กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

6 ตุลาคม 2562

“สนธิรัตน์” เผยเอกชนแสดงความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเบื้องต้นระดับ 1,000 เมกะวัตต์ แตะ 1-2 แสนล้านบาท มั่นใจช่วยยกระดับ ศก.ฐานราก พร้อมลุยต่อยอดพืชน้ำมันในส่วนเอทานอล ดันไทยศูนย์กลางเทรดเดอร์ไฟฟ้าภูมิภาคเพิ่มขีดแข่งขันให้กับภาค ศก.

วันนี้(23 ก.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา The Next Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก จัดโดย ibusiness.co และ ธนาคารกรุงไทย ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ว่าพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญมากในโลกอนาคต เพราะจะเป็นพลังงานสำคัญในเศรษฐกิจ ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า ความมั่นคงของไฟฟ้าเป็นหัวใจที่จะต้องดูให้ดี เพราะโลกข้างหน้าใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักมากขึ้น

ประเทศไทยมี Surplus of supply ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณกว่า 30 % ของความต้องการใช้งาน แต่โชคร้ายก็คือ ต้นทุนไฟฟ้ายังแพง เมื่อเทียบกับเวียดนาม ต้นทุนไฟฟ้าเรายังแพงอยู่ เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าราคาถูก เช่น นิวเคลียร์ ถ่านหิน ไม่สามารถใช้ได้ เหลือเฉพาะไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นแหล่งใหญ่ แต่ก่อน กฟผ.เป็นผู้ผลิต ซึ่งเพียงพอ วันนี้ไฟฟ้าพลังน้ำแหล่งใหญ่อยู่ที่ประเทศลาว

รัฐบาลได้มอบหมายให้ กฟผ.ในการผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในการซื้อขายไฟฟ้าภูมิภาคอาเซียนหรือเทรดเดอร์ โดยอาศัยศักยภาพสายส่งและที่ตั้งของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาที่จะซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพื่อจำหน่ายไปยังพม่า และกัมพูชา เพื่อสร้างความมั่นคง เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ขาดแคลนไฟฟ้าขณะที่ สปป.ลาวมีไฟฟ้าที่มากพอ ขณะเดียวกัน ยังมองถึงการร่วมมือกับมาเลเซียที่จะเชื่อมโยงไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านไฟฟ้ามากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย

ประเทศไทยมีจุดแข็ง เรื่องที่สอง เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำได้หลายอย่าง อาหาร เพื่ออุตสาหกรรม แต่ตัวหนึ่งที่ใหญ่มาก และเป็นโอกาสทางธุรกิจ คือการเอาเกษตรมาทำเป็นพืชพลังงานดังนั้น กระทรวงพลังงานจะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ปัญหาในระยะสั้น ให้ภาคการเกษตรกลับมาโดดเด่นในเรื่องของพืชพลังงาน

ขณะนี้ ทำอยู่ 2 มิติใหญ่ๆ คือ มิติแรก เอาพืชพืชพลังงานมาเป็น bio fuel ตัวอย่างสำคัญคือ กรณีของไบโอดีเซล ที่เราเอาซีพีโอของปาล์มน้ำมันมาผสม ที่เรียกว่า บี 7 บี 10 บี 20 บี 100 ไบโอดีเซลจะถูกปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ 1 มกราคมนี้ โดยการประกาศใช้ปรับบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของไบโอดีเซลทั้งระบบ และให้บี 7 และบี 20 เป็นน้ำมันทางเลือก และหลังจากนี้จะมองไปที่เอทานอลที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลและมันสำปะหลัง

นั่นคือการเอาพืชเกษตรกลับมาพลิกให้เกิดความแข็งแรง ธุรกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรที่เป็นพืชพลังงานจะถูกกระทบกับนโยบายรัฐบาลนี้ ค่อนข้างเยอะ เพราะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในการเอาพืชพลังงานนั้น มาใช้เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำของประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งฐานรากขึ้นมา ด้วยการใช้พืชพลังงานแก้ปัญหา

อีกด้าน คือโครงการพลังงานชุมชนผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะทำงานเชื่อมต่อกับโครงการประชารัฐสร้างไทย โดยรูปแบบโรงไฟฟ้าเบื้องต้นจะเป็นแบบผสมผสาน (ไฮบริด) ระหว่างเชื้อเพลิงที่มาจากวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ การส่งเสริมปลูกพืชพลังงานหรือโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าชีวภาพ กับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) รวมถึงโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เบื้องต้นมีเอกชนสนใจเป็นอย่างมากคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนระดับ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะแล้วเสร็จใน 2 เดือนนี้

