กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

5 มิถุนายน 2561

ผู้จัดการรายวัน360องศา

วันเดียวกันนี้ ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการสร้างสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมาไว้ในบิลค่าไฟฟ้า

นายวัชระกล่าวว่า นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ. และนายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ กกพ. ได้จัดประมูลโรงไฟฟ้าขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ที่จำเป็นต้องสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมจากโรงงาน ไฟฟ้าเอกชนใหม่ ในวงเงินประมาณ หมื่นล้านบาท โดยให้การไฟฟ้า ฝ่ายผลิต เป็นผู้ดำเนินการ และระบุว่าการสร้างระบบสายส่ง จะไม่เป็นภาระต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพราะจะคำนวณการลงทุนค่าไฟฟ้า โดยเสนอให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เซ็นรับรองผลการเจรจากับเอกชนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชน

ดังนั้น จึงขอให้ กฟผ. ยกเลิกเรื่องดังกล่าว และขอให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เคยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ออกมาชี้แจงผลการตรวจสอบ และขอให้นายกฯ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่ากรณีนี้มีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วยหรือไม่.

วิเคราะห์ – โทนข่าวกลาง เพราะเป็นการระบุถึงกกพ.ชุดเดิม และเรื่องดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่กกพ.มีข้อมูลชี้แจงได้ทุกขั้นตอน

 

ไทยรัฐ

          จี้นายกฯสอบโยนภาระค่าไฟ ปชช.
ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีจะเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการสร้างสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนใส่ในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน นายวัชระกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็น รมว.พลังงาน ถือเป็นการผลักภาระให้ประชาชน จึงขอให้ กฟผ.ยกเลิกเรื่องนี้ และขอให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะอดีต รมว.พลังงาน ที่เคยตรวจสอบกรณีนี้ชี้แจงผลการตรวจสอบ และขอให้นายกฯส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไปว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วิเคราะห์ – โทนข่าวกลาง เพราะเป็นการระบุถึงกกพ.ชุดเดิม และเรื่องดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่กกพ.มีข้อมูลชี้แจงได้ทุกขั้นตอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรุงเทพธุรกิจ

          “ศิริ”เตรียมรื้อแผนลงทุน สายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเสริมฐานความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมปรับสำรองไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาค แทนยึดสำรอง 15% ทั้งประเทศ หวั่นซ้ำรอยฟ้าผ่าสายส่ง

จากกรณีฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 เควี จ.น่าน-โรงไฟฟ้าหงสา ในลาว เมื่อวันที่ มิ.ย.ที่ผ่านมา จนเกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ช่วงเวลา 13.06 น. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ใช้เวลาแก้ปัญหาไม่ถึง ชั่วโมง ก็สามารถจ่ายไฟฟ้ากลับคืนได้ทั้งหมด ในเวลา 13.55 น.ในวันเดียวกันนั้น

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเหนือการควบคุม และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงต้องขอประทานโทษในความไม่สะดวกที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า การมีสำรองไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงไฟฟ้าทั้งระบบ และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากก็ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้มากเช่นกัน ดังนั้น  ได้สั่งการให้ กฟผ.นำบทเรียนดังกล่าวมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต

การที่ประเทศมีปริมาณสำรองไฟฟ้าในทุกพื้นที่เท่ากันที่ 15% ในขณะที่ บางพื้นที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมจำนวนมากไม่น่าที่จะเหมาะสม ดังนั้น ควรจะต้องทบทวนตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าเป็นรายภาค ดูความมั่นคงทั้งระบบ ซึ่งจะมีความชัดเจนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่ที่จะแล้วเสร็จภายใน เดือนนี้”
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะทบทวนแผนการลงทุนระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การรองรับ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายๆแห่ง แต่จะต้องออกแบบสายส่งตามหลักภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อเสริมความเข้มแข็งและ เชื่อมโยงไฟฟ้ากับสมาชิกกลุ่มประเทศอนุลุ่มแม่น้ำโขงที่จะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต

ส่วนกรณีที่บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM อยู่ระหว่างการหารือกับ กฟผ.เรื่องการพิจารณาย้ายสถานที่ตั้ง โรงไฟฟ้าโครงการ เอสพีพีของบี.กริม หลังเกิดปัญหายุบเขตและนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ราชบุรี นั้น นายศิริ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คู่สัญญาต้องดูรายละเอียดร่วมกันต่อไป

 มติชน

          คอลัมน์ จอดป้ายประชาชื่น: ทฤษฎี ราคาน้ำมัน

          ปิยะวรรณ ผลเจริญ
หลายนโยบายของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาทิ ประเด็นโรงงานถ่านหินในภาคใต้ที่เริ่มต้นทำการศึกษาการประเมิน สิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) หรือประเด็นการเบรกไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนช่วง ปี ยกเว้นกรณีราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกในระดับ 2.40 บาทต่อหน่วย กำลังเป็นที่จับตารอดูผลชัดๆ

