คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 4 ส.ค.2564 เตรียมพิจารณากรอบการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก พร้อมรับทราบหลักเกณฑ์การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กบง.มาแล้ว โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะนำเสนอ 2 หลักเกณฑ์วิธีคิดราคานำเข้า LNG ทั้ง Shipper รายเก่าและรายใหม่
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 4 ส.ค. 2564 ทางกระทรวงพลังงานจะนำเสนอที่ประชุม กพช.ใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ กรอบการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ( National Energy Plan ) และหลักเกณฑ์การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ให้ที่ประชุมพิจารณา
โดยในส่วนของแผนพลังงานแห่งชาติ จะเป็นเพียงการเสนอขอความเห็นชอบกรอบของแผนฯเท่านั้น ซึ่งจะต้องนำกลับมาจัดทำรายละเอียดในแผนปฏิบัติการ 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2022,แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ,แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan),แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)
โดยในส่วนของแผน PDP 2022 อาจจะเสร็จในปี 2565 แทน จากเดิมคาดว่าจะเสร็จปี 2564 นี้ เนื่องจากกระบวนการดำเนินงานทำได้ยากขึ้นจากปัญหาโควิด-19 และการจัดทำแผนต้องจัดทำอย่างรอบคอบด้วย
สำหรับที่ผ่านมากระทรวงพลังงานชี้แจงว่า แผนพลังงานแห่งชาติจะมุ่งเน้นไปยังการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ที่จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ( ปี2564-2569) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่จะกำหนดทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดอุณหภูมิโลกร้อน เพื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำแนวนโยบายที่ชัดเจนของไทยไปเสนอต่อการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ในช่วงเดือน พ.ย.2564
เช่น ด้านไฟฟ้าจะกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่จากนี้ไป จะต้องไม่เป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน,การดูแลความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ จะต้องเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ,โรงไฟฟ้าที่จะรับซื้อเข้าระบบจากนี้ไป จะต้องเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเท่านั้น รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม ขยะ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว
นอกจากนี้ยังต้องนำเรื่องของการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน (Prosumer) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) เข้ามาอยู่ในระบบไฟฟ้าหลัก และต้องพัฒนาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) และระบบสมาร์ทกริด ไมโครกริดเข้ามาเสริมศักยภาพของระบบไฟฟ้า ตลอดจนมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง และคำนึงถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) และแบตเตอรี่ ที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามแผนของภาครัฐ เป็นต้น
สำหรับหลักเกณฑ์การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 นั้น ทางกระทรวงพลังงานจะนำเสนอที่ประชุม กพช.ตามแนวทาง ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่28 มิ.ย. 2564 มาแล้ว ซึ่งได้กำหนดปริมาณการนำเข้า Liquefied Natural Gas (LNG) ปี 2564 – 2566 เพื่อรองรับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ไม่กระทบต่อ Take or Pay เท่ากับ 0.48 ล้านตันต่อปี 1.74 ล้านตันต่อปี และ 3.02 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติในระยะที่ 2 คือ Regulated Market ( กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ ) และ Partially Regulated Market ( กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง ) สำหรับ New Demand และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของ Shipper ต่อไป
โดยปัจจุบัน กกพ.ได้ให้ใบอนุญาตการเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่แล้ว 7 ราย และกำลังอยู่ระหว่างจัดสรรโควต้า LNG 4.8 แสนตันของปี 2564
อย่างไรก็ตามทาง กกพ. จะนำเสนอ กพช. ในครั้งนี้เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์โครงสร้างราคานำเข้า LNG โดยจะแบ่งเป็น 2 หลักเกณฑ์คือ หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG สำหรับ Shipper รายใหม่ และหลักเกณฑ์ราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติของ Shipper รายเดิม ซึ่งคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อให้การนำเข้า LNG มีราคาที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าไฟฟ้าของประเทศต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในสถานการณ์ที่ราคาSpot LNG ขาขึ้นที่ราคาสูงกว่า Pool Gas (ราคาเฉลี่ยของก๊าซในอ่าวไทย+ก๊าซเมียนมา +LNGสัญญาระยะยาวของ ปตท.) โดยอยู่ที่ระดับ 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ Shipper ไม่ต้องการที่จะนำเข้าLNG ที่ถูกจัดสรรโควต้าให้ในปี 2564 เพราะจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่รับLNG จากShipper รายนั้นๆมีต้นทุนที่สูงขึ้นและลูกค้าต้องซื้อไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้น ยกเว้นว่า กกพ.จะยินยอมให้มีการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าวไปไว้ในค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที โดยหากเมื่อ LNG มีราคาที่ต่ำกว่า Pool Gas จึงจะพร้อมที่จะนำเข้าตามแผน
โดยประเด็นดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า กกพ.ยังไม่สามารถดูแลความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ หากไม่สามารถแจ้งให้Shipper นำเข้าLNGราคาแพงตามโควต้าที่ถูกจัดสรรให้ แล้วแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นเองในช่วงที่เป็นราคาขาขึ้น เพราะในช่วงที่ราคาLNGขาลงเหมือนปี 63 โรงไฟฟ้าที่รับLNG จาก Shipper รายนั้นๆก็จะได้อานิสงส์จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูกลงที่ไม่เกี่ยวกับราคาPool Gas
Source : Energy News Center