นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ กระทรวงพลังงานจะจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษชนิดบี20 เป็น ครั้งแรก โดยจะจำหน่ายให้แก่ผู้ค้าน้ำมัน 7 ราย เช่น บางจาก ปตท. ไทยออยล์ ซัสโก้ และไออาร์พีซี เป็นต้น เพื่อให้บริการแก่ ผู้ประกอบการขนส่ง 24 รายและทดลองใช้ในเรือด่วนเจ้าพระยา
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักเพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ส่วนเกิน ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในระดับไม่ต่ำกว่า 3.50 บาท/กก. และลดภาระค่าใช้จ่ายของกิจการรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ ด้วยการกำหนดให้ราคาขายปลีกบี20 ถูกกว่าดีเซลเกรดปกติ 3 บาท/ลิตรโดยใช้กลไกด้านภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุน
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในระยะแรกที่น้ำมันออกจำหน่ายจะมีความต้องการใช้บี20 เฉลี่ย 1.5 ล้านลิตร/เดือน จากผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถโดยสารประมาณ 8.8 แสนคันทั่วประเทศ คิดเป็นการใช้เงินอุดหนุนประมาณ 4.8 ล้านบาท/เดือน โดย กบง.จะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3,000 ล้านบาท อุดหนุนในช่วงแรก แต่ประเมินแล้วว่ามีความคุ้มค่า เพราะจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มสำหรับผลิต บี20 ได้เพิ่มอีก 3-4 แสนตัน/ปี จากซีพีโอ ทั่วประเทศที่มีประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี
“บี20 ที่ออกมานี้ได้รับการตรวจมาตรฐานแล้วจากกรมธุรกิจพลังงานว่า เหมาะสมที่จะใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยเป็นไปตามมาตรฐานยูโร 4 แต่ยังไม่เหมาะจะใช้ในรถกระบะ” นายศิริกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยืนยันยังไม่มีแนวคิดนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันมาอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ซึ่งก่อนหน้านี้มีการใช้เงินในบัญชีแอลพีจีอุดหนุนไปแล้วกว่าเดือนละ 300 กว่าล้านบาท ส่งผล ให้เงินกองทุนในส่วนของบัญชีแอลพีจีเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งกบง.อยู่ระหว่างหารือแนวทางที่จะเข้ามาดูแลราคาแอลพีจีให้มากขึ้น
แหล่งข่าว : โพสต์ทูเดย์
กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณพร้อมต่ออายุ SPP ที่จะหมดอายุให้ทุกราย 3 ปี ตามสัญญาเดิม แต่หลังจากนั้นจะรับซื้ออย่างไรเตรียมนำเข้าหารือใน กบง. 4 ก.ค.นี้
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การพิจารณาแนวทางรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ระบบโคเจนเนอเรชั่น ที่จะหมดสัญญาในช่วงปี 2560-2568 นั้นจะให้ทุกรายได้สิทธิ์เหมือนกัน คือจะได้รับการต่ออายุ ในปริมาณรับซื้อเท่าเดิมไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ต่ออายุออกไปอีก 3 ปี นับจากวันสิ้นสุดสัญญาจากนั้นจะมีการรับซื้ออย่างไรจะมีการพิจารณารูปแบบที่ชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 4 ก.ค.
“หลังหมดสัญญารูปแบบจะแตกต่างไปจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดิมแน่นอน ซึ่ง SPP ทุกรายได้สิทธิ์เช่นเดียวกัน คือ ซื้อเท่าเดิมต่ออายุ 3 ปีหลังหมดสัญญา หลังจากนั้นจะรับซื้อใหม่รูปแบบใดกำลังพิจารณาความเหมาะสม ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นรูปแบบ SPP Power Pool แต่อย่างใด” นายศิริกล่าว
แหล่งข่าว ผู้จัดการรายวัน360องศา