คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เตรียมหารือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภายในเดือนเม.ย.2563 เกี่ยวกับแผนเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าลดต่ำ สำรองไฟฟ้าพุ่งเกิน40% ในขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาวโดยการปรับแผน PDP2018 ใหม่อีกรอบหลังจากที่มีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1ไปแล้วนั้น ทาง กกพ.พร้อมรับนโยบายและให้ความเห็นตามกฎหมายต่อไป
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อปรับแผนการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ หลังพบการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมีผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้นและกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนต้องแบกรับภาระมากขึ้น
โดยขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมเสร็จในสัปดาห์นี้ และจะได้ทราบข้อมูลว่า การใช้ไฟฟ้าของกลุ่มใดลดลงและกลุ่มใดสูงขึ้น เบื้องต้นคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมจะใช้ไฟฟ้าลดลงและกลุ่มครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนแล้วจะประชุมร่วมกับ กฟผ. เพื่อวางมาตรการปรับแผนการสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าใหม่ ว่าควรปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใด และปริมาณเท่าไหร่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น โดยคาดว่าจะประชุมร่วมกับ กฟผ.ได้ภายในเดือนเม.ย. 2563 นี้
ส่วนกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)อาจจะเสนอปรับ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018)อีกรอบ หลังสถานการณ์ปัญหา COVID-19คลี่คลาย เพื่อให้การวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าในระยะยาวสอดคล้องกับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าไว้ล่วงหน้าเกินความจำเป็นจนเกิดปัญหาสำรองไฟฟ้าสูง เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ากับประชาชน นั้น นายคมกฤช กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ยังไม่ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าว แต่หากกระทรวงพลังงานมีนโยบายปรับแผนPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้อีกครั้ง ทาง กกพ.ก็พร้อมให้ความเห็นตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตามเห็นว่า ช่วงระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงในระบบ กกพ.จะหารือกับกฟผ.เพื่อปรับแผนการสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อน ซึ่งสามารถขอความร่วมมือโรงไฟฟ้าบางโรงที่มีต้นทุนสูงให้ชะลอหรือหยุดผลิตไฟฟ้าได้ และจะเห็นผลด้านปริมาณไฟฟ้าให้มีการผลิตเหมาะสมกับการใช้ในระยะที่เกิดปัญหา COVID-19 ได้รวดเร็วกว่าการปรับแผน PDP ที่เป็นแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนเป็นส่วนใหญ่
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงมาก จนปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบพุ่งสูงเกินกว่า 40% ในปี2563 นั้น มีทางเลือกในการแก้ไข คือ จัดเตรียมหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และการ shutdown โรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำ แต่มีค่าความพร้อมจ่าย (Availablity Payment -AP)ในอัตราที่สูง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณสำรองลง และลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องจ่ายให้ได้มากที่สุด โดยสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงให้เต็มกำลังการผลิตเพื่อให้ได้การผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ แต่ยังสามารถรักษาความมั่นคงของระบบเอาไว้ได้ และชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบในระยะสั้นออกไปก่อน
Source : energynewscenter.com