รมว.คลังเดินหน้าปลุกเศรษฐกิจต่อเนื่อง อีก 2 สัปดาห์ ประกาศแพ็กเกจกระตุ้นเอกชนเร่งลงทุนทุกเซ็กเตอร์ หวังขยายกำลังการผลิตในปี 2559 ผู้ประกอบการทุกระดับตั้งแต่เล็ก-ใหญ่ รับอานิสงส์ทั่วถึง หว่านมาตรการปิดจุดอ่อนเรียลเซ็กเตอร์รายอุตสาหกรรมก่อนปัญหาทรุดหนัก “รถยนต์-อัญมณี” เข้าคิวรอ ชี้ทุกอย่างต้องเร่งดำเนินการ เพราะรัฐบาลมีเวลาน้อย
หลังจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลได้เข้ามาทำงานไม่ถึง 2 เดือน ได้ออกชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และล่าสุดมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์
อัดแพ็กเกจปลุกเอกชนลงทุน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีกราว 2 สัปดาห์กระทรวงการคลังจะออกแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนภาย ในปี 2559 แบบเป็นการทั่วไป มีหลาย ๆ มาตรการรวมทั้งมาตรการภาษี เพื่อให้เร่งตัดสินใจการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนอยู่แล้วให้เร่งขยายกำลังการผลิต หรือการลงทุนใหม่ สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์บีโอไอ เนื่องจากเพราะตอนนี้เอกชนยังไม่ตัดสินใจเรื่องการลงทุน มาตรการที่ออกมาจะครอบคลุมเป็นการให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้เอกชนเกิดการลงทุนภายในปี 2559 ซึ่งตามแนวคิดไม่ว่าอุตสาหกรรมเล็กหรือใหญ่ก็ควรจะได้รับประโยชน์ทั้งหมด
“การลงทุนอาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรืออะไรก็ได้ ไม่ได้ห้าม แต่คงไม่ถึงขนาดให้ไปซื้อที่ดินเก็งกำไร ต้องเป็นกิจกรรมการลงทุนที่ทำแล้วเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีผลดีกับเศรษฐกิจเราคงไม่ให้” นายอภิศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามต่อคำถามที่ว่าการกระตุ้นให้ลงทุนเอกชนขณะที่ตลาดมีปัญหากำลังซื้อจะผลิตสินค้าไปขายให้ใคร นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การเร่งให้ลงทุนวันนี้ ไม่จำเป็นต้องผลิตในวันนี้ด้วย แต่เป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้า สำหรับคนที่คิดจะลงทุนอยู่แล้ว การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจะทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ ทุกอย่างถูก สิทธิประโยชน์ก็มากก็ควรลงตอนนี้ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ก็จะได้พอดี
“เศรษฐกิจเป็นวัฏจักรคุณจะไปลงตอนพีก ทุกคนก็แย่งกันลง ทุกอย่างจะแพงหมด สิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้ พอลงเสร็จวัฏจักรก็ขาลงพอดี”
นายอภิศักดิ์กล่าวว่าช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมเนื่องจากเอกชนมีกำลังที่จะลงทุนกันได้ เพราะยังเห็นหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังมีผลกำไรที่ดี รวมถึงประเทศไทยไม่ค่อยมีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมานานหลายปี
เร่งปิดจุดอ่อนรายเซ็กเตอร์
รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการช่วยเหลือเป็นรายอุตสาหกรรมก็จะทยอยดำเนินการเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาทรุดตัวลงไปเพราะปัญหาจะตามมา ดังนั้นก็จะเข้าไปดูและช่วยเหลือปิดจุดอ่อนก่อนที่จะมีปัญหา โดยจะเลือกพิจารณาอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับเซ็กเตอร์อื่น ๆ สูง และมีมัลติพลายเออร์ที่มีต่อการหมุนของระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีมาคุยแล้วหลายเซ็กเตอร์ แต่บางเซ็กเตอร์ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพียงแต่ส่งเสริมให้เป็นพระเอก แข็งแกร่งมากขึ้น
กรณีมาตรการภาคอสังหาฯ เป็นการช่วยก่อนที่ปัญหาจะเกิด เพราะเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวจึงต้องรีบจัดการ เพราะหากรอจนกระทั่งทรุดมีปัญหาจะทำให้ฟื้นยาก
“ถ้าปล่อยไว้ปัญหาอาจจะเกิดขึ้น ถ้าลามไปถึงผู้ประกอบการจะยุ่ง พอเห็นสัญญา ก็ออกมาตรการมาเติมให้ อย่างน้อยช่วงนี้จะมีการซื้อบ้าน โอนบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในสต๊อก จะเห็นว่าขณะนี้ผู้ประกอบการก็ไม่ได้มีปัญหามาก มาตรการชุดนี้จึงเป็นการช่วยผู้ซื้อเป็นหลัก ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการซื้อบ้านเก่า บ้านมือสองด้วย ไม่ใช่เฉพาะบ้านใหม่”
ยานยนต์-อัญมณี เข้าคิวรอ
