นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้ (19 มี.ค.63) เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ 4 ฉบับ ทั้งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) , แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ,แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP 2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) พร้อมทั้งผ่านหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่วางเป้าหมายให้ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในช่วงปี 63-67 รวม 1,933 เมกะวัตต์ (MW)
สำหรับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมปี 2580 คงเดิมที่ 77,211 เมกะวัตต์ และยังคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดแผนที่ 56,431 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงแผนเดิม คือ ก๊าซธรรมชาติ 53% พลังงานหมุนเวียน 21%(เดิม 20%) ถ่านหินและลิกไนต์ 11% (เดิม 12%) พลังน้ำต่างประเทศ 9% และจากการอนุรักษ์พลังงาน 6%
ทั้งนี้ จะปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และแผนการปลดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลบางโรงให้มีความเหมาะสม เช่น ลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ขณะที่เพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 69 เมกะวัตต์ การเพิ่มนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ การปรับแผนโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบออกไปเป็นปี 2565-2566 เพื่อเข้าระบบปีละ 60 เมกะวัตต์ รวมถึงเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565
แผน AEDP 2018 ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากไบโอมีเทน (Bio-methane Gas) แต่ยังคงเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่มีการปรับเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาในระบบ ในปี 2563-2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ จากเชื้อเพลิงชีวมวล, ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย, ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน และ Solar Hybrid โดยคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580 และยังคงเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์
แผน EEP 2018 โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ ภาคบังคับ ภาคส่งเสริมและภาคสนับสนุน โดยการดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย 5 สาขาเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม, ธุรกิจการค้า , บ้านอยู่อาศัย , เกษตรกรรม และขนส่ง ยังคงรักษาระดับเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลง 30% ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 สามารถลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมมาตรการด้านวัตกรรมเพื่อต่อยอดและรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และรูปแบบการใช้พลังงาน
รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรมเพื่อให้สอดคล้องนโยบาย Energy For All ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ฐานรากอย่างยั่งยืน คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานของประเทศตลอดแผนรวม 54,371 ktoe ประหยัดเงินตรา 815,571 ล้านบาท ช่วยลดการจัดหาโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 170 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2)
ส่วน Gas Plan 2018 พบว่าความต้องการใช้ก๊าซฯในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยแนวโน้มจะใช้เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้ในโรงแยกก๊าซฯและภาคขนส่งลดลง ทั้งนี้ สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปจาก Gas Plan เดิมโดยก๊าซธรรมชาติในประเทศสามารถผลิตได้ต่อเนื่องหลังจากการประมูลแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมตามร่างแผนใหม่ในช่วงปลายแผนอยู่ที่ระดับ 26 ล้านตัน/ปี น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 34 ล้านตัน/ปี ในปี 2580 โดยเป็นโครงข่ายท่อบนบก 22 ล้านตัน/ปี และความต้องการภาคใต้ 4 ล้านตัน/ปี
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้อง Gas Plan 2018 และศึกษาทบทวนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาเสนอ กพช. ต่อไป
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกพช.เห็นชอบการปรับปรุงหลักการและรายละเอียด โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้ 1) โรงไฟฟ้าชุมชนให้เน้นผลิตไฟฟ้าตามศักยภาพของเชื้อเพลิงที่มีในพื้นที่ มีขนาดเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้า และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม และกระทบค่าไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าในระดับที่รับได้เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เศรษฐกิจฐานรากได้รับ
2) โรงไฟฟ้าชุมชน ให้มีส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้กับ “กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน” ซึ่งจะมีการจัดตั้งและกำหนดระเบียบการใช้จ่ายเงินขึ้นมาใหม่ โดยให้นำเสนอให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และ 3) โครงการ Quick win ซึ่งเป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ขอบคุณข่าวจาก : ข่าวหุ้น