“นี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ซึ่งรูปแบบคือ หนึ่งชุมชน หนึ่งโรงไฟฟ้า ชุมชนจะมีส่วนเป็นเจ้าของและเอกชนจะเข้ามาร่วมทุนด้วยแต่สัดส่วนจะเป็นอย่างไรขอเวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเอกชนติดต่อแสดงความสนใจลงทุนเข้ามามาก เรามองแค่ 1,000 เมกะวัตต์ก็จะลงทุนระดับแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งผมมองว่ามากกว่านั้นเพราะเราไม่ได้มองจำนวนเมกะวัตต์แต่เรามองศักยภาพของชุมชน ส่วนอัตราค่าไฟที่จะสนับสนุนอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกัน โดยเราวางเป้าหมายที่จะให้เกิดแบบ Fast Track ปี 2563 น่าจะได้เห็นบางส่วนเกิดขึ้น” นายสนธิรัตน์กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่เน้นไฮบริดโดยให้สามารถนำโซลาร์ฯ มาผสมผสานเพราะต้นทุนโซลาร์ต่ำจะสามารถมาเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟได้เพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อค่าไฟภาพรวมของประชาชน ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะนั้นได้หารือกับมหาดไทยเพื่อดำเนินการเช่นกันเพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะในไทยให้เกิดประสิทธิภาพ ส่วนพื้นที่มุ่งเน้นสายส่งที่มีความพร้อมและจะพิจารณาให้กับพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟใช้ ภูเขา หมู่เกาะต่างๆ ก่อนด้วย ส่วนจำนวนเมกะวัตต์นั้นจะไม่เกิน 10 เมกะวัตต์หรือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (VSPP)

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชุมชนจะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนจากผู้ซื้อไฟมาเป็นผู้ผลิตและร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจไฟฟ้า และยังมีรายได้จากการจำหนายวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ เช่น ซังข้าวโพด ฟางข้าว ฯลฯ รวมถึงการส่งเสริมปลูกไม้โตเร็ว หญ้าเนเปียร์ ทดแทนพืชเกษตรที่มีมูลค่าต่ำ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอทั้งการปลูกหญ้าเนเปียร์ ไผ่ คาดจะต้องใช้พื้นที้ปลูก 800-1,000 ไร่ ต่อกำลังผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า พลังงานประเทศไทยถูกยอมรับทั่วโลก ว่ามีความเข้มแข็ง สัปดาห์หน้าจะไปเยอรมันร่วมประชุมระดับโลก เรื่องพลังงานทางเลือก ผู้จัดเป็นองค์กรพลังงานของโลก เขาเชิญเอเชีย 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และไทย แปลว่า เราคือหนึ่งในเจ้าพ่อของโลกด้านพลังงาน นอกจากนี้ เรามีของดีด้านพลังงาน บริษัทอย่าง ปตท.ติด 5 อันดับแรกของฟอร์จูน ให้เป็นเสาหลักของประเทศไทย ในอาเซียนประเทศไทยมีโครงสร้างพลังงานที่แข็งแรงที่พร้อมจะแข่งขันได้

คำต่อคำ : สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สัมมนา The Next Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ท่านผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกรุงไทย ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่ให้ความสนใจในการร่วมกันที่จะทำให้การที่จะมาแลกเปลี่ยนในเรื่องของทางออกเศรษฐกิจไทย จะฝ่าวิกฤตโลกอย่างไร

เมื่อสักครู่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดในเรื่องภาพใหญ่ทิศทางของกระทรวงการคลังในการแก้เศรษฐกิจโลก คงชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกผันผวนจริงๆ จนกระทั่งกระทบการทำงานของทุกฝ่าย

ผมยอมรับว่าไม่ง่ายในการที่แต่ละองค์กรจะอยู่ให้รอด และให้เติบโจ ไม่ใช่ความผิดของประเทศไทย แต่เป็นเรื่องของทั้งโลก ที่เราเจอกับความผันผวน ทั้งเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งมีการพูดกันไปตลอดเวลา มีความผันผวนด้านการเมือง กระทบไปสู่เศรษฐกิจ เห็นได้ชัด สงครามการค้า

