กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

22 ธันวาคม 2563

จากแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการตื่นตัวและนำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในส่วนของภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน 

ที่สหรัฐอเมริกา พลังงานหมุนเวียน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางสำคัญหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนล่าสุด ที่ต้องการให้สหรัฐคงบทบาทความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าผลักดันนโยบายการเปิดเสรีไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า และขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต

โดยมีนโยบายเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือ Private PPA (Private Power Purchase Agreement ) รวมถึงการเพิ่มขึ้นของ Prosumer ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนให้ผู้บริโภค ได้กลายเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าเองได้ 

นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทาง “พลังงานสะอาด” ที่จะก้าวมามีบทบาทหลักในการสร้างความมั่นคงต่ออุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อมองหาพลังงานทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากนโยบายด้านพลังงานที่เปิดกว้างของภาครัฐ ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศจำเป็นต้องเตรียมแผนรองรับการแข่งขันในการขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดรายได้เพิ่มจากพัฒนาธุรกิจใหม่ในกลุ่ม New S-Curve

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. (The innovative power flagship of PTT Group) และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภค ได้มองเห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจพลังงานและธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต จึงได้กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 3 กลยุทธ์หลัก “3S” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายองค์กรในระยะยาว ดังนี้ 

S1: SYNERGY & INTEGRATION  GPSC เน้นการผนึกกำลังหรือ Synergy กับพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้เข้าซื้อกิจการ ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ GPSC เติบโต และสามารถบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดเชิงบูรณาการ ให้มีเอกภาพ คล่องตัว พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและแผนการขยายธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยคาดว่ามูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการกับ GLOW ค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกว่า 500 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 1,600 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2567

S2: SELECTIVE GROWTH  GPSC ขยายธุรกิจและเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โดยเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 11% เป็น 30% ในปี2568 เพื่อให้สอดรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยี สู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ GPSC ได้มีเปิดเผยถึงแผนการเติบโตในพลังงานหมุนเวียนร่วมกัน ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยจะร่วมกันขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เน้นพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เป็นการตอกย้ำถึงการเป็น Power Flagship และ Synergy ร่วมกันในกลุ่ม ปตท. นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และโอกาสในการขยายโครงการใหม่ ๆ ในระดับสากลร่วมกัน 

S3: S-CURVE  GPSC มีแผนขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมรองรับการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจพลังงานและธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่เป็น New S-Curve และเป็นผู้นำด้าน Energy Solution Provider ของกลุ่ม ปตท. ผ่านการดำเนินการพัฒนาธุรกิจใหม่ 3 ส่วน คือ 

1. Battery Business การลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid แห่งแรกของประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยในเฟสแรกจะมีกำลังการผลิตที่ 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง โดยขณะนี้ GPSC ได้มีการประสานงานกับหลายภาคส่วนในการทำตลาด ทั้งในส่วน Mobility และ Stationary ซึ่งจะรองรับการใช้งานรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) สถานีอัดประจุไฟฟ้า และการประยุกต์ใช้งานด้านอื่น ๆ เป็นต้น ก่อนที่จะพิจารณาขยายการลงทุนในเฟสต่อไป 

2. Energy Storage & System Integration การพัฒนาธุรกิจเป็นผู้ให้บริการระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ Smart Energy Storage System: ESS ซึ่งใช้ในการควบคุมการจัดเก็บและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปัจจุบัน GPSC ได้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ เช่น การร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC นำระบบ ESS ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ชั่วโมง มาเพิ่มความมั่นคงและประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าที่ป้อนให้แก่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีของ GC จังหวัดระยอง โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ ให้กับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve  โครงการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา โซลาร์ลอยน้ำ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ผสานนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ทั้ง BESS, Blockchain และ AI เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า รวม 6 เมกะวัตต์ โครงการนำร่องร่วมกับกลุ่ม ปตท. ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เป็นต้น 

3. Smart Energy Management การศึกษา วิเคราะห์ คัดเลือกเทคโนโลยีในการบริหารจัดการพลังงานที่เหมาะสมกับตลาด New Energy เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ 

หากพิจารณาจากทั้ง 3 กลยุทธ์หลักที่ GPSC ได้วางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจพลังงานและธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต จะเห็นว่ามีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ อย่างครอบคลุมในทุกมิติ 

โดยเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 ทาง ปตท. ได้ประกาศเรื่องปรับพอร์ตการลงทุนด้วยการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC เพิ่มอีก 8.91% ส่งผลให้ ปตท. มีสัดส่วนถือหุ้นรวมเป็น 31.72% จากเดิมที่ถือ 22.81% ตอกย้ำความเป็นบริษัทแกนนำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. โดยได้ตั้งเป้าหมายในการรีแบรนด์ GPSC สู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมพลังงาน เพื่อรองรับการเติบโตและการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ที่จะเกิดขึ้นตามแผน New S-Curve ต่อไป 

การ Synergy ระหว่าง GPSC และ ปตท. ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ GPSC เป็น Power Flagship ของกลุ่ม ปตท. แล้ว ยังช่วยผลักดันให้  ปตท. บรรลุเป้าหมายการขยายพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี2573 ซึ่งประโยชน์ที่ได้ ไม่ใช่แค่การผนึกกำลังต่อยอด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง โอกาสของประเทศไทย ในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าครั้งใหม่ที่เต็มประสิทธิภาพและครบวงจรมากขึ้น

Source : กรุงเทพธุรกิจ