กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

22 มิถุนายน 2565

ไบเดน ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย 2 ปี พร้อมประกาศใช้กฎหมายผลิตเพื่อป้องกัน และใช้งบรัฐบาลกลางเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เดินหน้านโยบายพลังงานสะอาด ลั่นไม่กระทบกระบวนการสอบสวนจีนใช้ 4 ประเทศเลี่ยงภาษีนำเข้า

US President Joe Biden speaks at the National Renewable Energy Laboratory in Arvada, Colorado, on September 14, 2021, on the infrastructure deal and the Build Back Better agenda. (Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP)

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ใช้อำนาจตามกฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกันและกระตุ้นการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ และพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ หรือ กฎหมาย Defense Production Act (DPA)

เพื่ออนุญาตให้กระทรวงพลังงานสหรัฐ สามารถเร่งรัดการผลิตชิ้นส่วนแผงโซลาร์ในประเทศ ให้สามารถขยายกำลังการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น ฉนวนในอาคาร ปั๊มความร้อนประหยัดพลังงาน หม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับสายส่งไฟฟ้าและอุปกรณ์ เช่น อิเล็กโทรไลเซอร์ และเซลล์เชื้อเพลิง

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังใช้อำนาจทางการคลังของรัฐบาลระดับมลรัฐ สำหรับโครงการพลังงานสะอาด ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางเพื่อเพิ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศ

รวมถึงการประกาศระงับการเก็บภาษีศุลกากรป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี สำหรับสินค้ากลุ่มแผงโซลาร์เซลล์ จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นเวลา 2 ปีด้วย

ไบเดน ยกเว้นภาษีแผงโซลาร์ 4 ชาติ สวนทางกระบวนการกระทรวงพาณิชย์

คำประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐ ล่าสุดนี้ ทำให้เกิดความคลางแคลงใจกับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ ก่อนหน้านี้

หลังจากมีการล็อบบี้อย่างหนักของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และสมาคมการค้าสหรัฐ ภายในสหรัฐ ที่ระบุว่า ภาษีดังกล่าว เป็นภัยคุกคามอุตสาหกรรม หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศเริ่มกระบวนการไต่สวนผู้นำเข้าแผงโซลาร์และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง จาก 4 ประเทศดังกล่าว

และอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าเหล่านี้ต้องเสียภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หากการไต่สวนเสร็จสิ้น โดยด้านหนึ่ง มีการวิเคราะห์ว่า หากกระบวนการไต่สวนของกระทรวงพาณิชย์จบและส่งผลให้เก็บภาษีเพิ่มได้ จะทำให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือนหลายร้อยโครงการในสหรัฐ ต้องหยุดชะงักลง หรือ อาจล่าช้าออกไป

ส่งผลต่อการจ้างงานแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อีกจำนวนมาก เนื่องจาก กระบวนการไต่สวนและตรวจสอบภาษี สำหรับผู้นำเข้าแผงโซลาร์และอุปกรณ์โซลาร์ จาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งครองส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 80% ของตลาดสหรัฐ นั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากมีผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ภายในสหรัฐร้องเรียนว่า ผู้นำเข้าเหล่านี้ใช้ส่วนประกอบจากจีนมาผลิตเพื่อการส่งออกมายังสหรัฐ และเป็นการช่วยผู้ผลิตจีนหลบเลี่ยงการทุ่มตลาด

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ การไต่สวนยังไม่ได้ข้อสรุป และยังอยู่ในกระบวนการตามที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเคยให้ข้อมูลไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า จะใช้เวลา 150 วัน หรือ ราว ๆ ต้นเดือนสิงหาคม จะได้ข้อสรุป

กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าสอบสวนจีนใช้ 4 ชาติเลี่ยงภาษีนำเข้าแผงโซลาร์

เจ้าหน้าที่ระดับสูงระบุว่า ซีเอ็นเอ็นว่า ทำเนียบขาวไม่ได้ขัดขวางกระบวนการไต่สวนของกระทรวงพาณิชย์ แม้จะยกเว้นการเก็บภาษีให้กับผู้นำเข้าจาก 4 ประเทศดังกล่าว เป็นเวลา 2 ปี ก็ตาม