มาที่พลังงาน การเมือง ก็ไม่เว้นเข้ามา 2 สัปดาห์ จะเห็นในเรื่องของใช้โดรนยิงคลังน้ำมัน ที่ซาอุดิอาระเบีย จนกระทั่งกำลังการผลิตของโลกหายไป ซาอุดิอาระเบียหายไปครึ่งประเทศ กระทบภาวะน้ำมันของโลก 5% ของทั้งโลก ก็โชคดี ความเสียหายแก้ปัญหาได้เร็ว ตอนนี้ราคาน้ำมัน แต่ก่อนอยู่ที่ไม่ถึง 60 เหรียญต่อบาร์เรล โดยประมาณ กระโดดขึ้นไปทันทีเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเรื่องของระเบิด ทะลุไป 65-67 ก่อนที่จะดีดตัวกลับลงมา ปัจจุบันอยู่ที่ 60 ต้นๆ คาดว่า ไม่น่าไปไกลกว่านี้แล้ว

แต่ที่อยู่อย่างนี้ได้ ทั้งที่ไปกระทบภาวะการผลิตครั้งใหญ่ ก็เพราะเศรษฐกิจโลกมันไม่ดี เป็นช่วงชะลอตัวจริงๆ กระทบดีมานด์ของพลังงานโลก จนกระทั่งทำให้เห็นว่าทิศทางของราคาน้ำมันไม่ไปไกลกว่านี้

แล้วก็เรื่องหนึ่งที่ผสมผสาน ที่ผมจะพูดต่อไป คือเทคโนโลยีดิสรัปชัน ก็ไปเปลี่ยนซับพลายของพลังงานจากฟอสซิลของโลก ตัวนี้เป็นตัวบาลานซ์อีกตัวที่ทำให้เวลาเกิดวิกฤตถูกปัจจัยมาบาลานซ์หลายด้าน

สิ่งที่จะพูดกับพวกท่านในวันนี้ จะเป็นในส่วนพลังงาน ต้องเรียนอย่างนี้ พลังงานอาจจะดูไกลตัวกับพวกท่านมาก แต่ความเป็นจริงแล้ว พลังงานเหมือนเส้นเลือดสำคัญของปัจจัยเศรษฐกิจ เพราะเป็นต้นทุนประกอบการที่สำคัญของทุกเซคเตอร์

และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน โลกใบนี้ถ้าพูดถึงผู้ประกอบการพลังงาน เรากำลังพูดถึงศัพท์ที่เรียกว่า Competitive Energy แปลว่าเรา จะต้องมีพลังงานที่มี Security มีปริมาณมากพอไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบการ

ยกตัวอย่างภาคอุตสาหกรรม ถ้าการซับพลายพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานด้านใดก็ตาม ไม่มี Security ไม่มีนักลงทุนคนไทยจะมาลงทุน เพราะว่าไม่มีความแน่นอน นี่เป็นจุด เป็น Infrastructure ที่สำคัญ หรือมีพลังงานแต่ต้นทุนประกอบการสู้ไม่ได้ แพงกว่า เรากำลังมองถึง Cost ของการประกอบการ เพราะทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า ใช้แสงสว่าง

สิ่งเหล่านี้เป็นการที่เมื่อเกิดอะไรก็ตามมันกระทบ ดังนั้นตัวพลังงานคือหัวใจสำคัญ ที่ต้องได้รับการบริหาร หัวใจที่บริหารนั้นจะต้องทำให้เรามีความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งประเทศไทยโชคดี โครงสร้างพลังงานประเทศไทยได้ถูกวางโครงสร้างมา บนโครงสร้างของความมั่นคงทางพลังงาน เป็นองค์กรของรัฐวิสาหกิจ เติบโตมาจากองค์กรของรัฐ ไฟฟ้า เรามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ทั้ง 3 ไฟฟ้าเป็นรัฐวิสาหกิจหมด

ธุรกิจน้ำมัน และแก๊ส หัวใจใหญ่อยู่ที่ ปตท. เป็นตัวหลักของประเทศ ถึงจะมีบริษัทน้ำมันจากต่างประเทศ แต่ว่าประเทศไทยพัฒนาจนกระทั่ง ปตท.หลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ และแข็งแรงมาก ก็เป็นตัวหลักของน้ำมันและแก๊ส ของประเทศในการบริหารความมั่นคงด้านพลังงานน้ำมัน และพลังงานทางแก๊ส

