‘โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่’ จ่อปักหมุดพลังงานทดแทนต่อเนื่อง เผย 3 ประเทศเป้าหมาย ‘อินเดีย-ไต้หวัน-เวียดนาม’ ผลักดัน 5 ปีแรก (64-68) กำลังผลิตแตะ 4,000 เมกะวัตต์ ก่อนขยับ 8,000 เมกะวัตต์ใน 10 ปี !
ตามยุทธศาสตร์การลงทุนของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC คือ การเป็น ‘เรือธง’ (Flagship) ในการดำเนิน ‘ธุรกิจไฟฟ้า’ ของกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อรองรับการเติบโตธุรกิจ ด้วยการแสวงหาโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และมุ่งมั่นการพัฒนาธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อก้าวเป็นบริษัทไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล
‘ทิติพงษ์ จุลพรศิริดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ให้สัมภาษณ์พิเศษ ‘หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า สอดรับแผนธุรกิจระยะ 10 ปีข้างหน้า (2564-2573) บริษัทอยากเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจ ‘พลังงานทดแทน’ (Renewable) แตะ 8,000 เมกะวัตต์ (MW) ! ซึ่งแบ่งเป็นในช่วง 5 ปีแรก (2564-2568) สู่เป้าหมายขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 เมกะวัตต์ก่อน
ด้วยโครงการพลังงานในประเทศมีข้อจำกัดการขยายโครงการใหม่ และนี่คือเหตุและผลที่บริษัทตัดสินใจลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศจำนวน 2 แห่ง สะท้อนผ่านการลงทุนใน ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ (Solar Farm) ในประเทศอินเดีย และ ‘พลังงานลมนอกชายฝั่ง’ (Offshore Wind) ในไต้หวัน มูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนพลังงานทดแทน 2 แห่ง ทำให้กำลังผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์
โดยการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฟาร์ม ในอินเดีย ถือหุ้น 41.6% ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ขนาดกำลังการผลิต 3,744 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วประมาณ 1,392 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนประมาณ 2,352 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD ภายในปี 2564-2565 และ Avaada มีเป้าหมายขยายการผลิตเป็น 11,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568
‘บริษัทสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานจากการลงทุนดังกล่าวได้ทันทีในปีนี้ เนื่องจากกระบวนการซื้อหุ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วในไตรมาส 3 และคาดว่าในปีหน้าจะรับรู้กำไรจากการลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 41.6% ประมาณ 1,000 ล้านบาท’
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการลงทุนในประเทศอินเดียยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง สะท้อนผ่านล่าสุด Avaadaเพิ่งได้ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) โซลาร์ฟาร์มใหม่ในอินเดีย กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมเข้ามาอีก และคาดว่ามีโอกาสเข้าประมูลไลเซ่นเพิ่มได้อีก ตามทิศทางอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในประเทศอินเดียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน รวมถึงรัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดอีกด้วย
ขณะที่ โครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน (Offshore Wind) คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น 25% ขนาดกำลังผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท คาดกระบวนการซื้อหุ้นจะแล้วเสร็จในปี 2565 และคาดจะรับรู้กำไรเข้ามาทันที
ทั้งนี้ การลงทุนโครงการดังกล่าว เกิดจากความตั้งใจของบริษัท เพื่อต้องการพันธมิตรที่สามารถต่อยอดความร่วมมือจากการร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าในการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งกรณีการร่วมมือกับ CI-II และ CI-III ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนาจากประเทศเดนมาร์ก และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทั่วโลก
ส่งผลให้ในอนาคตบริษัทมีโอกาสร่วมศึกษาการลงทุนกับ CIP ในลงทุนพลังงานทดแทนทั้งในแบบพลังงานลมนอกชายฝั่ง หรือพลังงานทดแทนในประเภทอื่นๆ ในต่างประเทศอีกไม่ใช่แค่ในไต้หวันเท่านั้น เนื่องจาก CIP มองการลงทุนทั่วโลก โดยกลุ่มต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายลงทุนของบริษัท อย่าง อินเดีย , ไต้หวัน , เวียดนาม เป็นต้น ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ดูตามจังหวะและโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคต นอกเหนือจากการลงทุนในไทย
สำหรับเม็ดเงินลงทุนนั้นบริษัทมีวงเงินกู้จากบริษัทแม่ (ปตท.) จำนวน 2 หมื่นล้านบาท และใช้กระแสเงินสดของบริษัทซึ่งแต่ละปีจะมีเงินสดเข้ามาประมาณ2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง การลงทุนใน ทั้ง 2 โครงการ (อินเดีย-ไต้หวัน)ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จะมาจากเงินกู้จากปตท. 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก 1.5 หมื่นล้านบาท จะเป็นวงเงินจากกระแสเงินสดของบริษัทเอง ซึ่งในเบื้องต้นการลงทุนยังไม่มีแผนเพิ่มทุน แต่ในอนาคตหากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างการซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (GLOW) ที่มีมูลค่าระดับแสนล้านบาท ถึงเวลานั้นอาจต้องพิจาณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในแผนธุรกิจบริษัทยังมีการลงทุนและสร้างการเติบโตต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับแผนการลงทุนช่วง 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) โดยในปีนี้บริษัทลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี ทดแทน (SPP Replacement) จำนวน 7 โรง กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ลงทุนโครงการพลังงานโซลาร์ฟาร์มอินเดีย ส่วนปี 2565 โครงการลงทุนพลังงานลมนอกชายฝั่ง ไต้หวันจะเข้ามา และในปี 2566 โครงการโรงไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566
สำหรับการลงทุนในประเทศ บริษัทยังมองการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในส่วนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเดิม และพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์สหกรณ์ หรือโซลาร์รูฟท็อป โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) รวมประมาณ 6,761 เมกะวัตต์ เป็นไอน้ำรวมประมาณ 2,946 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
โดยคาดว่าในปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมขยายตัว 4-6% จากปีก่อน เนื่องจากคาดว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจผ่านไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวเห็นสัญญาณจากผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมเริ่มขยายกำลังการผลิตแล้ว
สำหรับ ‘ธุรกิจกักเก็บพลังงาน’ (แบตเตอรี่) ปัจจุบันลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ G-Cell นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และตั้งเป้าก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในอีก 2-3 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในช่วงต่อไป
อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานครั้งนี้จะเสริมสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเพิ่มขึ้นของการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ และเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนคนไทยตามนโยบายรัฐบาล
ท้ายสุด ‘ทิติพงษ์’ ทิ้งท้ายไว้ว่า ภาพการลงทุนของ GPSC ใน 3 ปีข้างหน้า จะเห็นเราลงทุนโครงการพลังงานต่อเนื่องทุกๆ ปี ซึ่งสะท้อนว่าเราก็จะมีการเติบโตในแง่ของผลประกอบการทุกปี โดยกลยุทธ์ลงทุนพลังงานงานทดแทนหลักๆ น่าจะเห็นการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง
Source : กรุงเทพธุรกิจ