นายอภิศักดิ์ยอมรับว่า กรณีอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีบางส่วนที่เป็นปัญหาของอุตสาหกรรม ในส่วนของปัญหากำลังซื้อในประเทศที่หดตัว เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจคงทำอะไรไม่ได้ แต่โครงสร้างที่เป็นปัญหาคือ รถเก่าในตลาดที่มีเยอะมาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการกำหนดเรื่องอายุการใช้งานของรถเก่าเหมือนในต่างประเทศ จึงมีรถเก่าในประเทศเยอะมาก ทำให้รถใหม่ขายไม่ค่อยได้ ฉะนั้นต้องดูจะทำยังไงให้สามารถระบายรถเก่าออกไปได้ อาจจะมีเรื่องข้อกำหนดอายุการใช้งานรถ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะทำอย่างไร สำหรับการส่งออกรถเก่าไปต่างประเทศ เป็นข้อเสนอหนึ่งของภาคเอกชน ที่อาจจะเป็นทางออกหนึ่ง
นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมอุตฯยานยนต์ให้ขยายการลงทุนเรื่องการวิจัยพัฒนา รวมถึงการเป็นศูนย์ทดสอบมากขึ้นเพราะไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นแค่อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์
สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีที่ได้มีการเข้ามาหารือแล้วเช่นกัน นายอภิศักดิ์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณียังไม่มีปัญหา แต่หากจะมีมาตรการออกมาก็ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแข็งแกร่งมากขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดนี้ คือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เปรียบในอุตสาหกรรมอัญมณี จึงอาจให้กรมสรรพากรต่ออายุมาตรการภาษีเดิมที่สิ้นสุดลงไปเมื่อสิ้นปี 2557 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มาตรการเดิมคือ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ผู้ประกอบการจด VAT การนำเข้าหรือการขายอัญมณีที่ยังไม่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน รวมถึงการยกเว้นแวตนำเข้าหรือขายทอง ทองคำขาว ทองขาว และพาลาเดียม ที่ยังไม่ประกอบเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณ การยกเว้นภาษีเงินได้ จากการขายอัญมณีที่ยังไม่เจียระไน แต่ไม่รวมถึงเพชร ไข่มุก และสิ่งทำเทียมหรือทำขึ้นใหม่ โดยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1%
จีบนักลงทุนพลิกโฉมประเทศ
นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า ถัดจากนั้นยังจะมีการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจงในซูเปอร์คลัสเตอร์ เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่นประกาศให้พื้นที่นี้เป็นไบโอเมดิคอลฮับ ซึ่งนักลงทุนที่มาไม่ได้มองแค่สิทธิประโยชน์ แต่ต้องมีแฟซิลิตี้อื่น ๆ รองรับ บุคลากรหรือทีมนักวิจัยที่มาอยู่เมืองไทย พื้นที่นั้น ๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับหรือไม่ ตั้งแต่โรงเรียน โรงพยาบาล การคมนาคมเดินทาง สนามบิน เป็นต้น
“การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ต้องทำให้พร้อม ต้องครบวงจร นี่คือแนวคิดใหม่ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะส่งเสริม โดยจะมีการประกาศเขตที่จะได้รับการส่งเสริมด้วยมาตรการพิเศษ เหมือนกับการจีบผู้หญิง ไม่ใช่บอกแค่ว่าผมมีอย่างนี้อยากมาก็มา แต่ต้องไปจีบ เพราะมีคนแย่งกันอยู่ เราต้องเปลี่ยน ต้องไปดึงมาเป็นเซ็กเตอร์ ๆ ไปเลย ถ้าคิดว่าเซ็กเตอร์นั้น ๆ มีความสำคัญกับประเทศ สามารถทำให้ประเทศเราเจริญได้ เราต้องเดินออกไป แล้วดึงเขาเข้ามา”
รมว.คลังยืนยันว่า ก่อนสิ้นปีนี้ จะมีความชัดเจนว่า อุตสาหกรรมใดบ้างที่ประเทศไทยจะส่งเสริมเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ควรมีอย่างไรบ้าง รวมถึงควรจะตั้งอยู่ตรงไหนในประเทศไทย และหลังจากนั้นในปี 2559 รัฐบาลจะออกไปโรดโชว์ เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามา ซึ่งอุตสาหกรรมการบินก็เป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่อยู่ในการพิจารณา รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการหารือกับผู้ประกอบการว่า ไม่ต้องการให้เป็นแค่โรงงานประกอบ แต่ต้องการยกระดับเรื่องการวิจัยพัฒนา และการเป็นศูนย์ทดสอบเกิดขึ้น
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน อีกเรื่องคือการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน หรือระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อทำให้ประเทศมีระบบชำระเงินที่ครบวงจรบูรณาการ ลดการใช้เงินสด เพราะจะเป็นเครื่องช่วยลดการหลีกเลี่ยงภาษีได้เพราะทุกครั้งมีการรูดบัตร ซื้อขายสินค้า ระบบจะสามารถตรวจสอบได้จะเป็นช่องทางการสร้างรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งภายใน 1 เดือนจะเห็นโครงร่างของโครงการนี้ เป็นการขยายฐานภาษีซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการให้ผู้ประกอบการทำบัญชีอย่างถูกต้องเป็นบัญชีเดียว
