กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

6 กุมภาพันธ์ 2561

โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง แห่ขนทะลายปาล์มจากภาคใต้ขึ้นมาใช้แทน 10,000 ตัน/วัน หลังราคาแกลบพุ่ง 1,500 บาท/ตัน ผู้ประกอบการจี้รัฐแก้ปัญหาจัดโซนนิ่ง-เปลี่ยนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าแบบ Adder มาใช้แบบ Feed in Tariff ที่สะท้อนต้นทุนผลิตมากกว่า

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคกลางที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ต้องประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะราคาแกลบได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1,400-1,500 บาท/ตัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่นแทน ล่าสุดเริ่มมีการขนทะลายปาล์มจากพื้นที่ภาคใต้มาใช้ในโรงไฟฟ้าแกลบ จากเดิมที่ราคาทะลายปาล์มอยู่ที่ 150 บาท/ตัน ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 250 บาท/ตันแล้ว และคาดว่าราคาทะลายปาล์มอาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดมีการขนทะลายปาล์มอยู่ที่ 10,000 ตัน เพื่อให้สามารถเดินเครื่องไฟฟ้าตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำหนดไว้ตามสัญญาซื้อขายไฟ

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาจากที่กระทรวงพลังงานไม่มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่โรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ว่าควรมีกี่โรงแต่กลับรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมเมื่อโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้มีการแย่งวัตถุดิบในพื้นที่ นอกเหนือจากนี้ยังมีปัญหาในประเด็นสูตรราคารับซื้อค่าไฟฟ้าในกลุ่มชีวมวลที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตในช่วงแรกที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนด้วยการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่ให้ส่วนเพิ่มเพียง 7 ปี หลังจากนั้นจะได้อัตราค่าไฟฟ้าปกติคือ อัตราค่าไฟฟ้าฐานรวมกับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft เท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่กลับได้อัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลง

“ก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อให้มีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวเพราะโรงไฟฟ้าที่ได้ Adder นั้นมีอายุโรงไฟฟ้า 20-25 ปี และขณะนี้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามาเพียง 6-7 ปีเท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประเทศพึ่งพาการใช้พลังงานทดแทนภายในมากขึ้น ก็ควรลงมาแก้ไขปัญหา”

นายนทีกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไปที่กระทรวงพลังงานแล้วคือ ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเดิมที่ได้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Adder สามารถเปลี่ยนมาใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff หรือ FIT เนื่องจากเป็นสูตรราคาที่สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงมากที่สุด แต่กระทรวงพลังงานแจ้งว่า ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากต้องยึดตามสัญญาซื้อขายไฟเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานทดแทน ถือเป็นระเบียบสัญญาที่เกิดจากฝ่ายเดียวคือจากฝ่ายนโยบาย โดยที่ไม่ได้พิจารณาต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ประกอบการบางโรงต้องเดินเครื่องแบบขาดทุนด้วยซ้ำ

เมื่อนำอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Adder และ FIT มาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่า อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FIT สะท้อนต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าตามจริงมากกว่า และได้อัตราค่าไฟฟ้าที่มากกว่า ฉะนั้นควรปรับราคาค่าไฟที่ใช้น่าจะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของธุรกิจพลังงานทดแทน และเพื่อให้นโยบายส่งเสริมพลังงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตที่ผ่านมาอัตราค่าไฟฟ้าของกลุ่มชีวมวลจะถูกอ้างอิงในยุคแรกคือ ราคาน้ำมันเตา ยุคที่ 2 อิงกับ?ราคาก๊าซธรรมชาติ ยุคที่ 3 อิงราคาถ่านหิน ยุคที่ 4 รูปแบบ Adder และยุคที่ 5 รูปแบบ FIT ซึ่งจะเห็นได้ว่าในยุคที่ 1-4 ราคาที่อ้างอิงไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของพลังงานชีวมวล จากที่เคยประเมินว่าราคาแกลบที่คุ้มค่าลงทุนควรอยู่ระดับที่ไม่เกิน 300-500 บาท/ตัน แต่หลังจากที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น ราคาแกลบได้เพิ่มขึ้นจนถึง 800 บาท/ตัน และราคาล่าสุดเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,400-1,500 บาท/ตัน