กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

24 พฤษภาคม 2561

เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซเข้าร่วมขบวนเรือประมงพื้นบ้านรวมกว่า 100 ลำ บริเวณตือโละปาตานี อ่าวเทพา จ.สงขลา ประกาศเจตนารมณ์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินและรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล เครือข่ายชุมชนผนึกภาคประชาชนสงขลาปัตตานีจัดกิจกรรมใหญ่กลางทะเล เรียกร้องยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.ปากบาง อ.เทพา กรีนพีซเผยที่มาโรงไฟฟ้าคืนชีพ รมว.พลังงานลงนามแต่งตั้งคณะศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมชุดใหม่ จากนักวิชาการเป็นกลาง เป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด การพิจารณาให้ก่อสร้างจึงกลับมา

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ข้างเกาะขาม อ่าวเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรือ “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” ซึ่งเป็นเรือสัญลักษณ์ของกรีนพีซ องค์การสาธารณประโยชน์นานาชาติที่ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ เดินทางมาถึงบริเวณอ่าวเทพา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ตือโละปาตานี เพื่อเข้าร่วมกับเรือประมงพื้นบ้านจำนวนประมาณ 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง จ.สงขลา โดยเรือประมงพื้นบ้านได้จัดวางภาพวาดบนผืนผ้าขนาด 30×30 เมตรบนพื้นผิวทะเลบริเวณใกล้เกาะขาม เป็นภาพตัวละครในหนังตะลุงพร้อมข้อความ “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” (หมายถึง ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล) เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านถ่านหินและเทใจให้ทะเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการทำกิจกรรม นายรุ่งเรือง ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ “อะโบ๊ยหมะ เทใจให้ทะเล” บนเรือเรนโบว์ สรุปความว่า ท่ามกลางการพัฒนาที่ล้างผลาญ ทะเลคือส่วนหนึ่งของการถูกกระทำให้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว การมาถึงของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งของคนในพื้นที่สงขลา-ปัตตานี

คำประกาศระบุว่า ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่แห่งนี้มีสำนึกปกป้องทะเลอย่างเต็มเปี่ยม ร่วมกันทำปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ฟูมฟักสัตว์น้ำวัยอ่อน ใช้อวนตาใหญ่ขึ้น เพื่อจับแต่สัตว์น้ำที่โตเต็มวัย พยายามส่งเสียงให้จำกัดหรือหยุดการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง รวมทั้งยังพยายามเก็บขยะจากทะเลที่มาเกยริมชายหาด เพื่อไม่ให้ลงไปในทะเลอีก พยายามทำการตลาดและขนส่งปลาปู กุ้ง หอย หมึกกั้งสดๆ จากทะเลไปสู่ ผู้บริโภคโดยไม่ต้องใส่สารเคมีใดๆ ความพยายามเหล่านี้กำลังเติบโต ทะเลกำลังฟื้นตัว ทะเลคือธนาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ต้องมีใครเลี้ยง ไม่ต้องให้อาหาร ต้อนรับทุกคนที่มีแรงมาลงเรือทำการประมงโดยไม่ต้องมีวุฒิ ขอเพียงแต่ให้มีสำนึกของการอนุรักษ์ ปลา ปูกุ้ง หอย หมึก กั้งลัตว์ทะเลอื่นๆ กำลังค่อยๆ เพิ่มจำนวน ทะเลจึงกลายเป็นความหวังไม่เฉพาะของชุมชนชาวประมง แต่รวมถึงของคนทั้งโลก และนี่คือทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำประกาศเจตนารมณ์ “อะโบ๊ยหมะ เทใจให้ทะเล” ระบุด้วยว่า แต่ในท่ามกลางสถานการณ์การฟื้นตัวของทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ไปจนถึงปลายแหลมตาชี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กลับมีความเสี่ยงที่ทะเลแถบนี้จะถูกคุกคามอย่างรุนแรง นั่นคือการคุกคามจากโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำร้ายไม่เฉพาะทะเล แต่จะทำลายชุมชน ทำลายผืนดิน สายน้ำ และอากาศด้วย

ด้าน น.ส.สุกัญญา หัดขะเจ เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา และโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา คือ 2 โครงการหายนะที่รัฐบาลพยายามผลักดัน หากสำเร็จ ประกอบกับโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซียและโรงไฟฟ้าจะนะที่เดินเครื่องไปก่อนแล้ว การตามมาของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หายนะจะคืบคลานมาสู่พื้นแผ่นดิน สายน้ำและทะเลอย่างยากที่กู้กลับคืนมา

น.ส.สุกัญญากล่าวว่า การรวมตัวของ พี่น้องประมงพื้นบ้านในพื้นที่จะนะ เทพา และปัตตานีในวันนี้ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชน นักพัฒนาเอกชน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่หวังเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องการสานพลังความเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น และร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร ฐานชีวิตของผู้คนให้พ้นจากหายนะจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่สุขสงบและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เราทั้งหลายขอประกาศว่า จะร่วมกันปกป้องทะเลอันอุดม อากาศที่บริสุทธิ์ แผ่นดินที่สมบูรณ์ และวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่สุขสงบแห่งนี้ ให้ปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และโครงการขนาดใหญ่ใดๆ ที่ชุมชนไม่ต้องการ เราจะสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน สังคมที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง สังคมที่ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง มีสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง เพื่ออนาคตของเราเอง ของลูกหลาน ของพืชและสัตว์นานาชนิด รวมถึงของโลกที่ต้องการความยั่งยืนด้วย

น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา ช้ากว่ากำหนดเดิมไป 3 ปี โดยสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ย้อนไปเดือนก.ค.2558 ชุมชนที่คัดค้านโครงการถูกกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยวางกำลังเจ้าหน้าที่ป้องกันกว่า 1,500 นาย ไม่กี่วันหลังจากนั้น มีการประกาศว่าขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนได้เสร็จสมบูรณ์และริเริ่มกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ต่อจากนั้น บริษัทที่ปรึกษาของโครงการซึ่งว่าจ้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรวบรวมรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา

น.ส.จริยากล่าวต่อไปว่า ในเดือนส.ค. 2560 เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนั่งประท้วงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร หลังจากที่รายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการอนุมัติ 3 เดือนหลังจากนั้น เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกิจกรรมเดิน “เทใจให้เทพา” เป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร เพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกเลิกโครงการ ท้ายที่สุด ผู้ร่วมเดินเทใจให้เทพาถูกจับกุม 16 คน

ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีน พีซ กล่าวอีกว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชุมชนจากพื้นที่ตือโละปาตานีและกระบี่ ในนามเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน สั่งยกเลิกรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ และตกลงที่จะให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยจะต้องจัดทำด้วยนักวิชาการที่มีความเป็นกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน และหากการศึกษาชี้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่เหมาะสม กฟผ. ต้องยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 พื้นที่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน

น.ส.จริยากล่าวว่า แต่การดำเนินการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งอีกครั้ง เนื่องจาก รมว.พลังงานลงนามแต่งตั้งคณะศึกษาใหม่ มีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น การพิจารณาให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้จึงกลับมาอีกครั้ง