กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

24 พฤษภาคม 2561

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มของไทยขยายกิจการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ในจีน ญี่ปุ่น และล่าสุดในเวียดนาม หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าธุรกิจโซลาร์ฟาร์มน่าสนใจอย่างไร ทำไมจึงดึงดูดนักลงทุนไทยไปต่างประเทศได้ และโอกาสของการเติบโตในต่างประเทศนั้นมีมากแค่ไหน

ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์มีจุดเด่นหลักคือการ ผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรฟรี จึงไม่มีค่าต้นทุนเชื้อเพลิง อย่างพลังงานอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ด้านการดำเนินงานและซ่อม บำรุงแผงโซลาร์เซลล์ก็ไม่ซับซ้อน เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว ประกอบกับการลงทุนในโซลาร์ฟาร์มยังใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าโรงไฟฟ้าชนิดอื่น มีต้นทุนราคาของแผงโซลาร์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนการดำเนินการที่ลดลงตามประสบการณ์ของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

การเติบโตของธุรกิจพลังงานโซลาร์ทั่วโลก เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยการลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้า โซลาร์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 มีการลงทุนใน โซลาร์รวมสูงถึง 160.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ และนิวเคลียร์ รวมกัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การติดตั้งโซลาร์ทั่วโลกจะยังคงขยายตัวได้ราว 5% ต่อปี และจะเติบโตได้เร็วที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จาก แนวโน้มความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่มีทุนที่เข้มแข็งและมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สะสมจากการดำเนินการธุรกิจโซลาร์ในไทยตามนโยบายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตจากโซลาร์อยู่ที่ราว 2.7 กิกะวัตต์ (เทียบกับเป้าหมายตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2015 ที่ 6 กิกะวัตต์) เทียบกับญี่ปุ่นที่มีกำลังการผลิตจากโซลาร์อยู่ที่ราว 50 กิกะวัตต์ และยังมีโอกาสเพิ่มเติมอีกกว่า 14 กิกะวัตต์ หรือแม้ แต่ประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ก็มีเป้าหมาย กำลังการผลิตจากโซลาร์ที่ 12 กิกะวัตต์ และ 8 กิกะวัตต์ ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้โซลาร์ ดังนั้น การลงทุนไปต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจ

การพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มให้ประสบความสำเร็จนั้น บริษัท ควรมีความชำนาญในการจัดการโครงการเพื่อควบคุมต้นทุน ความ สามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ การบริหารต้นทุนทางการเงิน และการวางแผนการสร้างโครงการให้ทันกำหนดวันจ่ายไฟเข้าระบบ เชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้ว การเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ก็ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ เนื่องจากระยะทางจากโครงการถึงระบบสายส่ง และการวางรากฐานในแต่ละพื้นที่จะมีค่าใช้จ่าย ต่างกัน รวมทั้งต้องตระหนักและเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับกฎระเบียบและข้อจำกัดที่ไม่คุ้นเคย เช่น ในกรณีญี่ปุ่น เจ้าของโครงการต้องดำเนินการขออนุญาตเดินสายไฟผ่านชุมชนเพื่อเชื่อมต่อกับระบบสายส่งหลักเอง จึงจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นที่ช่วยประสานงานในประเด็นดังกล่าว ขณะที่ในกรณีของเวียดนาม ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ข้อจำกัดของตลาดการเงินที่ยังขาดเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว

การขยายการลงทุนโซลาร์ฟาร์มไปยังต่างประเทศ นอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจไทยแล้ว ยังจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและธุรกิจ ต่อเนื่องของไทยอีกด้วย เช่น ที่ปรึกษาเชิงเทคนิค ผู้ดำเนินการออกแบบ จัดซื้อ และควบคุมงานก่อสร้าง (EPC) และผู้ขายอุปกรณ์ นอกจากนี้ การ ที่ผู้ประกอบการพลังงานทั้งไทยและต่างชาติหลายรายได้ตั้งสำนักงานประสานธุรกิจระหว่างประเทศในไทย ได้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค ที่สำคัญ การที่ผู้ประกอบการไทยได้ไปสั่งสมประสบการณ์ในต่างประเทศก็จะทำให้มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมโซลาร์ของไทย อย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคตที่ความสามารถใน การลดต้นทุนโครงการจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นจากแนวโน้มการใช้ ระบบประมูลราคาสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย จากเดิมที่การลงทุนในโซลาร์ฟาร์มนั้น อยู่ภายใต้ระบบการสนับสนุนทางราคาของภาครัฐ เช่น ระบบ Feed-in-Tariff (FiT) ที่ภาครัฐประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราสูงเพื่อดึงดูดการ ลงทุน ซึ่งในระบบนี้ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่การจัดการ IRR ให้ได้ตามเป้าจากราคารับซื้อที่รัฐประกาศ แต่ในระบบประมูล ผู้ประกอบการต้องแข่งขันราคากันเอง ดังนั้น การมีผู้ประกอบการโซลาร์ที่เข้มแข็ง จากประสบการณ์การทำโครงการทั้งในและต่างประเทศจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์สามารถแข่งขันกับพลังงานดั้งเดิมได้มากยิ่ง ขึ้นในอนาคต

โอกาสของพลังงานโซลาร์ยังมีอีกมาก ในระยะต่อไป ผู้บริโภคจะมีโอกาสเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์มากยิ่งขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาพลิกโฉมระบบไฟฟ้าที่เราคุ้นเคย จึงเป็นพัฒนาการสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

โดย ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์