ยอดใช้พลังงานพุ่ง ทรัพยากรในประเทศขาดแคลน ภาครัฐ-เอกชนประสานความร่วมมือดึงต่างชาติร่วมเวทีพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย หรือ SETA 2016 ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการการ และการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดหาทางออกพลังงาน หวังผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้พลังงานที่ยั่งยืนของเอเชีย
รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (SETA2016) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้ร่วมมือจัดการการจัดประชุม และนิทรรศการระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 (SETA 2016) ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีระดมความคิดหาทางออกในเรื่องพลังงาน ทั้งพลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน การกระจายเชื้อเพลิงให้เหมาะสม รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านพลังงาน การจัดการระบบผลิต และระบบส่งกระแสไฟฟ้า การใช้ในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน อีกทั้งเป็นการผลัดดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา และนำเสนอองค์ความรู้ของเอเชีย รวมถึงส่งเสริมนโยบาย และการวางแผนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรืองานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคง
“คณะทำงานเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านพลังงาน เนื่องจากทรัพยากรภายในประเทศมีน้อยลง ประกอบกับการผลักดันโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม-กรกฎาคม2558) ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้พลังงานในปริมาณสูงถึง 46,333 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8 % คิดเป็นมูลค่ากว่า 638,366 ล้านบาท”