กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

25 มิถุนายน 2564

ทวนทอง จุฑาเกตุ สาขาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี tuantong.j@ubu.ac.th และอมรรัตน์ รังสิวิวัฒน์ สาขาประมง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร Amornrat.ra@rmuti.ac.th

นอกจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติแล้ว ปัญหาโลกร้อน (global warming) ก็ถูกกล่าวถึงว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อมนุษยชาติมากที่สุดนับแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 อันเกิดจากการที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ และปัญหาโลกรวน (climate changes) อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่จากปัญหาโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป 

แต่ด้วยความที่เป็นปัญหาซึ่งเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เลยทำให้สังคมตระหนักเพียงเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ที่วิถีดำรงชีพและการทำมาหากินของพวกเขาต้องพึ่งพาและสัมพันธ์โดยตรงกับสภาพภูมิอากาศ

ผู้เขียนจะวิเคราะห์ปัญหาที่มีต่อชาวประมงน้ำจืดและเกษตกรที่เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด เพราะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศไทยจัดอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสียงสูงต่อผลกระทบดังกล่าว (Barbarossa et al., 2021)

ทำไมโลกร้อนและโลกรวนจึงมีผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอื่น?

ภาพที่ 1 กระบวนการต่างๆ ในปลาน้ำจืดที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดโลกร้อนและโลกรวน

ปลาน้ำจืดในทุกสายพันธุ์และสัตว์น้ำจืดที่ไม่มีกระดูกสันหลังทั่วโลก จัดว่าเป็นกลุ่มของสัตว์เลือดเย็น มีอุณหภูมิของร่างกายไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย อุณหภูมิของแหล่งน้ำจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอด นอกเหนือไปจากความอุดมสมบูรณ์ของปลาและสัตว์น้ำอื่นทั้งในธรรมชาติรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้เพราะอุณหภูมิจะเป็นตัวควบคุมกระบวนการทางสรีรวิทยา เช่น การทำงานของฮอร์โมนและเซลล์ต่างๆ รวมทั้งการเติบโต และพฤติกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิต เช่น การกินอาหาร การสืบพันธุ์วางไข่ และการอพยพ โดยที่ปลาและสัตว์น้ำแต่ละชนิดจะมีวิวัฒนาการปรับตัวกับช่วงอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมแตกต่างกันไป หากอุณหภูมิแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงเกินขอบเขต จะทำให้มันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำนั้นได้อีกต่อไป หรืออาศัยอยู่โดยสรีระไม่พัฒนา หรือไม่แสดงพฤติกรรมต่างๆ อย่างสมบูรณ์ (ภาพที่ 1) 

การที่อุณหภูมิของน้ำมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจะมีผลต่อคุณภาพน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ความหนืดของน้ำลดลง ส่งผลต่อค่าคุณภาพน้ำด้านอื่นๆ ซึ่งในที่สุดจะกระทบทั้งทางตรงและอ้อมต่อการดำรงชีวิตของปลาและสัตว์น้ำอื่น 

นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลต่อเนื่องถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในธรรมชาติ อันได้แก่ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ และเกิดมลพิษต่างๆ ในแหล่งน้ำ

ผลต่อเนื่องของโลกร้อนก็คือการเกิดภาวะโลกรวน (ภาพที่ 2) เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละฤดูกาลสูงขึ้น เกิดฝนทิ้งช่วงและน้ำแล้ง ฝนตกหนักเป็นระยะเวลาสั้นๆ และน้ำท่วม เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้มีผลโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ อาทิ อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละฤดูกาลสูงขึ้น น้ำระเหยสูงขึ้นผิดปรกติ ทำให้พื้นที่ริมฝั่ง เช่น ทะเลสาบ หนอง บึงต่างๆ มีขนาดลดลง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สำคัญต่อการสืบพันธุ์วางไข่ของปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด ความร้อนและแปรปรวนยังกระทบต่อการพัฒนาของไข่และตัวอ่อน การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาและระยะเวลาของฤดูกาลต่างๆ โดยเฉพาะฤดูฝนจะมีผลต่ออุทกวิทยาของแหล่งน้ำและต่อเนื่องถึงการดำรงชีวิตของปลาและสัตว์น้ำอื่น ทั้งด้านการอพยพย้ายถิ่น การสืบพันธุ์วางไข่ การกินอาหาร และการเติบโต

ภาพที่ 2 การเกิดโลกรวนในรูปแบบต่างๆ (ก) เกิดความแปรปรวนของลักษณะอากาศแต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ข) สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงโดยค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพิ่มขึ้น แต่ความถึ่และช่วงสูงสุด/ต่ำสุดไม่เปลี่ยนแปลง (ค) สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงโดยความถึ่เพิ่มขึ้น แต่ช่วงสูงสุด/ต่ำสุดไม่เปลี่ยนแปลง และ (ง) สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงโดยช่วงสูงสุด/ต่ำสุดเพิ้มขึ้น ต่าค่าเฉลี่ยและความถี่ไม่เปลี่ยนแปลง

