สัมภาษณ์
ในวันที่ 16 ธ.ค. 64 จะเป็นเวลาครบ 1 ปี ที่ “ดร.ฮาลาลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม กลับมาดำเนินงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม พาวเวอร์ บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า แทน ปรียนาถ สุนทรวาทะ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของธุรกิจที่จะฝ่าพายุโควิด-19 และกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่การผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต
เพื่อสร้างความเติบโตให้ธุรกิจที่กำลังก้าวสู่อายุ 144 ปี หรือ 12 รอบ ให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 3,254 เมกะวัตต์ ในปีนี้ไปเป็น 4,015 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 (2030) “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ซีอีโอ บี.กริม “ดร.ฮาลาลด์ ลิงค์” เมื่อเร็ว ๆ นี้
ในปี 2564 ที่ผ่านมา
ในปีที่ผ่านมา ช่วง 11 เดือน ได้ดำเนินการในหลาย ๆ เรื่องที่สำคัญ มีการเข้าซื้อ (acquisitions) ธุรกิจ 4 โครงการ คือ โครงการโฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 3 โครงการ รวมกำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ (MW) โครงการผลิตไฟฟ้าลม ZEL1 ที่โปแลนด์ กำลังการผลิต 14 MW
โครงการ reNIKOLA ที่มาเลเซีย ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มขนาด 88 MW และโครงการผลิตไฟฟ้าลม Huong Hoa ที่ประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 MW ซึ่งจะทำให้ปี 2564 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 3,254 MW สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3,000 MW
นอกจากนี้ก็มีการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการ BO Thong จากลม เมื่อเดือนสิงหาคม 16 MW การออก Green Loan ครั้งที่ 2 ในเวียดนาม
อีกทั้งยังได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี (LNG shipper licence) 1.2 ล้านตัน ซึ่งเบื้องต้นจะไปนำเข้าในปี 2023 ปริมาณ 5 แสนตัน ส่วนปี 2022 ยังคงใช้จาก ปตท.ไปก่อน เพราะคู่ค้าแหล่งนำเข้าหลักมีความพร้อมจะส่งให้ได้ในอีก 2 ปี
โดยสูตรการนำเข้าของเราคือ จะแบ่ง 3 ส่วน คือ นำเข้าเอง 33% ใช้จาก ปตท. 33% และพันธมิตรนำเข้า 33% เพื่อนำมาใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าเราก่อน ที่เหลืออาจจะขายให้กับผู้ที่ต้องการใช้อื่น ๆ
1 แสนล้าน ลงทุนปี 2565
ในปี 2565 จะเป็นปีที่ครบรอบ 12 รอบของ บี.กริม หรือ 144 ปี เรามีแผนที่จะใช้งบประมาณการลงทุน 1 แสนล้านบาท จากกระแสเงินสด 22,000-25,000 ล้าน และการออกหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาท โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 23% จาก 2,894 MW เป็น 3,544 MW และเพิ่มรายได้ 8-10% ดูแลอัตราหนี้ต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า
โดยมีโครงการที่จะเข้า COD คือ โครงการ SPP ในไทย 3 โรง 360 MW, reNOKOLA มาเลเซีย 88 MW, โครงการ SPP Replacement 5 โรง 700 MW ซึ่งจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยประหยัดการใช้แก๊ส 15% โครงการไฮบริด U-Tapao 18 MW และโครงการผลิตไฟฟ้าลม Huong Hoa 48 MW
