กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

9 มีนาคม 2561

ส.อ.ท.หนุน ก.พลังงานรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเสริมความมั่นคงพื้นที่ภาคใต้ 300 เมกะวัตต์ แนะเปิดประมูลรูปแบบ hybrid firm และไม่ควรจำกัดประเภทเชื้อเพลิง ใช้เวลาพัฒนาแค่ 2 ปี เชื่อราคาค่าไฟฟ้าถูก-นักลงทุนแห่ประมูล

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 300 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า ในช่วงที่ต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา รวม 2,800 เมกะวัตต์ ประมาณ 5 ปีนั้น ในการประชุมของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีความเห็นว่า ขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าว พร้อมทั้งขอเสนอความเห็นว่า

1) ก.พลังงานควรเปิดรับซื้อไฟฟ้าโดยใช้วิธีเปิดประมูล (bidding) ในรูปแบบ hybrid firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

2) ควรเปิดกว้างประเภทเชื้อเพลิง เพราะพื้นที่ภาคใต้มีศักยภาพหลากหลาย ทั้งประเภทชีวมวล, ไบโอก๊าซ, โซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) และ 3) ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ทั้งนี้หากมองในแง่ของการพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยใช้เวลาน้อยที่สุด โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนน่าจะตอบโจทย์ที่สุด เพราะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ2 ปีเท่านั้น ในส่วนของปริมาณเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นไม้ยางพาราหรือกะลาปาล์ม ฯลฯ มีการประเมินเบื้องต้นแล้วว่า สามารถรองรับการผลิตที่ 300 เมกะวัตต์ได้

“เชื่อมั่นว่าหากภาครัฐใช้วิธีเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนน่าจะมีความคล่องตัวในการพัฒนาโครงการมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้วิธีการประมูล ก็จะได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งพิสูจน์ได้จากการเปิดประมูลในโครงการ SPP Hybrid Firm ในช่วงปี”60 ที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง และพื้นที่ภาคใต้ก็จะมีความมั่นคงทางไฟฟ้าไม่เสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าตกหรือดับอีกด้วย”

นายสุวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าภาครัฐจะกำหนดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นพื้นที่พัฒนาโรงไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความกังวลต่อปัญหาความไม่สงบนั้น แต่ผู้ประกอบการมองว่า ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน เนื่องจากภาคเอกชนสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ บริหารความเสี่ยงได้ เช่น อาจจะต้องเพิ่มค่าประกันความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงการได้รับการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการการลงทุน (BOI) ส่งผล

ให้พื้นที่ดังกล่าวน่าสนใจเข้ามาลงทุน ยกตัวอย่างการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้ามากกว่า 200 บริษัท ในขณะที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าจำกัด ส่วนในประเด็นความพร้อมของระบบสายส่งในพื้นที่นั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประเมินความพร้อมของสายส่งให้ชัดเจนว่าสามารถรองรับกำลังผลิตใหม่ได้ที่ระดับใด ซึ่งจะยิ่งทำให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าดำเนินการได้เร็วขึ้น

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ภายหลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเลื่อนออกไปนั้นจึงต้องดำเนินการใน 2 แนวทางคือ เพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูง เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ในปัจจุบันคือโรงไฟฟ้าขนอมและจะนะ และพัฒนาระบบสายส่งและพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เข้าระบบ 300 เมกะวัตต์

แหล่งข่าว : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/economy/news-125177