ยกเว้นประเด็นราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ที่ชาวบ้านติดตามใกล้ชิด หลังนายศิริมีนโยบายห้าม ผู้ค้าน้ำมันแจ้งราคาล่วงหน้า ห้ามกระทรวงแจ้งค่าการตลาด เพื่อทำให้ผู้ค้าเกิดการแข่งขันด้านราคา ไม่ใช่ขึ้น พร้อมๆ กัน หรือลงตามๆ แบบที่เป็นอยู่
นโยบายโผงผางพอสมควร เพราะทั้งกูรูด้านพลังงาน นักวิชาการ ข้าราชการ อดีตข้าราชการ ต่างพูดไม่เต็มปากว่านโยบายนี้เหมาะสม แต่เข้าใจว่า นี่คือ “ทฤษฎี” ของรัฐมนตรี ขณะที่ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวต่างไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน อีกอย่างถึงไม่แจ้งผู้ค้าก็ทำการฮั้วกันได้อยู่ดี ควรหามาตรการอื่นที่พุ่งตรงไปยังผู้ค้ามากกว่า

ล่าสุดโชคไม่เข้าข้างนโยบายนี้ เพราะหลังราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดฮวบฮาบในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนต่างโอดครวญกับราคาขายปลีกที่ขยับขึ้น เลยเถิดไปถึงมีขบวนการปลอมข่าวดิสเครดิตนายกรัฐมนตรี และ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ

จนนายศิริต้องจัดแถลงข่าวถึงมาตรการดูแลราคาต่างๆ นานา พร้อมพ่วงประเด็นยกเลิกการห้ามผู้ค้าแจ้งปรับราคาน้ำมัน แบบกลับลำกันเนียนๆ

เพราะสำหรับสังคมไทยการแข่งขันด้านราคาอาจเป็นทฤษฎีที่กระทรวงพลังงานมองไกลเกินไป เมื่อเทียบกับความเข้าใจในโครงสร้างราคาที่สำคัญกว่า และประเด็นที่ว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันมหาศาลแต่ทำไมยังขายแพง จนคนบางกลุ่มใช้จังหวะนี้ดิสเครดิตกระทรวงและรัฐบาล

ถ้าพยายามแก้ให้ตรงจุดความเข้าใจที่ถูกต้องน่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยเสียที

 โพสต์ทูเดย์

          พลังงานชี้แจงข้อมูลเอกชนผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลแหล่งก๊าซ ให้หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจเข้าร่วมถือหุ้นช่วยกำกับการบริหาร

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างเป็นประธานสัมมนา ผู้เข้าร่วมประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช (บิดเดอร์ คอนเฟอเรนซ์) ว่า ได้ตอบคำถามเอกชน ผู้เข้าร่วมประมูล ได้แก่ การระบุให้ผู้ดำเนินการหลัก (โอเปอเรเตอร์) คัดเลือกผู้ร่วมทุนเป็นหน่วย ให้หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจร่วมถือหุ้นไม่เกิน 25% โดยเสนอมายังกระทรวงพลังงาน และจะต้องหารือถึงราคาขายก๊าซ รวมถึงผู้รับซื้อก๊าซว่าจะเป็นรายใด

นอกจากนี้ ได้ชี้แจงถึงการเจรจาแบ่งความรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นขุดเจาะในอ่าวไทยและการโอนทรัพย์สินต่างๆ ระหว่างผู้ชนะประมูลรายใหม่ที่จะเข้ารับช่วงต่อ ตลอดจนกำหนดแผนลงทุนผลิตปิโตรเลียมที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า เอกชนเป็นผู้เสนอรายชื่อหน่วยงานรัฐที่จะเข้าร่วมถือหุ้น แต่ต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน อาจเป็นการร่วมทุนของรัฐจัดตั้งบริษัทใหม่เข้าเป็นพาร์ตเนอร์กับโอเปอเรเตอร์หลัก โดยสัดส่วนหุ้นอาจไม่จำเป็นต้องถึง 25% ก็ได้ จากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้รัฐถือหุ้น 25% ก็เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ที่รัฐจะเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือดูแล แต่การร่วมดำเนินงานต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีความได้เปรียบในฐานะเป็นตัวแทนรัฐ

นายมาซิน ราชิด นาสเซอร์ อัล ลามคิ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มูบาดาลาปิโตรเลียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการรับฟังมีความชัดเจนในรายละเอียดมากขึ้น โดยบริษัทไม่มีปัญหากับเงื่อนไขที่จะให้หน่วยงานรัฐร่วมถือหุ้น 25% เพราะถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่ขอพิจารณาก่อนจะถึงวันประมูล

