กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

24 พฤษภาคม 2561

“เอสซีจี เคมิคอลส์” นำจุดเด่นของตนเองจากการเป็นธุรกิจปิโตรเคมีผู้ผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพ และความเชี่ยยวชาญทางด้านวิศวกรรม ผนวกกับความสามารถของผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก ร่วมกันคิดค้นและสร้างสรรค์จนประสบความสำเร็จเป็น “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” รายแรกในประเทศไทย ล่าสุดเปิดตัวโครงการตัวอย่างสาธิตโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ 1 เมกะวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 5ล้านบาท ต่อปี  ระบุศักยภาพแหล่งน้ำในประเทศที่มีความพร้อมติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำมีถึง500 เมกะวัตต์

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวกับสื่อมวลชนที่เดินทางไปร่วมเยี่ยมชมโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ( Floating Solar Farm)  ในครั้งนี้ ว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำหน่ายอยู่ประมาณ 1บาทต่อหน่วย  โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะจ่ายให้กับอาคารสำนักงานและโรงงานของกลุ่ม ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี  ดังนั้น โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่สาธิตให้ดู ขนาด1เมกะวัตต์ ขนาดลงทุนประมาณ40 ล้านบาท จะใช้เวลาคืนทุนประมาณ  8ปี

ระบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำผลิตไฟฟ้า จะกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจเกิดใหม่ (Emerging Business ) ของ เอสซีจี เคมิคอลล์ ที่จะตั้งบริษัทลูก เป็นผู้ดูแลธุรกิจดังกล่าวแบบครบวงจร  ที่จะให้บริการทั้งการออกแบบ ผลิต ติดตั้ง บำรุงรักษา ให้กับลูกค้า  ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจา3-4 ราย รวมถึงลูกค้ารายใหญ่ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.อยุธยา

ทั้งนี้ การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย เนื่องจาก บริษัทเห็นว่าพื้นที่ผิวน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะเกิดประโยชน์มากขึ้น  โดยจากการศึกษาศักยภาพแหล่งน้ำในประเทศไทยที่มีความเหมาะสมที่จะติดตั้งโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำ จะมีมากถึง500 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งน้ำที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับจุดเด่นอยู่ที่ การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำให้ประสิทธิภาพสูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดิน และบนหลังคา เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน (cooling effect)  และเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งง่าย รวดเร็ว และ ประหยัดพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่น ๆ  โดยโครงการโซลาร์ลอยน้ำสาธิต ขนาด1เมกะวัตต์ ของบริษัท นั้น ใช้พื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ เพียงประมาณ 72 เมตร คูณ 153 เมตร  นอกจากนี้ ทุ่นลอยน้ำยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25 ปี ใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์

ส่วนการบำรุงรักษานั้น   บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการทำงานโดยใช้ “โดรน” (Drone) บินสำรวจและตรวจสอบค่าความร้อนโดยสามารถบันทึกภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์ได้ นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ดำน้ำ (Underwater Visualizer Robot) เพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างที่อยู่ใต้น้ำด้วย

กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยมีการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายทั้งนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals  ส่วนการติดตั้งระบบโซลาร์ผลิตไฟฟ้า ทั้งในส่วนของโซลาร์ฟาร์มที่ติดตั้งบนพื้นดิน  โซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป  และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ในโรงงานของเครือเอสซีจี ทั้งในและต่างประเทศ นั้น มีการดำเนินการไปแล้วประมาณ 30 เมกะวัตต์  โดยมีแผนที่จะติดตั้งอีก 120 เมกะวัตต์ ให้ครบ150 เมกะวัตต์ ในปี 2563 นี้