กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

24 กุมภาพันธ์ 2564

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นพลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้แล้วไม่มีวันหมดไป มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก อีกหนึ่งทางเลือกด้านการใช้พลังงานเพราะเป็นพลังงานสะอาด ที่นับว่ามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า

“พลังงาน” เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ นับวันความต้องการใช้พลังงานของโลก จะเติบโตมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่มีอัตราการเกิดใหม่ในทุก ๆ วัน

ขณะที่ทรัพยากรหรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตพลังงานรูปแบบดั้งเดิมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) มีอยู่อย่างจำกัด เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ล้วนใช้แล้วจะหมดไปในอนาคตข้างหน้า และยังเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมจากก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาระหว่างเผาไหม้ ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศของโลก

ด้วยข้อจำกัดและข้อเสียของ พลังงานฟอสซิล (Fossil Fuel) หลายประเทศทั่วโลก จึงคิดค้นและหันมาให้ความสนใจ “พลังงานหมุนเวียน” ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้านการใช้พลังงาน เพราะเป็นพลังงานสะอาด

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า RE คือ พลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้แล้วไม่มีวันหมดไป มีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ลม แสงแดด และน้ำ สามารถนำมาพัฒนาเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม

ขณะที่การใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ก่อให้เกิดขยะมูลฝอย ทั้งจากภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม สามารถนำมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานจากขยะและชีวมวล ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า

พลังงานหมุนเวียน

พลังงานหมุนเวียน ที่ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก มี 5 ประเภท ดังนี้

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

พลังงานจากดวงอาทิตย์ หรือ แสงแดด สามารถนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ผ่านสิ่งประดิษฐ์ หรือ เทคโนโลยี ที่เรียกว่า “เซลล์สุริยะ” (Solar Cell) สามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม

พลังงานลม (Wind Energy)

กระแสลม สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพราะเป็นพลังงานธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างเรือใบ และการประดิษฐ์กังหันลมเพื่อทดน้ำ หรือบดธัญพืชตั้งแต่อดีต ต่อมาได้มีการนำกระแสลมมาผลิตไฟฟ้าผ่านกังหันลมขนาดใหญ่ มักติดตั้งบริเวณภูเขา และแนวชายฝั่งทะเลที่มีกระแสลมแรง

พลังงานชีวภาพ (Bio-Energy)

เศษไม้ แกลบ กากอ้อย หรือวัสดุเหลือใช้จากการทำเกษตรกรรม สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นแหล่งพลังงานความร้อน เรียกว่า พลังงานชีวมวล (Biomass) และหากเป็นพลังงานที่ได้จากการหมักพืชพลังงาน ของเสียจากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม และมูลสัตว์ ซึ่งจะได้ก๊าซที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เรียกว่า พลังงานก๊าซชีวภาพ (Biogas)

พลังงานน้ำ (Hydroelectric Energy)

เป็นการนำกระแสน้ำจากแม่น้ำในแหล่งธรรมชาติ ให้ไหลผ่านการควบคุมของเขื่อนขนาดใหญ่ หรืออ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)

พลังงานความร้อนที่ถูกกักเก็บอยู่ใต้พื้นโลก หรือเรียกว่า พลังงานความร้อนใต้พิภพสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานความร้อนสำหรับอาคารบ้านเรือน ท้องถนน และพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงนำมาใช้ผลิตเป็นไอน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า

พลังงานหมุนเวียน

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 กำหนดแนวทางการปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการให้สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580โดยในด้านพลังงาน ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของ กระทรวงพลังงานหลายด้าน ซึ่งครอบคลุมเรื่อง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ให้มีความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำกับดูแลกลไกตลาดพลังงาน ให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ในด้านการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ให้ลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือไม่เกิน 50% และให้ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 30% ในปี 2580

ต่อมาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เห็นชอบ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (Alternative Energy Development Plan 2018: AEDP 2018) โดยมีเป้าหมายรวมในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ) ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ 30% ใน พ.ศ. 2580 เมื่อเปรียบเทียบกับแผน AEDP 2015 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พลังงานหมุนเวียน

AEDP 2018 ปรับกรอบระยะเวลาให้สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งกำหนดเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 10 ประเภทเชื้อเพลิง กำลังการผลิต ติดตั้งรวม 29,411 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศใน ปี 2580 เป็น 34.23% ซึ่งมากกว่าแผน AEDP 2015 ที่ตั้งไว้ที่ 20.11% ในปี พ.ศ. 2579

เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกตามแผน AEDP 2015 ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าผูกพันแล้ว 10,715 เมกะวัตต์ จะทำให้กำลังการผลิตรวมเป็น 29,411 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นแผนในปี 2580

การกำกับดูแลระบบพลังงานให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำกับการจัดหาไฟฟ้าให้เป็นไปตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ (PDP 2018 Rev.1) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามนโยบายของรัฐอย่างต่อเนื่อง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้กำกับการจัดหาไฟฟ้า จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามกรอบนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐ โดยส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท ในการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผ่านมาตรการจูงใจด้านราคารับซื้อไฟฟ้า

ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 8,222 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 9,811 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าแล้ว 7,585 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 9,043 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการสำคัญ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Tariff: FiT ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล และประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) จำนวน 1,150 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 1,859 เมกะวัตต์

การนำพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทมาใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหลายปัจจัย ทั้งด้านเทคนิค หรือเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม แต่จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียนตาม AEDP 2018 ชี้ให้เห็นว่ามีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

Source : The Bangkok Insight