“ซิตี้แบงก์” ดันดิจิทัลแบงกิ้งหนุนภาคธุรกิจ EV ไทย ผนึก “BOI” และ “EVAT” ผลักดันการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย หนุนสร้างความยั่งยืน
ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย นำเสนอแนวทางการบริการด้านดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจด้านตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยสำหรับลูกค้าองค์กร และสถาบัน บนพื้นฐานแนวคิดการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG
โดยซิตี้แบงก์ในฐานะสถาบันทางการเงินชั้นนำที่มีเครือข่ายทั่วโลก พร้อมเป็นสื่อกลางที่มาช่วยจัดการและสนับสนุนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หลังจากข้อมูลพบว่าแนวโน้มของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดที่มีศักยภาพสามารถดึงดูดนักลงทุนจากทุกมุมโลก ล่าสุดจัดงานเสวนา “Navigating Thailand EV Ecosystem with Citi”
โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) มาร่วมเผยข้อมูลเชิงลึกด้านการลงทุน และแนวโน้มของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
นางสาวราฟาเอล อิราสมุส หัวหน้าสายงานพัฒนาองค์กร และความยั่งยืน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยว่า ในปัจจุบันแนวคิดความยั่งยืนหรือ ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ
ซึ่งในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย มีการนำเอาแนวคิดนี้มาเป็นหลักในการลงทุนอย่างแพร่หลาย โดยจากข้อมูลที่ซิตี้แบงก์ได้ทำการสำรวจลูกค้านักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับ ESG เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 90% มีการนำเอา ESG มาใช้ในแผนการลงทุน และส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการทำ ESG
โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยกว่า 65% มุ่งเน้นไปที่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังสังคมแบบ Zero-Carbon ในอนาคต
ทั้งนี้ ซิตี้แบงก์ในฐานะธนาคารระดับโลกที่มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมเป็นสื่อกลางการลงทุนของลูกค้าองค์กร และสถาบัน ที่จะช่วยจัดการและสนับสนุนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด
ด้าน นางสาวสเตลล่า โช, หัวหน้าฝ่ายลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาด EV โลกถือว่าเป็นภารกิจใหม่ที่ท้าทาย
แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ที่มุ่งผลักดันกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจาก 2% ในปัจจุบันเป็น 30% ภายใน 8 ปีข้างหน้า
อีกทั้งตลาดยานยนต์ไทยที่มีความแข็งแรงโดยพื้นฐาน โดยมีมากกว่า 1,000 บริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศน์ทางธุรกิจของยานยนต์ EV ซึ่งซิตี้แบงก์มองว่าเป็นสัญญาณการเติบโตที่ดีของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และพร้อมสนับสนุนลูกค้าที่มีความสนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้
บนพื้นฐานการลงทุนอย่างยั่งยืน ด้วยสภาวะในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญวิกฤติหลายอย่าง ทั้งจากโลกระบาดและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ซิตี้มุ่งมั่นที่จะก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปพร้อมกับลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นที่จะทำให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ
ในขณะเดียวกันก็ยังคงมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนทั้งในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเช่นกัน โดยปัจจุบันซิตี้มุ่งเป้าระดมทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน
นายประกาศิต เพิ่มนาค ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริการบริหารเงินสดเพื่อธุรกิจ บริการการค้าระหว่างประเทศและสินเชื่อการค้า ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า การมาถึงของโลกดิจิทัล (Digitalization) ส่งผลต่อห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจยานยนต์รวมถึงยานยนต์EV ในแง่มุมของสินค้าและบริการ ทั้งรูปแบบ B2B และ B2C
ซึ่งซิตี้แบงก์ได้มีการจัดสรรบริการทางการลงทุนเพื่อสนับสนุนลูกค้าองค์และสถาบันที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยการนำเสนอการบริการที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร (end-to-end service)
แบ่งออกเป็น 2 บริการหลัก ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการการเงิน (Cash Management) และการบริการด้านการค้า (Trade Service) ในรูปแบบการบริการดิจิทัลแบงกิ้ง มุ่งเน้นเชื่อมโยงกับช่องทางการลงทุนแบบ Omnichannel เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล
และในขณะเดียวกันยังคงสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนด้านซัพพลายเชนที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่งทางการเงินที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า สำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต
โดยข้อมูลการเติบโตของตลาด EV ในไทยระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2564 พบว่าอัตราการจดทะเบียนยานพาหนะไฟฟ้าชนิด BEV หรือยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่เติบโตขึ้นกว่า 35 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
ซึ่งประเภทของยานพาหนะไฟฟ้าที่มีการจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ทั้งในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV, PHEV และ HEV ล่าสุด ภาครัฐได้กำหนดนโยบาย 30/30 ตั้งเป้าการผลิต ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และแหล่งลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะ ตั้งเป้าไว้ที่ 725,000 คัน
ประกอบกับเพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือนมีความต้องการใช้รถ EV และให้ภาคธุรกิจหันมาลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทางภาครัฐจึงได้มีการร่วมมือกับภาคเอกชน
รวมถึง BOI เพื่อออกนโยบายสำหรับสนับสนุนธุรกิจ EV ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการลดหย่อนภาษี การส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนการผลักดันการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ
เพื่อให้เกิดการผลิตและการลงทุน EV ในประเทศไทยอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่าการผลักดันยานยนต์ ICE (รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน) แต่ด้วยพื้นฐานตลาดยานยนต์ที่แข็งแรงในประเทศไทย จึงเชื่อว่าการผลิตและส่งออกรถ EV จะไปถึงเป้าหมายตามที่ทางภาครัฐวางไว้ได้ไม่ยาก
จากผลการสำรวจล่าสุด พบว่าคนไทยกว่า 40% จะเลือกซื้อรถ EV ในการซื้อรถครั้งต่อไป บวกกับการที่ตลาดยานยนต์ครองพื้นที่ถึง 56.6% ของตลาดในไทย
ทั้งยังมีโครงสร้างซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง โดยชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศมากกว่า80% จึงเชื่อมั่นว่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยจะมีอัตราการแข่งขันที่สูสีกับตลาดต่างประเทศได้อย่างแน่นอน นายชนินทร์ กล่าวสรุป
ด้าน นายสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย(EVAT) ได้กล่าวเพิ่มเติม ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของตลาด EV โลก พบว่าเทรนด์ทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโต
ในขณะที่การใช้ยานยนต์ ICE แบบดั้งเดิมกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยคาดว่าอัตราการใช้รถ ICE จะลดลงมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งประเภทยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ยานยนต์ขนาดเล็ก ในปี 2563 อัตรายานยนต์ประเภท 2 ล้อ และ 3 ล้อทั่วโลกอยู่ที่ 260 ล้านคันโดยประมาณ คิดเป็นกว่า 44% ของรถ EV ทั้งหมด
และคาดว่าในปี พ.ศ. 2593 รถ EV ชนิด 2 และ 3 ล้อ จะครองส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าถึง 98% สำหรับข้อมูลในประเทศไทย พบว่ามีการตั้งเป้าจำนวนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเภทมอเตอร์ไซค์ไว้ที่ 650,000 คันต่อปี และ 675,000 ต่อปี
สำหรับการผลิต ซึ่งครองอัตราส่วนการใช้งานและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดไทยสูงที่สุด โดยคาดว่าจะบรรลุเป้าภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี ปัจจุบัน ประเทศผู้นำตลาด EV โลกได้แก่ จีน และยุโรป
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่วางแผนจะผลักดันธุรกิจ EV ภายในปีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแนวโน้มตลาด EV ในไทยมีทิศทางที่ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดโลก
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th
Source: กรุงเทพธุรกิจ