“นี่เป็นกระบวนการที่ตอกย้ำถึงความซื่อตรงในกระบวนการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์ และกระบวนการยังดำเนินต่อไปตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ และยังมีความคืบหน้าตามระบบระเบียบการทำงานด้านการกำกับและตรวจสอบภายในของกระทรวง” เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าวกับซีเอ็นเอ็น

พร้อมกับระบุว่า คำสั่งของฝ่ายบริหารประธานาธิบดีไบเดน ได้อ้างอิงถึงปัญหาการแปลงเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะในแคลิฟอร์เนีย เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนตัดสินใจประกาศ 3 เรื่องดังกล่าว

“สิ่งที่เราเห็นคือการบรรจบกันของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ความแห้งแล้งทางตะวันตก การลดการผลิตแหล่งพลังงานน้ำ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ชดเชยการผลิตไฟฟ้าที่สูญเสียไป” เจ้าหน้าที่ระดับสูง กล่าว

ขณะที่ ลิซ่า แวง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า กระบวนการไต่สวนสอบสวนยังดำเนินต่อไป ไม่มีการหยุดชะงัก แม้ว่าข้อสรุปการสอบสวนอาจใช้เพียงช่วงฉุกเฉินเวลาสั้นๆ ตามคำประกาศของประธานาธิบดีไบเดน ที่ว่า ไม่มีแผงโซลาร์หรือโมดูลที่นำเข้าจากกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการต่อต้านการทุ่มตลาดหรือภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ในระยะฉุกเฉินก็ตาม

ธุรกิจเกี่ยวข้องอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เสียงแตก

แต่การตัดสินใจของไบเดนครั้งนี้ ก็ได้รับเสียงปรบมือจากบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ บางแห่ง และก็ได้รับการคัดค้านจากบางแห่งด้วย

จอร์จ เฮิร์ชแมน ซีอีโอของ SOLV Energy บริษัทติดตั้งแผงโซลาร์ระดับสาธารณูปโภค กล่าวว่า ความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดของประธานาธิบดีไบเดนช่วยให้บริษัทต่าง ๆ เช่นธุรกิจของเธอเดินหน้าต่อไปในโครงการที่หยุดชะงัก และนำคนงานพลังงานแสงอาทิตย์กลับมายังไซต์งานได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เฮิร์ชแมน ย้ำว่า เธอยังกังวลว่ากระบวนการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ ยังดำเนินต่อไป และเธอต้องการให้ยุติคดีนี้

ขณะที่ ซาแมนธา สโลน รองประธานฝ่ายนโยบายของ First Solar กล่าวว่า ถ้อยแถลงในวันนี้บ่อนทำลายการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของอเมริกาโดยตรง โดยเปิดให้การเข้าถึงบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีนอย่างอิสระในช่วงสองปีข้างหน้า

ส่วนผู้ร่างกฎหมายจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันบางคนจากรัฐที่มีการผลิตแผงโซลาร์มีแนวโน้มคัดค้านการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แจ็คกี้ โรเซน สมาชิกวุฒิสภาแห่งเนวาดา สอบถามจีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวน พร้อมกับเรียกร้องว่า การกระทำของกระทรวงพาณิชย์กำลังทำให้คนในรัฐที่เธอดูแลสูญเสียงาน เพราะข้อสรุปจากการสอบสวนจะทำให้มีผลต่อการเก็บภาษีย้อนหลังอัตราสูงมาก (ประมาณ 240%)

ดังนั้น โรเซนจึงยืนยันว่า การประกาศของไบเดนล่าสุดนี้เป็น “ขั้นตอนเชิงบวกที่จะช่วยส่งเสริมงานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของอเมริกา” และการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมสำหรับแผงโซลาร์ จะส่งผลเสียต่อโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับคนงานหลายแสนคน รวมถึงเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดเพื่อต่อสู้กับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหรัฐ ด้วย

Source : ประชาชาติธุรกิจ