ผลกระทบต่อการประมงน้ำจืด

ถึงแม้ว่าปริมาณการจับปลาจะลดลงได้หลายสาเหตุ เช่น การจับที่เกินกำลังการผลิต การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งน้ำ การพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่แหล่งน้ำ การสร้างเขื่อน การเกิดมลภาวะ หรือการใช้น้ำในแหล่งน้ำจากภาคส่วนอื่นๆ แต่คงปฎิเสธไม่ได้ว่าการเกิดโลกร้อนและโลกรวนเป็นสาเหตุสำคัญด้วย ทำให้เกิดผลกระทบ 3 ประเด็นใหญ่ๆ (Ficke et al., 2007) มีดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบผลจับ: ปลาและสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีวิวัฒนาการจนมีช่วงของอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการอยู่อาศัย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงช่วงอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมอันเกิดจากโลกร้อนและโลกรวนจะทำให้กลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้หนีหายไป เมื่อประชาคมสิ่งมีชีวิตในบริเวณแหล่งประมงนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์ประกอบผลจับเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพราะการที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งชนิดหายไป จะทำให้ระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวเสียสมดุลและมีผลกระทบต่องการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบ ไม่เฉพาะตัวที่เป็นเป้าหมายในการประมง

2. น้ำหนักและปริมาณของผลจับที่ลดลง: ชีพลักษณ์ (phenology) ของปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำอื่นๆ จะเปลี่ยนแปลงจากการเกิดโลกร้อนและรวน เช่น การเติบโตช้าลง จากผลของอุณหภูมิโดยตรงและผลต่อเนื่องในความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติ เป็นเหตุให้ผลจับที่ได้แต่ละตัวมีขนาดและน้ำหนักที่ลดลง รวมทั้งการอพยพย้ายถิ่นที่ผิดฤดูกาลและช่วงเวลา ความไม่สมบูรณ์ของระบบการสืบพันธุ์ และแหล่งอนุบาลตัวอ่อนที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลทำให้การทดแทนของปลาและสัตว์น้ำเป้าหมายทางการประมงลดลง ปริมาณของสัตว์น้ำในกลุ่มประชากรค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย 

นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มขึ้นและความผันแปรที่มากขึ้นจะทำให้แหล่งน้ำเกิดมลพิษเพิ่มขึ้น ปลาและสัตว์น้ำเกิดความอ่อนแอ ความสามารถต้านทานมลพิษ โรค และปรสิตต่างๆ ลดลง เกิดการตายในธรรมชาติก่อนที่จะถูกจับมาใช้ประโยชน์

3. การเปลี่ยนแปลงไปของแหล่งประมง: แหล่งประมงซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวเต็มวัยก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะสาเหตุที่โลกร้อนและโลกรวนได้ ในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง อาจจะเกิดการแบ่งชั้นความลึกน้ำตามอุณหภูมิ ขนาดพื้นที่ที่เล็กลงโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมฝั่ง การเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน เนื่องจากปริมาณน้ำและพื้นที่แหล่งน้ำลดลง ส่งผลให้ความเข้มข้นของธาตุอาหารมากขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังไปกระตุ้นการเติบโตของจุลชีพและเร่งกระบวนการหมุนเวียนของสารอาหาร ในส่วนของแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำ ลำธาร วงจรการไหลและมวลของน้ำมีความผันแปรและไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลโดยตรงต่อปลาและสัตว์น้ำอื่น และทำให้ระบบพื้นที่ย่อยต่างๆ เช่น แก่ง วังน้ำลึก ริมตลิ่ง เปลี่ยนแปลงและสูญเสียหน้าที่ในการเป็นแหล่งอาศัย รวมทั้งปัญหาน้ำทะเลทะลักเข้ามายังแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืดในบริเวณปลายแม่น้ำ

ผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด

การเกิดโลกรวน จะทำให้เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น น้ำแล้ง พายุฝน น้ำท่วม อุณหภูมิเฉลี่ยในรอบปีที่สูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในหลายด้าน และด้วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีทุนป้องกันและปรับตัวจากผลกระทบไม่เพียงพอ จะเกิดปัญหาต่อผลผลิตและรายได้ที่ค่อนข้างสูง โดยมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ (De Silva and Soto, 2009; Lebel et al., 2020) ดังนี้

ภาพที่ 3 การพังของกระชังเพาะเลี้ยงปลาในแม่น้ำมูนจากการเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

1. ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อระบบการเลี้ยง: ผลกระทบที่จะเกิดต่อการดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงปลา เช่น การเกิดพายุฝนและน้ำท่วมทำให้กระชังเลี้ยงปลาเสียหาย (ภาพที่ 3) หรือคันบ่อพังทลาย เป็นเหตุให้ปลาที่เลี้ยงไว้หลุดออกไป สูญเสียผลผลิต หรือในกรณีเกิดฝนทิ้งช่วงและเกิดน้ำแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม นอกจากนี้ การเกิดน้ำแล้งยังอาจทำให้คุณภาพน้ำในแหล่งธรรมชาติไม่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือการที่อุทกวิทยาของน้ำเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ไม่เกิดการพัดพาและหมุนเวียนของเสียใต้กระชัง ของเสียจะสะสม และเป็นปัญหาต่อการเลี้ยงปลาในกระชังในแหล่งน้ำธรรมชาติ

2. ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผลผลิต: กระทบต่อปลาและผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยในรอบวันสูงขึ้นและแปรปรวน เกิดคลื่นความร้อนหรือเย็นในบางช่วง มีผลโดยตรงต่อปลาที่เป็นสัตว์เลือดเย็น เป็นปัญหาสำคัญสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเพาะปลา เพราะพ่อแม่พันธุ์อาจจะไม่สมบูรณ์ หรือลูกปลาที่เพาะฟักออกมาอ่อนแอ มีการตายสูง 

สำหรับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลา เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ปลาไม่ค่อยกินอาหาร เติบโตช้าและผลผลิตลดลง เศษอาหารที่เหลือจะสะสมจะทำให้น้ำเน่าเสีย และอากาศที่ร้อนจะทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลง มีผลโดยตรงต่อปลาและคุณภาพน้ำที่เกิดความเป็นกรดด่าง และความเข้มข้นของแอมโมเนียที่ไม่เหมาะสม อากาศร้อนจะทำให้น้ำแบ่งชั้นตามอุณหภูมิ โดยบริเวณด้านล่างของบ่อหรือกระชังไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากภาวะโลกรวนในฤดูร้อน 

ส่วนในฤดูฝน โลกรวนจะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบ่อยครั้งขึ้น อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาที่เลี้ยงอยู่อย่างหนาแน่นปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการน็อกน้ำและตายได้รวมทั้งการที่ท้องฟ้ามืดครึ้มเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนจากอากาศสู่น้ำลดลง แพลงก์ตอนพืชในระบบสามารถสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ก็จะมีผลต่อการอยู่อาศัยของปลาเช่นกัน การที่คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม จะทำให้ปลาเครียดและอ่อนแอ เกิดโรคปลาหรือปรสิตต่างๆ เพิ่มขึ้น

3. ปัญหาทางอ้อม: จะเกิดจากการขาดแคลนปลาป่นอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอาหารปลา ปลาป่นมักจะผลิตมาจากปลาทะเลที่มีขนาดเล็กในธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนและโลกรวนเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีปริมาณลดลงและขาดแคลน ราคาของอาหารปลาจะสูงขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนเพาะเลี้ยงสูงขึ้นด้วย เนื่องจากมากกว่าร้อยละ 50 ของต้นทุนการเลี้ยงจะเป็นค่าอาหาร รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับการป้องกันและบรรเทาปัญหา เช่น ต้องมีเครื่องตีน้ำหรือเครื่องให้อากาศเพื่อการปรับค่าคุณภาพน้ำ

จากประเด็นปัญหาโลกร้อนและโลกรวนต่อการประมงน้ำจืดและการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่ได้แสดงให้เห็นในข้างต้น ทำให้เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าวจากทุกภาคส่วน เพราะปัญหาดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หรือการประมงทะเล รวมทั้งการที่ต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในการแก้ปัญหา

เอกสารอ้างอิง

Barbarossa, V., Bosmans, J., Wanders, N., King, H., Bierkens, M. F., Huijbregts, M. A., & Schipper, A. M. (2021). Threats of global warming to the world’s freshwater fishes. Nature communications, 12(1), 1-10.

De Silva, S.S. & Soto, D. (2009). Climate change and aquaculture: potential impacts, adaptation and mitigation. In K. Cochrane, C. De Young, D. Soto & T. Bahri (eds). Climate change implications for fisheries and aquaculture: overview of current scientific knowledge. FAO Fisheries and Aquaculture Technical Paper. No. 530. Rome, FAO. pp. 151-212.

Ficke, A. D., Myrick, C. A., & Hansen, L. J. (2007). Potential impacts of global climate change on freshwater fisheries. Reviews in Fish Biology and Fisheries, 17(4), 581-613. 

Lebel, L., Lebel, P., Soe, K.M., Phuong, N.T., Navy, H., Phousavanh, P., Jutagate, T., Akester, M. and Lebel, B., 2020. Aquaculture farmers’ perceptions of climate-related risks in the Mekong Region. Regional Environmental Change, 20(3), pp.1-14.

Source : Thai Publica