เมื่อนโยบายพลังงานไฟฟ้า&พลังงานทดแทน ในประเทศเคลื่อนช้า- นโยบายเปลี่ยน วิกฤติโควิด ดันสำรองไฟเพิ่ม ทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มกำลังไฟฟ้าลดลง ผลักดันให้เหล่า ‘ขาใหญ่ธุรกิจไฟฟ้า’ เบนเข็มหาแหล่งสร้างเงินใหม่หนึ่งใน ‘ดาวเด่น’ ยกให้ ‘เวียดนาม’ !
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศชะลอตัว ประเมินจากปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าลดลง ประกอบกับการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ย่อมสั่นคลอนนโยบายพลังงานของประเทศ
เหล่านี้ เป็นเหตุผล ‘กดดัน’ ให้ ‘อุตสาหกรรมพลังงานโรงไฟฟ้า และ พลังงานทดแทน’ ของไทยชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนนโยบายพลังงานของประเทศ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทยหลายราย จำเป็นต้องมองหาแหล่งทำเงินแห่งใหม่ โดยเฉพาะ ‘เวียดนาม’ ที่กลุ่มทุนไทย ประกาศขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทั้งโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ในประเทศแห่งนี้
โดย ‘จุดเด่น’ ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขยายการลงทุนเข้าไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากเศรษฐกิจเวียดนามที่มีอัตราขยายตัวสูงในปีนี้ บ่งชี้ผ่าน ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี’ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ ‘ราว 3-4%’ จากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปขยายการลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนาม ยังสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าจากต่างชาติ เพื่อจะได้มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียง 2-3% ในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะติดลบ 8-9% ตามคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฉุดความต้องการใช้ไฟฟ้า
สอดคล้องกับ ‘อาทิตย์ เวชกิจ’ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการขยายการลงทุนไปยังเวียดนาม เกิดจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่องหลายปี ยิ่งเผชิญปัญหาโควิด-19 ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยยังสูง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานถึง 3 คน ในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เช่น การแก้ไขแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ยังค้างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาเป็นระยะเวลานานแล้ว
สะท้อนผ่าน ‘6 เอกชนไทย’ ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ที่เร่งสยายปีกขยายการลงทุนเข้าไปในเวียดนาม ได้แก่ บมจ. บี.กริม พาวเวอร์ หรือ BGRIM , บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF , บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น หรือ SUPER , บมจ. ราช กรุ๊ป หรือ RATCH , บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP, บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP
ตารางผลประกอบการ 6 บจ.
ก่อนหน้านี้ ‘บี.กริม’ มีโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่เวียดนาม 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 677 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และคาดว่าจะทำโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาด 3,000 เมกะวัตต์ ใกล้นครโฮจิมินห์
‘กัลฟ์’ ได้เริ่มเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม กำลังการผลิต 460 เมกะวัตต์ ในปี 2561 โดยเมื่อเดือนธ.ค. 2561 ยังได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเวียดนามเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ร่วมกับสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ขนาดกาลังการผลิตประมาณ 6 ล้านตันต่อปี ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลกาน้า (Ca Na) อำเภอ ถ่วนน่าม (Thuan Nam) จังหวัด นิ่งห์ถ่วน (Ninh Thuan) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม
‘ซุปเปอร์’ ปัจจุบันมีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในเวียดนาม รวม 1,457.72 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโซลาร์ฟาร์ม 1,036.72 เมกะวัตต์ และวินด์ฟาร์ม 422 เมกะวัตต์
‘ราช กรุ๊ป’ คืออีกหนึ่งแห่งที่เบนไปลงทุนในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ผ่าน บริษัทย่อย อย่างบริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่น (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น หรือ RHIS ด้วยสัดส่วนการลงทุน 51% โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมติดตั้งบนบก ขนาดกำลังการผลิต 29.70 เมกะวัตต์ มีเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 45 ล้านดอลลาร์ คาดจะจ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือน ก.ย. 2564
