชน 1,000 เมกะวัตต์ 10 ปี ที่รับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วย
ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายของแผนพีดีพี 2018 ในภาพใหญ่ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ หากคิดสัดส่วนตามค่าพลังงาน การใช้เชื้อเพลิงตามแผนจะเป็นก๊าซธรรมชาติ 53% ถ่านหินและลิกไนต์ 12% ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% อนุรักษ์พลังงาน 6%