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า จะเข้าร่วมประมูลทั้งสองแหล่ง เพราะพร้อม ด้านเงินลงทุนและประสบการณ์ในการขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งบนบกและทะเล ซึ่งในแหล่งบงกชบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการหลัก ขณะที่แหล่งเอราวัณจะขอศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคาอีกครั้ง

แนวหน้า

          คอลัมน์ จับกระแสพลังงาน    

          กระบองเพชร
บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์แนวโน้ม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสัปดาห์นี้ (4-8 มิถุนายน) โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบยังคงลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องจับตาความคืบหน้าระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกว่าจะมีมาตรการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปทานที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลาหรือไม่ จากการประชุมล่าสุดระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียคาดจะมีการทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้กลุ่ม ผู้ผลิตจะมีการทบทวนมาตรการดังกล่าวในการประชุมโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย. 2561…นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง หลังสหรัฐ ได้เพิ่มการขุดเจาะในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงเหนือระดับต้นทุนการผลิต โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ จะปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 11ล้านบาร์เรลต่อวัน เร็วกว่าที่คิดไว้ในช่วงก่อนสิ้นปีเป็นไตรมาส ของปีนี้…คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล.ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล…

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน….กล่าว “ขอประทานโทษ” กรณีไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง ซึ่งนักวิชาการเรียก Black out เมื่อวันที่ มิ.ย. 2561….พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุเป็นเหตุเหนือการควบคุม เป็นเรื่องคาดไม่ถึง แต่ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานวิเคราะห์นำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก…โดยแนวทางอาจจะดูถึงเรื่องการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าทำอย่างไรให้มั่นคงนอกเหนือจากมีโรงไฟฟ้าที่เพียงพอ การปรับปรุงสำรองไฟฟ้า โดยตัวเลขร้อยละ 15 อาจจะไม่ใช่ ตัวเลขที่เหมาะสม อาจจะพิจารณาเป็นรายภาค ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นส่วนในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีดี) ที่กระทรวงกำลังดำเนินการทำให้สามารถเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้ากลับคืนเข้าสู่ระบบ…

กรมธุรกิจพลังงาน..ระบุว่า จากการได้หารือกับผู้ประกอบการทั้งภาคโรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูป….เรื่องการปรับเปลี่ยนการสำรองน้ำมันให้เหมาะสม… โดยหากปรับลดจริงตามนโยบายก็คาดว่าจะทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันลดลงและส่งผลมาถึงราคาขายปลีก …แต่จะเป็นอัตราเท่าใดนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเป็นผู้คำนวณต่อไป…และที่สำคัญ ต้องรอฟังนโยบายจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่าจะให้ปรับลดสำรองน้ำมันอย่างไร….ปัจจุบันนี้สำรองน้ำมันรวมทั้งโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูป รวม 7% หรือ 25 วัน แบ่งเป็นสำรองน้ำมันดิบของโรงกลั่น 6% หรือ 22 วัน และผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูป 1%หรือ วัน….เบื้องต้นทางโรงกลั่นฯ เห็นด้วยหากจะลดสำรองในส่วนของ น้ำมันดิบจาก 6%  เหลือ 3% หรือ 11วัน…

ไทยโพสต์

          คอลัมน์ จับประเด็น:ปตท.สผ.ตั้งบริษัทลูกรองรับลงทุนอนาคต

รายงานข่าวจาก บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. แจ้งว่า เมื่อวันที่ มิถุนายน2561 ได้มีการจัดตั้งบริษัท อีพี-เทค เวนเจอร์ส โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต ด้วยทุนจดทะเบียน 1ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญจำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทย่อยของ ปตท.สผ.) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100.

มติชน

        พนง.ขวางแปรรูปกฟภ.  

เมื่อวันที่ มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พนักงานส่วนใหญ่แต่งกายด้วยชุดดำ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแปรรูปกฟภ. เป็นการแสดงออกพร้อมกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้ในวันนี้พนักงานบางคนจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบสีกากีตามระเบียบ แต่ด้านในก็ใส่เสื้อยืดสีดำเอาไว้ โดยจะมีการแต่งชุดดำต่อเนื่อง พร้อมจัดทำแผ่นป้ายข้อความแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย ส่วนที่สำนักงานกฟภ.จังหวัดสตูล พนักงานพร้อมใจกันสวมใส่ชุดสีดำ พร้อมติดป้ายไวนิลหน้าสำนักงาน

นายสำราญ นิยมยาตรา ผู้จัดการกฟภ.จังหวัดสตูล เผยว่า หลายๆ ฝ่ายต่างไม่สบายใจ ทำให้เพื่อนร่วมงานพนักงานที่อยู่ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้เสี่ยงตกงาน อีกทั้งยังกังวลถึงอนาคตของกฟภ. หากถูกแปรรูปไปในทิศทางอื่น จึงพร้อมใจกันออกมาร่วมคัดค้านและแสดงสัญลักษณ์