นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 เมษายน 2563 นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีนายกุลิศสมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณรายละเอียดเกณฑ์การเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าฯประเภทเร่งด่วน หรือ Quick Win จำนวนไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ที่สอดรับกับการที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้ได้ตามแผนภายในกลางเดือนเมษายนหรือ 17 เมษายนนี้
“ขณะนี้ยังไม่มีการเลื่อนเวลาออกไปแต่คงต้องมาพิจารณาปรับเงื่อนไขในสาระหลักให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น กรณีกระบวนการให้เอกชนยื่นเอกสารที่กกพ.จะดำเนินการนั้นใช้คนเพียง 1-2 คน ไปเกิดปัญหาติดเชื้อ COVID-19 ได้แต่อาจจะผ่อนผันให้การยื่นข้อเสนอไม่ต้องรับฟังความเห็นจากชุมชน โดยให้ทำหลังมีการอนุมัติได้” นายยงยุทธ กล่าว
นอกจากนี้ ยังต้องปรับเกณฑ์ให้สอดรับกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ล่าสุดที่กำหนดให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบได้(COD)ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะต้องลงนามภายในปี 2563 จากเดิมที่ต้องจ่ายไฟเข้าระบบภายในปี 2563 เป็นต้น
ทั้งนี้หลังจากได้ข้อสรุปจะนำเสนอไปยังกกพ.เพื่อให้มีการแนบท้ายประกาศต่อไปซึ่งขั้นตอนขณะนี้ทางกกพ.ได้มีการจัดทำระเบียบหลักเกณฑ์จัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเปิดรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. www.erc.or.th ระหว่างวันที่ 13-27 มีนาคม 2563 ซึ่งขณะนี้จะต้องรอการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะสามารถประกาศเกณฑ์สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าได้ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นได้ไม่เกินกลางเมษายนนี้
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช รักษาการประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)กล่าวว่า เดิมโรงไฟฟ้าชุมชนกำหนดจะให้เอกชนยื่นในเดือนธันวาคม 2562 ต่อมาได้เลื่อนมาเป็นกลางเมษายนหรือตามที่รมว.พลังงานระบุว่าวันที่ 17 เมษายนนี้ จึงเห็นด้วยว่าไม่ควรจะเลื่อนออกไปอีกเพราะอาจจะยาวโดยไม่มีกำหนด และเมื่อรัฐได้ปลดล็อกเรื่อง COD และกรณีการไม่ต้องรับฟังความเห็นจากชุมชนก่อนก็น่าจะทำให้อุปสรรคที่จะต้องเลื่อนออกไปลดลง ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสอท.กล่าวว่า เข้าใจว่ารัฐจะผ่อนผันการไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนก่อนได้เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้วจึงค่อยไปดำเนินการภายหลัง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขกกพ.ในการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice-CoP) สำหรับการขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเพื่อเอื้อให้เอกชนและวิสาหกิจชุมชนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
ทั้งนี้คาดว่าเฟสแรกที่เกิดคือโรงไฟฟ้าควิกวินของการไฟฟ้า 4 แห่ง และเฟสที่ 2 จะป็นควิกวินของเอกชนที่เป็นโรงไฟฟ้า VSPP ที่มีการค้างท่อในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ(Biogas) ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของเชื้อเพลิงเพราะได้มีการหมักเก็บไว้นานแล้วทั้งจากมูลสัตว์ โรงแป้ง โรงมัน ฯลฯ เพียงแต่เพิ่มการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้นโดยประเมินว่าจะมีโครงการที่พร้อมและมีแนวโน้มที่จะได้รับคัดเลือกประมาณกว่า 30 โครงการปริมาณไม่ถึง 100 เมกะวัตต์