เกรท วอลล์ มอเตอร์ บุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบฟิวเซลล์ (FCEV) ใช้พลังงานไฮโดรเจน ทุ่มเงินรวมทั้งโครงการ 5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท พัฒนาทั้ง ระบบการวิจัยพัฒนา การผลิต การจัดเก็บ และการใช้งาน
ตามที่นโยบายของรัฐบาลจีน สนับสนุน รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน (FCEV) โดยกำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทต่างๆ สร้างห่วงโซ่อุปทานและรูปแบบธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตสำหรับพลังงานไฮโดรเจน และคาดว่า พลังงานไฮโดรเจนจะคิดเป็นประมาณ10% ของปริมาณพลังงานทั้งหมดของจีนภายในปี 2593
เกรท วอลล์ มอเตอร์ เริ่มการพัฒนาเทคโนโลยีหลักของ Great Wall FCEV ตั้งแต่ปี 2559 จนกลายเป็นบริษัทรถยนต์ในประเทศจีนแห่งแรกที่เข้าร่วมสภาพลังงานไฮโดรเจนระหว่างประเทศ (Hydrogen Council) ในปี 2560 และเดือนมิถุนายนปีถัดมา ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศ
ได้สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการ จากนั้นเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ เข้าครองหุ้นทั้งหมดของ Shanghai Fuel Cell Vehicle Powertrain Co. , Ltd ก่อนก่อตั้งบริษัท FTXT Energy Technology Co., Ltd. ขึ้น
ชุดเซลส์เชื้อเพลิง (Fuel cell stack) – ถังบรรจุไฮโดรเจนไทป์ IV
ในปี 2562 ได้จัดแสดงระบบเซลล์เชื้อเพลิง 85kW แท็งค์เก็บไฮโดรเจนชนิด IV และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในงาน Shanghai Auto Show ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วจนสามารถจัดแสดงรถยนต์ต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงคันแรกได้ในปี 2563
Great Wall Motor เทคโนโลยีแบตเตอรี่เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เทคโนโลยีการจัดเก็บไฮโดรเจนในรถยนต์และเทคโนโลยีความปลอดภัยของพลังงานไฮโดรเจน มารวมเข้าไว้ด้วยกันทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการวิจัย-การผลิต-การจัดเก็บ-การขนส่ง–การติดตั้ง-การใช้งาน
ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ลงทุนไปแล้วกว่า 2 พันล้านหยวน (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) ในการวิจัยและพัฒนา และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะยังคงลงทุนมากกว่า 3 พันล้านหยวน (1.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อพัฒนากำลังการผลิต 10,000 ชุด
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังได้รวบรวมทีมงานวิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย แคนาดาและประเทศอื่น ๆ กว่า 430 คน โดยทีมนักวิจัยเหล่านี้จะหมุนเวียนทำงานในศูนย์วิจัยและพัฒนาทั้ง 5 แห่ง ใน 4 ประเทศ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ และเป่าติ้ง ในจีน และในประเทศ แคนาดา ญี่ปุ่น และเยอรมนี
ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นเจ้าของสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา 6 เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน ดังนี้
1.ชุดเซลส์เชื้อเพลิง (Fuel cell stack) และส่วนประกอบ
2.เทคโนโลยีการกำเนิดพลังงานไฟฟ้าของเซลล์เชื้อเพลิงและส่วนประกอบ (ตัวควบคุม ฯลฯ )
3.แท็งค์บรรจุไฮโดรเจนชนิด IV
4.วาล์วกักเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูง
5.เทคโนโลยีความปลอดภัยของการใช้ไฮโดรเจน
6.เทคโนโลยีไฮโดรเจนเหลว
Great Wall Motor ตั้งเป้าผลิตรถยนต์โดยสารเซลล์เชื้อเพลิงเป็นอันดับ 4 ของโลก และผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่น้ำหนัก 49 ตัน ที่จะใช้พลังงานไฮโดรเจน 100 คันแรกของโลกภายในปีนี้ และเตรียมเปิดตัวรถยนต์โดยสารระดับไฮเอนด์ ที่ใช้พลังงานเซลส์เชื้อเพลิงครั้งแรกในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2565 รวมถึงเปิดรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ พร้อมขยายไปในธุรกิจขนส่งทางเรือ และทางรถไฟ
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตั้งเป้าหมาย เป็นเป็นบริษัท ท็อป 3 ในตลาดพลังงานไฮโดรเจนของโลกภายในปี 2568
Source : ฐานเศรษฐกิจ