หลังรอมานาน 7 เดือนในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่19 มีนาคม 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เสนอทั้งหมด 5 แผนหลัก
ประกอบด้วย ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP 2018) ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติพ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) และแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567
หากเปรียบเทียบในรายละเอียดแผน PDP 2018 และ PDP 2018 Rev.1 ไม่ได้มีประเด็นที่ “เหนือความคาดหมาย” (ตามกราฟิก) โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะได้มีโอกาสแจ้งเกิดเสียที
ที่น่าสนใจคือ แผนพลังงานหมุนเวียน ใหม่กำหนดให้เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก มีกำลังการผลิตรวม 18,696 เมกะวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้ 52,894 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศจากแผน AEDP 2015เดิม 20.11% ในปี 2579 เป็น 34.23% ในปี 2580 โดยแบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจาก 6,000 เป็น 9,290 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์จากเดิมที่ไม่มีเลย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ทว่าภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกลับลดลง โดยแผน AEDP 2018 มีกำลังผลิต 18,696 เมกะวัตต์ “ลดลง” จากแผน AEDP 2015 ที่คาดว่าจะมีกำลังผลิตเมื่อสิ้นสุดแผน 19,684 เมกะวัตต์
โดยประเภทเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตลดลง คือ ชีวมวล จาก 5,570 เหลือ 3,500 เมกะวัตต์ พลังงานลม จาก 3,002 เหลือ 1,485 เมกะวัตต์ก๊าซชีวภาพ และก๊าซชีวภาพพืช ลดลงจาก 1,280 เหลือ 1,183 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน จาก 500 เหลือ 400 เมกะวัตต์ขยะอุตสาหกรรมจาก 50 เหลือ 44 เมกะวัตต์ พลังงานน้ำขนาดเล็กจาก 376 เมกะวัตต์ เหลือ 69 เมกะวัตต์ และพลังงานขนาดใหญ่ที่เคยมี 2,906เมกะวัตต์กลายเป็นศูนย์
อีกทั้งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังมีความเห็นว่าการปรับแผนพลังงานหมุนเวียนไม่กระทบต่อ “ความมั่นคง” และการที่จะมีการปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 1,933 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2563-2567 จะมีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมอย่าง “เลี่ยงไม่ได้” ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนควรพิจารณาด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลาที่เหมาะสม
แต่หากเทียบในส่วนของพลังงานหมุนเวียน PDP 2018 Rev.1 ที่ร่างในสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงานดีกว่า PDP 2018 เพราะพยายามผลักดันพลังงานหมุนเวียนทั้งให้โควตามากขึ้น และเร่งให้เร็วขึ้น แต่ด้วยภาพรวมพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกลดลงเสมือนเค้กเล็กลง จึงจะเห็นการแบ่งชิ้นเค้กในสัดส่วนที่เล็กลงด้วย แต่การที่ ครม.พิจารณาครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวย่างที่ดีที่ฝ่ายนโยบายให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่รอกันมาเกือบปีก็จะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวก็จะถูกใช้แค่ 1 ปี เพราะกระทรวงพลังงานกำลังยกร่างแผน PDP ฉบับใหม่โดยจะราวนด์อัพผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อให้ค่าพยากรณ์ สอดรับกับภาวะปัจจุบันมากขึ้น และลดปัญหาปัจจุบันที่ไทยปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นมากด้วย
Source : ประชาชาติธุรกิจ