รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมปาฐกถาและบรรยายพิเศษในงานสัมมนา “โควิด 19 กับ อนาคตเศรษฐกิจไทย 2021” ของ TNN ช่อง 16 เชื่อมั่นประเทศไทยจะฟื้นตัวได้เร็วหลังโควิด 19 จากมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนหลายระดับได้มีส่วนร่วม ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงเข้มแข็ง พร้อมเตรียมรุกเดินหน้าเปลี่ยนประเทศไทยให้ทันสมัย มั่นใจเศรษฐกิจไทยต้องเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมปาฐกถาและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “โควิด 19 ปฏิวัติเศรษฐกิจโลก พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “โควิด 19 กับ อนาคตเศรษฐกิจไทย 2021” ซึ่งบริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด หรือ TNN ช่อง 16 จัดขึ้น เพื่อรวมกูรูด้านเศรษฐกิจชั้นนำ ของประเทศไทย ร่วมเปิดมุมมองการเตรียมความพร้อมในการรับมือสภาพเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โรคไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาด ทั่วโลก โดยมี นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ พร้อมด้วยนางสาวณัฐจารีย์ ศรีเพ็ชร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย แผนยุทธศาสตร์ และนายพิพัฒน์ จิตรนำทรัพย์ วิศวกรระดับ 11 สังกัดสายงานผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมรับฟัง ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ 1 ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่สามารถแก้ไขปัญหาโควิด 19 ได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ปัจจุบันนี้เราสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ในขณะที่หลายประเทศ ยังมีการระบาดสูงอยู่ ซึ่งรัฐบาลได้ให้การเยียวยาเพื่อเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และประคับประคองในส่วนที่ยากลำบาก จึงขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการจ้างงาน ที่แต่ละหน่วยงานก็ช่วยกันรับเด็กจบใหม่ เพื่อให้ลูกหลานที่จบการศึกษามั่นใจว่าจะมีงานทำ ส่วนการท่องเที่ยวที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ ก็แก้ปัญหาด้วยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นฟูประเทศด้วยโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง การเสริม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชอปดีมีคืน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าพ่อค้ารายเล็ก ๆ หรือประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ผ่อนปรนการชำระหนี้ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยและฟื้นตัวได้ไว ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้ไปร่วมมือกับบริษัทที่ทำวัคซีนป้องกันโควิด 19 และโชคดีที่ผลลัพธ์วัคซีนออกมาค่อนข้างดีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็จะนำไปทดลองในกลุ่มทดลอง ที่กว้างขึ้น เพื่อให้มั่นใจก่อนนำมาใช้จริง จึงถือว่าปีนี้เป็นปีที่เราผ่านจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจมาแล้ว และปีหน้าจะเป็นปีแห่งการเตรียมตัว เพื่อเปลี่ยนประเทศไทย
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวเสริมด้วยว่า สำหรับกรุงเทพมหานครในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะจะมีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จหลายเส้นทาง มีคลองที่สวยงาม มีการเชื่อมโยงสวนสาธารณะระหว่างกัน มีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ส่วนสถานีหัวลำโพงจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เป็นห้องสมุด ซึ่งการใช้คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันถุงเงิน เป๋าตังค์ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจดิจิทัล เรามี 5G มี Optical Fiber มีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม เหลือแค่การลงทุนจากเอกชน เราจะดึงดูดนักลงทุนเก่ง ๆ มาสร้างความเจริญให้กับประเทศ ซึ่งเมื่อสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลอุณหภูมิของโลก รวมถึงประเทศต่าง ๆ ก็ได้พุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกันนี้ ทำให้พลังงานฟอสซิลจะถูกใช้ลดลง บางประเทศประกาศว่าอีก 10 ปีจากนี้เป็นต้นไป จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเมื่อเทียบกับปี 1999 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจากภาคการขนส่งด้วย ทำให้ภาคการขนส่งต้องเปลี่ยนมาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ดังนั้นไฟฟ้าก็ต้องมาจากพลังงานที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยที่ได้ประกาศไว้
สิ่งที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือการเข้าร่วมสัญญาทางการค้า ก็ต้องมาดูว่าเราจะเข้าร่วมได้อย่างไร เราอยากจะเปลี่ยนประเทศไทย ดังนั้น พลังงานสะอาดเราก็ต้องมีมากขึ้น Smart Device ก็ต้องเกิด Censor ต่าง ๆ ก็ต้องมี เพราะมีรถไฟฟ้า นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาการปลูกพืชเพื่อให้มีพืชพลังงานสนับสนุนในการสร้างพลังงานสะอาด มีโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ มีการพัฒนาคนให้ทันสมัยมากขึ้น มีสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Advance Technology มากขึ้น ซึ่งเราก็เตรียมโครงสร้างไว้หมดแล้ว ทั้ง Optical Fiber การสื่อสาร ซึ่งจะส่งเสริมให้ธุรกิจ Digital Economy ไม่ว่าจะเป็น Cloud Service, Artificial Intelligence (AI) หรือ 5G เกิดขึ้น โดยในอนาคตจะมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย จากนโยบายใหม่ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐอเมริกา ตรงนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย เราต้องช่วยกัน ดังนั้นปี 2564 เราจะประคับประคองเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการดำเนินการเชิงรุก โดยเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่พวกเราทุกคนจะได้ร่วมกัน ช่วยกัน จะมีการพัฒนาบุคลากรไทยให้เก่งขึ้น มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากโควิด 19 การร่วมมือกันจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งและพร้อมเติบโตมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ ภายในงาน ยังมีการสัมมนาในหัวข้อ “หลัง COVID-19 อนาคตเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน?” โดยได้รับเกียรติจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวบรรยายถึงภาพรวมและความสำเร็จทางการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงโครงการประกันรายได้ของเกษตรกรไทยที่จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้ดีขึ้น ต่อด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ที่กล่าวบรรยายถึงแนวทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 นโยบายการลงทุนของภาครัฐ นโยบายการคลังและการแก้ปัญหาเอ็นพีแอล นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้กล่าวบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ก่อนโควิดจนถึงปัจจุบัน พร้อมแผนการกระตุ้นภาคธุรกิจ และความพร้อมในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ยุค New Normal ปิดท้ายด้วย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ร่วมบรรยายเรื่องอนาคตตลาดทุนไทย จะมีการปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ พร้อมแนะแนวทางเลือกที่ตอบโจทย์การลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาในหัวข้อ “เติมวัคซีนลงทุน หุ้น ทอง กองทุน ตั้งรับโควิด 19 ระบาดซ้ำ” โดยวิทยากรชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ และเหล่ากูรูวิทยากรระดับแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่ นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บริษัท หลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด และนายณัฐพล คำวงษา นักกลยุทธ์ฝ่ายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เตรียมพร้อม รับกับสถานการณ์โควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำระลอกใหม่
Source : กระทรวงพลังงาน