ล่าสุด ราช กรุ๊ป ยังลงนามสัญญาความร่วมมือการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ 1 ใน เวียดนาม ร่วมกับบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO โดยมีสัดส่วนการถือห้น 30% ,40% และ 30% ตามลำดับ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ 1 เป็นโครงการที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,320 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าเวียดนาม ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา และการเจรจาสัญญาหลักของโครงการ โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2568
ฟาก ‘บ้านปู’ ให้บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ BANPU และ BPP ถือหุ้น 50% ไปซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม EI Wind Mui Dinh ขนาด 37.6 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ด้วยเงินลงทุน 2,065 ล้านบาท และจะรับรู้รายได้ทันที เพราะโรงไฟฟ้าแห่งนี้ COD ตั้งแต่เดือน เม.ย.ปี 2562
ก่อนหน้านี้ บ้านปู ได้ลุยพลังงานลมขนาด 200 เมกะวัตต์ มาแล้ว และจะเริ่ม COD เฟสแรกในปี 2564 และยังคงมองหาการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ตามเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
เอกชนไทยลงทุนพลังงานไฟฟ้าเวียดนาม
สอดคล้องกับ ‘วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP เล่าให้ ‘กรุงเทพธุรกิจ BizWeek’ ฟังว่า ปีหน้านับตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นไป จะเห็นภาพของ ‘เอกชนไทย’ ที่เข้าไป ‘ลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้า’ จะเริ่ม COD จำนวนหลายเมกกะวัตต์เข้าในระบบตามสัญญาในแต่ละโครงการ
‘บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น’ คืออีกหนึ่งบริษัทที่ลุยพลังงาน ตั้งแต่โครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศ ณ จังหวัดลพบุรี ขยายไปยังต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีความสนใจการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยมองว่า เวียดนามกำลังเป็นประเทศที่ ‘หิวพลังงานไฟฟ้า’ เพราะพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ (ดีมานด์) สะท้อนผ่านจีดีพีเวียดนามที่เติบโตต่อเนื่อง แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จีดีพีเวียดนามยังเติบโต 3-4% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
สอดคล้องกับปัจจุบันที่เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในแง่การลงทุนพลังงานทดแทน จากเดิมที่เป็นของเมืองไทย! ฉะนั้น มีโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกมากทั้งพลังงานลมและโซลาร์ฟาร์ม ตามแผนพลังงานลมของรัฐบาลเวียดนาม วางกำลังผลิตไว้ที่ 5,000-7,000 เมกะวัตต์
โดยในเวียดนาม บริษัทได้เข้าไปลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม Binh Nguyen ขนาด 40 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งปีนี้เพิ่งจะรับรู้รายได้เต็มปี อีกทั้งศึกษาเข้าลงทุน ‘โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เฟส 2’ และเตรียมโครงการพลังงานลมเพิ่มอีกรวม 100-200 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก หรือ SSP ยังมี ‘โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม’ ในเวียดนาม กำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และบริษัทได้รับสัญญา PPA แล้ว กำหนด COD กลางปี 2564 รวมทั้งหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานงานทดแทนอื่นๆ ในต่างประเทศเพิ่ม เพื่อเข้ามาช่วยเสริมฐานธุรกิจและทำให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 400 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568)
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในมองโกเลีย ซึ่งจะหนุนผลการดำเนินงานในปี 2563 ให้เติบโต ‘สร้างสถิติสูงสุดใหม่’ ถือได้ว่าปีนี้ที่ดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1 โครงการ และมีโครงการที่เตรียมขอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า 1 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 48 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการที่กำลังก่อสร้าง จำนวน 26 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 3 ปี 2564
ส่วนโครงการที่กำลังขอใบอนุญาต มีกำลังผลิต 22 เมกะวัตต์ คาดชัดเจนในครึ่งหลังของปีนี้ อีกทั้งบริษัทเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม กำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ เดือนส.ค.ที่ผ่านมา และคาดจะ COD ได้ในเดือนต.ค. 2564
เขา ยังย้ำว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ‘ลดลง’ ฉะนั้น แผนนโยบายด้านพลังงานที่วางไว้ต้องปรับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพลังงาน
