ครม.เออออเหตุผลไทย ไม่จำเป็นต้องรีบเป็นสมาชิกทีพีพี ยังมีเวลาอีก 1–2 ปี สั่งทำรายละเอียดผลกระทบต่อสินค้ารายชนิด ระบุไทยไม่ได้อยู่คนเดียว มีข้อตกลงอื่นๆ โดยเฉพาะ RCEP และเออีซี ด้าน“พาณิชย์” เชิญผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ของสหรัฐฯ–อียู ดูงานแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ต.ค. 2558 ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงการประเมินผลกระทบจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมีการตกลงทั้งทางด้านภาษีและการลงทุนของสมาชิก 12 ประเทศ โดยเห็นว่าประเด็นที่จะกระทบประเทศไทยจากกรอบการตกลงทีพีพีนี้ จะเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาระยะสั้น ที่อาจจะกระทบต่อสินค้าของไทยในบางรายการ แต่ทั้งนี้ใน 12 ประเทศนี้ก็มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่ไทยไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) คือสหรัฐฯ แคนาดาและเม็กซิโก และในส่วนของสหรัฐฯเอง ไทยก็ยังเหลือสิทธิพิเศษทางศุลกากร (จีเอสพี) อยู่ ดังนั้นผลกระทบจึงยังไม่มาก
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีข้อตกลงทางการค้าในกรอบอื่นๆ เช่น กรอบความตกลงอาเซียนบวก 6 (RCEP) ที่มีสมาชิก 16 ประเทศ คืออาเซียน 10 ประเทศและประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ แม้ขนาดจีดีพีของ RCEP จะขนาดเล็กกว่าทีพีพี แต่ในแง่ของจำนวนประชากรแล้ว RCEP มีจำนวนมากกว่าและคาดว่ากรอบ RCEP จะได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีข้อตกลงเศรษฐกิจในกรอบของอาเซียนหรือ
เออีซีที่จะเริ่มขึ้นในสิ้นปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความตกลงทีพีพี แต่ก็เปิดกว้างสำหรับเรื่องนี้ และการยังไม่ตัดสินใจ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ช้ากันเกินไป เพราะยังมีเวลาอีก 1-2 ปีในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะหลังสมาชิกทีพีพีทำความตกลงแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการคุยกันในรายละเอียดอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งประเทศไทยจะใช้ช่วงเวลานี้ในการศึกษาความเหมาะสมว่าควรจะเข้าร่วมกรอบความตกลงนี้ได้
“เมื่อมีข่าวทีพีพีมีความชัดเจนแล้ว เชื่อว่าจะทำให้จีนเริ่มรุกผลักดันให้กรอบ RCEP ให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้นน่าจะสำเร็จภายในปี 2560 เพราะตอนนี้มีความชัดเจนเรื่องภาษีภาคบริการแล้ว ซึ่งจะอยู่ในรูปของการลดภาษี โดยเรื่องนี้จะมีการทำความตกลงกันในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้”
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอให้ ครม.รับทราบทั้งข้อดีและผลกระทบจากการรวมกลุ่มทีพีพี สรุปว่าไทยยังไม่ต้องตัดสินใจในทันทีว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งกระทรวงพาณิชย์ไปจัดทำผลดีและผลเสียของสินค้าเป็นรายชนิดเพิ่มและยังมีเวลาตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ซึ่งอาจจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมทีพีพีก็ได้ ทั้งนี้สำหรับกลุ่มทีพีพี มีจีดีพีรวมกัน 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 38% ของจีดีพีโลก มีประชากรจาก 12 ประเทศรวมกัน 800 ล้านคน คิดเป็น 11% ของประชากรโลก ส่วนกลุ่ม RCEP มีประชากรรวมกัน 3,500 ล้านคน
ด้านนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานกุ้ง นำโดยบริษัทนำเข้ากุ้งรายใหญ่ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เช่น Costco, CP Foods (UK), Morrison’s, Marine Gold เป็นต้น เข้าพบหารือกับพลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมง ผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) เพื่อติดตามการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาแรงงานการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ การทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานสินค้าประมงของไทยปราศจากแรงงานบังคับและแรงงานผิดกฎหมาย
โดยผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ได้เสนอแนะแนวทางเพิ่มความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบเรือประมงอย่างทั่วถึง โดยเน้นย้ำว่าการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผลงานที่ต่อเนื่องของไทยจะช่วยเพิ่มระดับความเชื่อมั่นของประชาคมโลก และยังมีความสำคัญต่อผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป เนื่องจากมีผลต่อจิตวิทยาของผู้บริโภค.