กกพ.เผยยอดผู้ขอติดตั้งโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ล้น ล่าสุดแห่ยื่นกว่า 500 ราย คิดเป็นกำลังผลิต2.5 พันเมกะวัตต์ เตรียมเปิดยื่นเอกสาร 1-10พฤศจิกายนนี้ พร้อมจับสลากเสี่ยงดวงรับซื้อแค่ 600 เมกะวัตต์ในวันที่15 พฤศจิกายนนี้ ส่วนที่เหลือตัดทิ้งรอเปิดรอบ 2 อีก 200 เมกะวัตต์ในปีหน้า หลังแผนขยายสายส่งพื้นที่ภาคอีสาน-ใต้เสร็จ
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มีหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ได้ยื่นข้อมูลไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(พีอีเอ) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เพื่อขอตำแหน่งที่ตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบน พื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ในหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรขนาดไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง พบว่ามีจำนวนผู้สนใจยื่นแล้วทั้งสิ้นกว่า 500 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 2.5 พันเมกะวัตต์ โดยมากกว่าเป้าที่ทางภาครัฐกำหนดให้เปิดรับซื้อโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการฯ จำนวน 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยรอบแรกจะอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ ส่วนรอบที่ 2 อีก 200 เมกะวัตต์
โดยทาง กกพ.จะเปิดให้หน่วยงานราชการและสหกรณ์ฯยื่นเอกสารข้อมูลในวันที่ 1-10 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสมัครโครงการดังกล่าว หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้สมัครที่มีเอกสารข้อมูลครบ ถ้วน เพื่อจับฉลากในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ โดยยืนยันว่าจะมีกลไกในการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน และจะคัดเลือกเหลือเพียง 600 เมกะวัตต์เท่านั้น และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2559
ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซ ลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการฯในรอบที่ 2 อีก 200 เมกะวัตต์นั้น จะต้องรอให้โครงการขยายสายส่งไฟฟ้าของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย(กฟผ.) แล้วเสร็จก่อน เพื่อให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบดังกล่าว โดยตามกำหนดเป้าหมายการรับซื้อในระยะที่ 2 กกพ. จะออกประกาศในปี 2559 โดยจะมีกำหนดวัน SCOD ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้หากไม่มีการเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าภายในกำหนดวัน SCOD ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นอันสิ้นสุด ยกเว้นกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดในสัญญา
นายไกรสีห์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกจะเป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ กกพ. ได้แบ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าออกเป็น 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ของกฟน. จำนวน 200 เมกะวัตต์ พื้นที่ของพีอีเอ จำนวน 389 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 87 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 159 เมกะวัตต์ และภาคกลาง 138 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 11 เมกะวัตต์
“ขั้นตอนการคัดเลือก กกพ. จะพิจารณาความครบถ้วนของเอกสาร ศักยภาพระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่ตั้งโครงการ ความพร้อมของเงินทุน และความพร้อมของวงเงินสินเชื่อก่อน และเมื่อได้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว กกพ. จะใช้วิธีการจับสลากเพื่อคัดเลือกว่ากลุ่มใดจะได้จับสลากก่อน โดยกลุ่มที่ได้จับสลากก่อนจะได้รับการคัดเลือกก่อน”นายไกรสีห์ กล่าว
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซ ลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการฯ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การ เกษตร ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวม 800 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า(ฟีดอินทารีฟ) 5.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3097 วันที่ 18 – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558