‘การระบาดโควิด-19 ทำให้แผนพลังงานไทยชะลอ แต่ในส่วนของเราไม่ได้รับกระทบทั้งรายได้-กำไร เพราะมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบคือการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ อาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากเดินทางไม่ได้’
สำหรับนโยบายพลังงานในไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนต.ค.2563 ซึ่งขณะนี้นโยบายยังไม่ชัดเจนทำให้ภาคเอกชน ลงทุนยังไม่ได้
วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์
สำหรับโครงการในอนาคตที่อยู่ระหว่างการศึกษาในไทย คือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งกำลังรอนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ สนใจที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าไบโอแมส และโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งต่างจากประเทศเวียดนาม ก็จะมีการเปิดประมูลโครงการพลังงานอย่างชัดเจน สะท้อนมีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในพลังงานลมในเวียดนามจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีตั้งแต่ไปประมูลตั้งแต่เริ่มต้น และเข้าไปซื้อโครงการที่ลงทุนเรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันบริษัทก็ยังศึกษาลงทุนในพลังงานทดแทนแบบอื่น เช่น พลังงานชีวะมวล และพลังงานโรงไฟฟ้าขยะ (RDF) เนื่องจากเป็นพลังงานที่ได้ค่าไฟฟ้าสูงกว่า ซึ่งตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างมองการลงทุนพลังงานทดแทนในต่างประเทศอีก เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา ลาว เป็นต้น
‘เราถือว่าโชคดีที่อยู่ในธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ปลอดภัย ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบหนักถึงทำให้บริษัทขาดทุน’
อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่าโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามแผนอยู่ในขณะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุน แต่มีแผนศึกษาที่จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) หรือรีไซเคิลโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นบางโครงการที่มีอยู่ เพื่อระดมทุนรองรับแผนระยะยาวอีก 200 เมกะวัตต์
โบรกฯมองปี 2564
กำลังผลิตไฟโงหัว
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) บอกว่า หุ้นใน ‘กลุ่มโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน’ ถือว่าเป็นหุ้น Defensive Stock คือ หุ้นเชิงรับ ที่ทนทานต่อสภาวะตลาดในทุกสภาพ ไม่ว่าตลาดจะดีหรือแย่ สะท้อนผ่านการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบไม่มากเหมือนธุรกิจอื่นๆ โดยหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้ามี key catalysts ใหม่รออยู่คือ พัฒนาการโครงการในต่างประเทศ ยิ่งเฉพาะในเวียดนาม จากช่วงที่ผ่านมาเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าหลายราย โดยคาดว่าในปีหน้า จะมีการจ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ ( COD ) เข้ามาในระบบหลายเมกะวัตต์
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบีเคย์เฮียน มองว่า ‘กลุ่มโรงไฟฟ้า’ จะเริ่มมีปัจจัยหนุนเข้ามาในช่วง 6–12 เดือนข้างหน้า จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาต้นทุนที่ลดลง และการซื้อกิจการเพิ่มเติม โดยเฉพาะกำลังการผลิตใหม่ที่บริษัทเข้าไปลงทุนจะเริ่มเก็บเกี่ยวดอกผลแล้ว
โดยปรับคำแนะนำกลุ่มเป็นมากกว่าตลาด โดยให้ ‘หุ้น GULF’ เป็นหุ้นเด่น สะท้อนผ่านการที่บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ , อังกฤษ , เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างจ่ายไฟเข้าระบบเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้เข้ามาได้ทันที และจะต้องให้ผลตอบแทนของการลงทน (IRR) ที่ระดับตัวเลข ‘สองหลัก’
โดยฐานรายได้ของบริษัทจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ทยอยจ่ายไฟเข้าระบบตามแผน เช่น ในปีนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เยอรมนี กำลังผลิต 465 เมกะวัตต์ และในปี 2564-2565 โรงไฟฟ้า IPP กัลฟ์ ศรีราชา ขนาดกำลังผลิต 2,650 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟเข้าระบบ ประกอบกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามจำนวน 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 228 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 326 เมกะวัตต์ ที่โอมาน โครงการที่ร่วมทุนกับมิตชุย เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโครงการ One Bangkok เฟส 1
ขณะเดียวกันในปี 2568 บริษัทจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG ที่เวียดนาม ขนาดกำลังผลิต 6,000 MW และในปี 2570 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าบูรพา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ และรับรู้รายได้จากคลังเก็บก๊าซ LNG ในโครงการมาบตาพุด เฟส 3
Source : กรุงเทพธุรกิจ