เรามองถึงโอกาสขยายการลงทุนไปยังประเทศในกลุ่มใหม่ ๆ อย่างยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมแล้วจะมีจำนวนประเทศที่ บี.กริม เข้าไปลงทุน 11 ประเทศทั่วโลก (กราฟิก) โดยไทยยังเป็นฐานการผลิตหลักของเรา ส่วนที่เวียดนามก็จะใหญ่ขึ้น เพราะแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 เสร็จแล้วก็มีโอกาสจะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอีก 1 โครงการ
สำหรับในยุโรปตะวันออก โครงการที่โปแลนด์ก่อน 14 MW เราร่วมลงทุน 21 ล้านยูโร อัตราค่าไฟฟ้าสูง 60 ยูโรต่อ MW ที่นั่นใช้ถ่านหินเป็นหลัก แสงอาทิตย์ยังไม่พอ ในแถบนี้เรามองเห็นศักยภาพในหลาย ๆ ประเทศ
โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างมาก และยังต้องการการลงทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะพลังงานทดแทนอย่างลม และโซลาร์ เรามีแผนจะขยายเยอะมากที่นี่ เช่น โครเอเชีย เราวางแผนจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากลมหรือโซลาร์ ประมาณ 20-50 MW ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการลงทุน
บี.กริมชอบที่จะไปลงทุนเองตั้งแต่ต้นการขออนุญาตสัมปทาน และสร้างเองมากกว่าที่จะซื้อและควบรวมกิจการ ยกเว้นต้องการสร้างผลตอบแทนทันทีโดยเร็ว ซึ่งหากพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนที่เกิดขึ้นจะสูงกว่า อย่างเยอรมนี ถ้าไปซื้อได้รีเทิร์น 2-3% ประเทศอื่น ๆ อาจจะสูงกว่า ได้ประมาณ 5-6% และถ้าลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นจะได้ 9-10% เป็นต้น
“ในเดือนมกราคม 65 ผมจะเดินทางไปตะวันออกกลาง เพราะเราอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน 2 ประเทศในกลุ่มนี้ คือ ยูเออี และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาจจะเข้าไปร่วมทุนทำโซลาร์ ในส่วนของยูเออีกำลังพิจารณา 2 โครงการ ขนาด 100 MW และ 30 MW ส่วนในซาอุฯขนาด 30 MW นอกจากนี้มองที่อเมริกาเหนือ”
2 กลยุทธ์หลักสร้างความเติบโต
“ก่อนหน้านี้ เรานำไปที่เวียดนาม ตอนที่เราไปเวียดนาม หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมเราจึงกล้าไปลงทุน ตอนนั้นปี 2018 ลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเราไปทำจนสำเร็จ ต่อมาคนอื่น ๆ ก็ไป เราได้กรีนบอนด์จากเวียดนาม”
“หลักการลงทุนของ บี.กริม คือ เรามองโลกดีทำให้มีโอกาส และประเทศต่าง ๆ ให้โอกาสเรา โดยการไปลงทุนที่ไหน บี.กริมต้องจะไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และชุมชนที่นั่น ตอนนี้ที่ไปมาเลเซีย ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นดะโต๊ะของรัฐหนึ่ง สิ่งที่ 2 คือ เรามีพาร์ตเนอร์ ทั้งรัฐและเอกชนในหลาย ๆ ที่ เป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน เช่น ในแหลมฉบัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซีเมนต์ MQDC และกำลังจะมีพาร์ตเนอร์ใหม่ คือ เซ็นทรัล”
เหตุผลที่ต้องกระจายการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ หลากหลายทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนหนึ่งเพราะทริสเรทติ้งจะมีการจัดอันดับการลงทุนหากไปลงทุนในประเทศที่มั่นคง ทำให้อันดับเรตติ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเลือกพาร์ตเนอร์ด้วยว่าจะต้องมีความเชี่ยวชาญ และทำความรู้จักและคุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง
ผนึก “เซ็นทรัล” ผลิตไฟฟ้า
ตอนนี้ บี.กริมมีโรงไฟฟ้าในประเทศไทย และมีการให้บริการธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ
