กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

14 กุมภาพันธ์ 2561

เหรียญมี 2 ด้านเสมอ โรงไฟฟ้าเองมีทั้งให้คุณและก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนภาคใต้ก็เช่นกันมีทั้งสนับสนุนและต่อต้านโดยเฉพาะ 2 แห่งตามแผนการความมั่นคงทางไฟฟ้าของกฟผ.ที่เทพา,สงขลาและที่กระบี่ เชื้อเพลิงถ่านหิน

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปที่ไหนเจอตอทั้งสิ้นและตอใหญ่สุดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ความกังวลคือที่นั่นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าทุกภาค ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงยิ่งช่วงท่องเที่ยวไฮซีซั่น

ผมพูดคุยกับเพื่อนคนพื้นที่เขาอยู่ข้างอยากได้เพื่อปูพื้นฐานมั่นคงพลังงาน จะเป็นส่วนมากหรือส่วนน้อยของชาวใต้ก็ไม่อาจคำนวณได้ เขาพูดถึงรัฐบาลประชาธิปัตย์เจ้าของฐานเสียงพอแอะปากเรื่องนี้ก็ถอยไม่เสี่ยงกับแรงต้าน เขาไม่หวังพึ่งรัฐบาลเพื่อไทยอยู่แล้วเพราะไม่ใส่ใจ ใต้ไม่ใช่ฐานเสียง

หมายมั่นรัฐบาลทหารจะกล้าตัดสินใจก็แห้วอีก นายกฯ ลุงตู่จำนนต่อกลุ่มต้านที่บุกมาถึงทำเนียบฯ สั่งชะลอไป 3 ปี โดยม็อบเอาเด็กๆไว้แถวหน้ายังปักหลักต่อเรียกร้องเลิก,ไม่ใช่ชะลอ

โอกาสชาวใต้มีโรงไฟฟ้าใหม่วังเวง ณ เวลานี้ ความต้องการ ใช้ตามข้อมูลกฟผ.อยู่ที่ 2,912 เมกะวัตต์โดยมีศักยภาพรองรับที่ 3,115 เมกะวัตต์

ก็พบว่าเหลือ แต่ย่อยลงไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือราว 300 เมกะวัตต์เอาแน่เอานอนไม่ได้เป็นไฟฟ้าจากแหล่งผลิตขนาดเล็ก อีกราว 5-600 เมกะวัตต์ลากสายมาจากภาคกลาง

กำลังผลิตไฟฟ้าในโครงการเทพาและกระบี่รวมกัน 2,800 เมกะวัตต์ใช้ไปได้อีกยาว แต่…

คำถามคือเมื่อปฏิเสธจะเอาที่ไหนใช้ คำตอบมีครับ อันแรกนำไฟฟ้าจากภาคกลางมาเสริมให้มากขึ้น หรือซื้อจากเพื่อนบ้านมาเลเซีย หรือซื้อจากกัมพูชาเขามีโรงไฟฟ้าเกาะกง ลากมาที่หลังสวน,ชุมพรก็ประมาณ 1,150 กม.

ที่เอ็นจีโอโฆษณาชวนเชื่อให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนจากลม,แสงอาทิตย์ ในความเป็นจริงไม่ง่ายแม้มีเทคโนโลยีกักเก็บไว้ใช้ได้ตลอดเวลาแต่เงินลงทุนสูง ค่าไฟฟ้าย่อมแพงซึ่งถูกปฏิเสธเช่นกัน

ดูจากสัดส่วนในต่างประเทศยังไงก็ต้องมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก เป็นต้นว่าก๊าซธรรมชาติที่เราใช้สูงสุด พลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินที่หลายประเทศเลิกไปแต่บางประเทศอย่างญี่ปุ่นสร้างใหม่

บ้านเรามีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่เดิมใหญ่สุด 2,400 เมกะวัตต์ก็แม่เมาะ,ลำปาง บีแอลซีพีเพาเวอร์ 1,434 เมกะวัตต์และเก็คโค่-วัน 600 เมกะวัตต์ที่มาบตาพุด,ระยอง นอกนั้นขนาดเล็กๆอีก 7 แห่ง เทียบกับญี่ปุ่นก็ห่างกันไกลลิบของเขามีไฟฟ้าถ่านหินมากถึง 46,000 เมกะวัตต์

แทนการสั่งชะลอยาว ความน่าจะเป็นคือตั้งคณะทำงานฝ่ายเป็นกลางไม่ใช่กฟผ.ชงเองกินเองเป็นผู้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะมีข้อตำหนิเก็บข้อมูลไม่ครบให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ผลกระทบด้านประมง,ท่องเที่ยวจนถึงสุขภาพไม่พบการเก็บตัวอย่างเลือดคนในพื้นที่

ผมหนุนโรงไฟฟ้าในภาคใต้โดยรัฐต้องเปิดเผยผลกระทบบวกลบทุกด้านและทำความเข้าใจ ไม่ใช่การนำสื่อ,กองเชียร์ไปดูงานต่างประเทศ แบบนั้นไม่รอด,คนไม่เข้าใจยังไม่เข้าใจและไม่เอาต่อไป.

แหล่งข่าว : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 (หน้า 10)