แผนฟื้นฟู ขสมก.ไม่คืบ ปรับแผนระยะสั้น เร่งจัดหารถเมล์ไฟฟ้ากว่า 400 คันแก้รถไม่พอบริการ ใช้วิธีจ้างวิ่งตามระยะทาง ไม่ต้องลงทุนไม่มีภาระค่าใช้จ่าย คาดสรุปใน 2 เดือน “ศักดิ์สยาม” ดันเต็มที่ เผยคน ร.รับทราบแล้ว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ แผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ปัจจุบัน ขสมก.ประสบปัญหาการขาดแคลนรถโดยสารให้บริการ ดังนั้น ได้ให้ ขสมก.เร่งศึกษาแผนจัดหารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือรถโดยสารไฟฟ้า (EV) และใช้วิธีการจ้างวิ่งตามระยะทาง ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดหารถไว้ อีกทั้งไม่ถือเป็นการลงทุนเนื่องจากการจ้างวิ่งตามระยะทางนั้นเป็นการนำรายได้มาจ่ายค่าจ้างวิ่ง
ทั้งนี้ ได้มีการรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อต้นปี 2564 แล้ว ในเรื่องแผนการจัดหารถโดยสารปรับอากาศรวมถึงปัญหาจำนวนรถที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ใน 90 เส้นทางประมาณ 400 กว่าคัน ซึ่งหาก ขสมก.ไม่มีรถวิ่งจะต้องคืนให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งเบื้องต้น ขสมก.ไ้ด้นำเสนอแผนจัดหารถ EV โดยได้ให้ไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนทั้งจำนวนและเส้นทางและรูปแบบการจ้างวิ่งตามระยะทาง
“เมื่อแผนฟื้นฟู ขสมก.ยังไม่จบ ดังนั้นเรื่องที่อยู่ทั้งในแผนฟื้นฟูที่ ครม.อนุมัติไว้เมื่อปี 2562 กับแผนที่กระทรวงคมนาคมเสนอปี 2563 ขสมก.สามารถดำเนินการได้ก่อน เช่น เกษียณก่อนอายุ การจัดหารถใหม่ ส่วนที่ยังทำไม่ได้ เช่น เรื่องอัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดสายต่อวัน เพราะเป็นข้อเสนอใหม่ ยังไม่ได้อยู่ในแผนปี 2562”
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัจจุบันรถ ขสมก.มีสภาพเก่า ชำรุดจำนวนมาก จะต้องเร่งจัดหาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการที่มีคุณภาพชีวิตมากขึ้น และพยายามเลิกใช้รถร้อน เปลี่ยนมาเป็นรถปรับอากาศ คาดว่าภายในไตรมาส 2/2565
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ปัญหา ขสมก.คือรถไม่พอบริการ จากหลายปัจจัย ทั้ง สภาพรถเก่า ชำรุด ขณะที่รถที่บริการเดินรถเชิงคุณภาพ (Performance Base Contract) หรือ PBC หมดสัญญา 10 ปี ไปแล้วจำนวน 117 คัน นอกจากนี้ รถปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน สามารถวิ่งให้บริการได้ประมาณ 300 คัน/วันเท่านั้น เนื่องจากมีปัญหาอัตราการเสียสูง ขณะที่การให้บริการในปัจจุบันภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีมาตรการเว้นระยะห่าง ไม่ให้ผู้โดยสารหนาแน่น ช่วงโควิดระบาดมากๆ ผู้โดยสาร 1-2 แสนคนต่อวัน แต่ปัจจุบันการเดินทางกลับมาเป็น 6 แสนกว่าคน/วันแล้ว ขสมก.ต้องเพิ่มความถี่ในการเดินรถ
ทั้งนี้ หากรอการจัดหารถโดยสารใหม่ทั้งหมดตามแผนฟื้นฟู ก็ต้องรอให้แผนได้รับอนุมัติทั้งหมดก่อน ซึ่งในการให้บริการประชาชนไม่สามารถรอได้ ดังนั้น ขสมก.จึงมีการทำแผนระยะสั้นในการจัดหารถโดยสารใหม่ โดยให้เวลา ขสมก.ไปดำเนินการและสรุปรายละเอียดภายใน 2 เดือนนี้ว่ามีเส้นทางไหนที่มีความต้องการ แต่จำนวนรถยังน้อย หรือในชั่วโมงเร่งด่วน สายไหนผู้โดยสารแน่น เป็นการจ้างวิ่งตามระยะทาง ซึ่งจะจัดหาได้เร็วและนำรถเข้ามาเติมเส้นทางที่ขาดแคลนและมีความต้องการจริงๆ เป็นเส้นทางที่จะมีรายรับที่มากพอจะนำมาจ่ายค่าจ้างวิ่งได้ ทำให้ ขสมก.ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ต้องกู้เงิน เพราะนำรายได้ในเส้นทางนั้นๆ มาจ่ายค่าจ้างแล้ว
โดยรูปแบบการจ้างวิ่งตามระยะทาง เอกชนจะรับผิดชอบจัดหารถสภาพใหม่ รับภาระค่าซ่อมบำรุงไปด้วย ซึ่งการซ่อมบำรุงเป็นภาระของ ขสมก.อย่างมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากสภาพรถ ขสมก.เก่า ทำให้มีภาระค่าซ่อมบำรุง ถึง 30,000 ล้านบาทก็จะตัดปัญหาหนี้ค่าซ่อมไปด้วย อย่างไรก็ตามให้ ขสมก.ตรวจสอบระเบียบข้อกฎหมายทั้งหมด และนำมาวางแผนให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ขสมก.ยังประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีจำนวน 1.27 แสนล้านบาท ปี 2563 มีหนี้เพิ่มเป็น 1.32 แสนล้านบาท ปัจจุบันหนี้เพิ่มเป็น 1.4 แสนล้านบาทแล้ว ขณะที่ ขสมก.มีเส้นทางที่ได้รับอนุญาตให้บริการจำนวน 162 เส้นทางแต่วิ่งจริง 120 กว่าเส้นทางเท่านั้น และพบว่ามีปรมาณ 90 เส้นทางที่มีจำนวนรถให้บริการต่ำกว่าที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางกำหนดจำนวนรถขั้นต่ำไว้
Source : MGROnline