“ล่าสุดเรากำลังหารือกับทางกลุ่มเซ็นทรัล คือ เราเป็นพันธมิตรที่ดีกับเซ็นทรัลมายาวนานแล้ว ตอนนี้มาคุยกันว่า บี.กริมนำเข้าแอลเอ็นจี ทางเซ็นทรัลก็อยากให้เราเข้าไปทำโรงไฟฟ้าให้ห้าง คือ มันจะเป็นรูปแบบแก๊สเอ็นจิ้น ควบคู่กับการติดตั้งแผงโซลาร์ ซึ่งมันจะทำให้เขาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ 27% เลยทันที ตอนนี้กำลังคุยกันในรายละเอียดว่าอยู่ระหว่างจะทดลองนำร่องที่สาขาใดก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้”
อีกทั้งบริษัทยังมีการทำธุรกิจให้บริการน้ำร้อนน้ำเย็นให้กับโครงการของบริษัทแมคโนเลียฯ (MQDC) ด้วย
ส่วนการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทย บริษัทมีแผนจะพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม กำลังดูในหลายจังหวัดที่เหมาะสม เช่น ชัยภูมิ มุกดาหาร และการทำโซลาร์จากก่อนหน้านี้ทำสำเร็จที่สิรินธร
ทั้งนี้ การลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่จะลงทุนดูจากปัจจัยที่เหมาะสมหลายด้าน เช่น พื้นที่ใดมีลม ส่วนต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานลมแน่นอนว่ายังสูงกว่าโซลาร์ หากคำนวณต้นทุน 1 เมกะวัตต์เท่ากัน โซลาร์จะใช้เงินน้อยกว่าลม แต่ก็มีเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ต้องดูด้วย
ฝ่าปัจจัยเสี่ยงปี’65
ที่เรามองว่าปีหน้าจะมีการขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้น เพราะเรามองปัจจัยต่าง ๆ ปัญหาหนักเรื่องค่าแก๊สที่สูงขึ้น การปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 อีก 0.1671 เป็น 0.0139 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เราดูภาคอุตสาหกรรมไม่กระทบ จากความต้องการใช้ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการทำสัญญากับลูกค้า IU จำนวน 33.5 MW เพิ่มขึ้น 21% ส่วนปี 2022 มีลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ใหม่ 55 MW แล้ว
“ที่น่าสนใจคือในการประชุม COP26 ต่อเนื่อง หลังจากสหรัฐได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไบเดนเข้ามา ทุกคนก็หันไปให้ความสนใจกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ต่อไปจะมีการเก็บภาษี มีค่าปรับ สำหรับผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัตรา 175 เหรียญสหรัฐต่อตัน”
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน แต่ไทยยังมีการผลิตไฟฟ้าจากแก๊ส 70% และการที่ราคาค่าแก๊สสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องประเมินดู โดยยังคงมองว่าราคาแก๊สจะลดลงในอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมก็ผลิตได้ 30% ของจีดีพีฟื้นตัว และมีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่ง บี.กริมก็เตรียมพร้อมในเรื่องนี้”
ส่วนเรื่องโอไมครอนที่มองว่าอาจจะมีการกระจายได้เร็ว เรามองว่าคนปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับโควิดไปให้ได้ ยกตัวอย่าง ผมถอดแมสก์เพราะมีสเปรย์อันหนึ่งที่มาฉีดหน้าผมมันจะฆ่าเชื้อได้ ผมได้มาจากอเมริกา ผมจะเป็นตัวแทนผลิตมัน
“วันนี้มีคนที่มาจากออสเตรเลียเพราะเราจะทำธุรกิจที่ออสเตรเลียด้วย ตอนที่มาลูกของลูกค้าบอกว่าจะบ้าเหรอ ทำไมต้องเดินทางไกลมาพบคุณลิงค์ คือ ชีวิตมันไม่ใช่ซูม มนุษย์ต้องเจอกันจะอยู่บนหน้าจออย่างเดียว มันไม่ใช่สำหรับคนรุ่นผม”
Source : ประชาชาติธุรกิจ