กฟผ.เตรียมหารือ ผู้มีส่วนได้เสีย วางโมเดลผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นใน 8 ภูมิภาค ตามกรอบ แผนพีดีพีฉบับใหม่ พร้อมลงนาม “เอ็มโอยู” ร่วมกับไออีเอ–ม.ฮาวายศึกษาแนวทางปรับตัวรับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่จะแบ่งกำลังผลิตไฟฟ้า ออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1.โรงไฟฟ้าเพื่อความ มั่นคง และ 2.โรงไฟฟ้าเพื่อการแข่งขัน โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ที่กฟผ.ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงพลังงานให้ไปกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมนั้น กฟผ.จะต้องมีการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเช่นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นต้น
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่กำลังพิจารณาจะต้องรองรับ ความต้องการใช้ไฟฟ้าใน 8 ภูมิภาคและโรงไฟฟ้าที่จะต้องตอบโจทย์เทคโนโลยีใหม่ๆรวมถึงต้องเชื่อมโยงสายส่งให้กับกับภูมิภาคซึ่งในแต่ละภาคจะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน
“ยังไม่สามารถตอบได้ว่า สัดส่วน กำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของ กฟผ.ควรมีกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในกฎหมาย รัฐธรรมนูญเองก็ยังตีความได้ 2 ส่วน คือส่วนที่ระบุว่า อะไรที่เป็นสาธารณูปโภค พื้นฐานรัฐถือครองได้50% ส่วนที่เป็นกิจการทั่วไปรัฐไม่ควรแข่งกันเอกชน ดังนั้นยังเป็นประเด็นที่ต้องหารือกันต่อไป” นายพัฒนากล่าว
นอกจากนี้ กฟผ.ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) และมหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานศึกษาสภาพระบบไฟฟ้าของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหากมีพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบมากขึ้น เช่น กรณีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบ 10-30% จะมีผลกระทบอย่างไร ระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ(Power Grid)จะต้องเป็นระดับใดเป็นต้น
สำหรับความร่วมมือนี้ดำเนินการเพื่อเป็นแนวทางการสนับสนุนพลังงานทดแทนต่อไป โดยคาดว่ารายละเอียดชุดแรกจะเสร็จปลายปีนี้ และรายละเอียดเจาะลึกข้อมูลต่อไปจะเสร็จในปลายปี 2562 โดยจะนำผลการศึกษาดังกล่าวจะนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผน พีดีพีฉบับใหม่ด้วย
แหล่งข่าว : กรุงเทพธุรกิจ