ฟันธงเศรษฐกิจปีหน้าดีกว่าปีนี้
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ต้องออกมาอย่างต่อเนื่อง และต้องเร่งดำเนินการเพราะรัฐบาลมีเวลาเหลือไม่มาก อย่างไรก็ตามยืนยันว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีนี้แน่นอน ผลจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลดำเนินการไปจะค่อย ๆ ทยอยเห็นผลต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสิ้นปีนี้ ก็จะมีเม็ดเงินจากมาตรการชุดแรก 1.36 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านน่าจะเบิกจ่ายได้หมด 6 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะเบิกจ่ายได้ทั้งหมด ส่วนตำบลละ 5 ล้านบาท อาจจะล่าช้าออกไปบ้าง
“ส่วนนี้น่าจะเป็นตัวที่ช่วยชดเชยส่งออกที่ทรุดได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ยังมีปัญหา มันไม่ง่าย เพราะถ้าง่ายคงไม่ต้องมาอยู่ตรงนี้ แต่เห็นสัญญาณว่าทุกอย่างดีขึ้น รัฐบาลมีความพยายามที่จะทำ ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวย ทำในสิ่งที่เราได้ดีที่สุด แต่สำคัญคือทุกคนต้องรู้สถานการณ์และร่วมมือเพื่อพยายามพยุงและสร้างประเทศขึ้นมาใหม่” นายอภิศักดิ์กล่าวและว่าเนื่องจากกลุ่มที่ประสบปัญหามาก เป็นกลุ่มฐานรากใหญ่ คือ เกษตรกรเจอ 2 เด้ง คือภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กับกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรม ก็เจอปัญหาลดกำลังการผลิต โดนลดโอทีเป็น 2 กลุ่มใหญ่ที่มีปัญหา ทำให้กำลังซื้อในตลาดหายไป ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกจุดที่กระตุ้นลงไป และแก้ปัญหาทุกจุดเพื่อให้ความมั่นใจกลับมา เศรษฐกิจถึงจะกลับมาทุกอย่างก็จะค่อย ๆ กลับมา
พิจารณาภาษีบุคคลธรรมดา
นายอภิศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่ ครม.เพิ่งเห็นชอบให้อัตราภาษีนิติบุคคลอยู่เป็นการถาวร 20% ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชน และสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และต่อไปต้องพิจารณาเรื่องภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันเหลื่อมกับภาษีนิติบุคคลอยู่ ทั้งที่ภาษี 2 ตัวนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะเป็นปัจจัยที่อุตสาหกรรมต่างชาติใช้พิจารณาเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหรือไม่
ปฏิรูป 4 ด้านสร้างฐานราก ศก.
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “Post Forum 2015” ว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลเน้นการออกมาตรการเร่งด่วนชะลอการทรุดตัวทางเศรษฐกิจจาก 2 ปัจจัย คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวลดลง และการส่งออกที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลก และความสามารถในการแข่งขันของไทยเริ่มถดถอย ซึ่งมาตรการที่ออกมาเพียงพอประคับประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ จากนี้ไปจะมุ่งแก้ปัญหาฐานราก เน้นการปฏิรูปสำคัญ 4 ด้าน
- ปรับสมดุลเศรษฐกิจจากเดิมพึ่งพาส่งออก และติดกับประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ต่อไปนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (ประชารัฐ)
- เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการผลิตสินค้าเชิงปริมาณ ราคาต่ำ ไปเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม
- คลัสเตอร์ ต้องสร้าง s-Curve ตัวใหม่ ปรับจากการผลิตสินค้าส่งออกมาเน้นภาคบริการ เช่น ท่องเที่ยว ค้าปลีก และการเงิน
- สร้างความเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์
“นอกจากนี้จะหารือกับกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อให้มีการปฏิรูปตลาดทุนและเร่งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดระบบการเงิน การคลัง และระบบฐานภาษีให้มีมาตรฐานสากล” นายสมคิดกล่าว
มีเวลา 1 ปีเจรจาร่วม TPP
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ไทยสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาผลดี-ผลเสียเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมเจรจาฯ มีเวลาอีก 1 ปีเศษในระหว่างที่ประเทศสมาชิก TPP เตรียมกระบวนการ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ และได้หารือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าไทยควรทบทวนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีทุกฉบับที่เจรจาไปแล้ว (16 ฉบับ) ในเชิงลึก เช่น บริษัทใดใช้ประโยชน์สูงสุด การรวบรวมวิเคราะห์ด้านอื่น ๆ