เมื่อโครงสร้างของเราอยู่บนความมั่นคง ผมคิดว่าประเทศไทยได้เปรียบ ถือว่าเรามีศักยภาพความมั่นคงทางพลังงานที่ดี แม้เกิดวิกฤตอะไรก็ตามเรามีแผนรองรับที่ดีที่แก้ปัญหาได้ แต่บนโครงสร้างของการที่มีโครงสร้าง ลักษณะของความมั่นคง จุดอ่อนคือมี Flexibility ต่ำ มีความยืดหยุ่นตัวเองต่ำ หลายคนวิจารณ์ว่า ทำไมราคาพลังงานปรับตัว ไม่ได้แข่งขัน เพราะ Flexibility ไปอยู่บน structure ของความมั่นคง ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงานกำลังดู ค่อยๆปรับเรื่องนี้อยู่

ดังนั้นทิศทางของโลกจากนี้ไป ผมจะวิเคราะห์ให้ว่า ความผันผวนของพลังงานในเศรษฐกิจ กับกระทบพลังงานของโลก จะกระทบกับเราอย่างไรบ้าง ประเทศไทยจุดอ่อนของความผันผวนทางเศรษฐกิจ เรานำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ประมาณ 90% นี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เพราะน้ำมันเราผลิตเองได้ 10% ในประเทศ ส่วนที่เหลือ 90% ก็ต้องนำเข้ามา นี่เป็นจุดเปราะบางของเราตลอดเวลา

และเป็นเรื่องที่เวลาจะบริหารจะบริหารได้ยากที่สุด น้ำมันต่างกับแก๊ส เรามีในอ่าวไทย ผลิตได้ในอ่าวไทยประมาณ 60% ที่เป็นแก๊ส เราเอาน้ำมันดิบมากลั่น มีส่วนที่เป็นแก๊สอีกกว่า 20% เบ็ดเสร็จเรามีแก๊สในประเทศอยู่ประมาณ 80% เรานำเข้าแก๊สจากต่างประเทศ 20% แต่ส่วนหนึ่งของแก๊สก็มาจากน้ำมัน

ในเรื่องของแก๊สผมคิดว่าเรามีความมั่นคงในระดับหนึ่ง โชคดีเราประมูลเอราวัณ-บงกช จบไป เมื่อ 3 ปีที่แล้วย้อนหลัง เรามีความไม่แน่นอนอีกเรื่องคือ แหล่งแก๊สของเอราวัณ-บงกช ที่ประมูลไม่ได้ กำลังปิดการประมูล ถ้าหากจบไม่ได้ มันจะกระทบถึงปริมาณซับพลายแก๊สในอ่าวไทย และแน่นอนกระทบเศรษฐกิจ

ถ้าเราขาดแก๊สในอ่าวไทยราคาแก๊สก็ขึ้นหมด แล้วจะกระทบอะไร เกิดแน่นอนขณะนี้คือ การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยถูกเปลี่ยนผ่านไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญมากคือ ไฟฟ้าของทั้งประเทศ จะไปอาศัยแก๊สเป็นตัวหลักของเชื้อเพลิงถึง 51%

ด้านไฟฟ้า เป็นตัวที่จะมีบทบาทสำคัญมากในโลกอนาคต เพราะไฟฟ้าจะเป็นพลังงานสำคัญในภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เหตุผลคือด้วยเทคโนโลยีที่ผมพูดถึงในตอนแรก ท่านลองหลับตาดู มันกำลังจะเข้าสู่อนาคตรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่เราจำความได้ ธุรกิจพลังงานหลัก คือน้ำมัน เป็นฟอสซิล เป็นออยล์ แก๊ส ในอนาคต EV เป็นความมั่นคงของไฟฟ้า เป็นหัวใจที่จะต้องดูให้ดี เป็นความจำเป็นที่จะสร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้า เพราะโลกข้างหน้าใช้ไฟฟ้าเป็นหัวใจหลัก เป็นพลังงานหลักมากขึ้น

ก็โชคดีครับ ที่ประเทศไทยได้เปรียบ เพราะว่าประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่ทำมาขณะนี้เรามี Surplus of supply ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณกว่า 30 % ของความต้องการใช้งาน ตอนนี้ Surplus เลยจากตอนนี้ถึงปี 68 จะไปเบรกอีกทีตอนปี 68 ที่ซับพลายไฟฟ้ากับดีมานด์ มันจะมาเจอกัน จากนี้ถึงปี 68 ไม่มีปัญหา แต่โชคร้านบนซับพลายที่มันโอเวอร์ดีมานด์ก็คือ ต้นทุนไฟฟ้ายังแพงอยู่ เมื่อมองในเรื่องของ Competitive Energy เทียบกับเวียดนาม วันนี้ต้นทุนไฟฟ้าเรายังแพงอยู่

สาเหตุคือเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าราคาถูก เช่น นิวเคลียร์ เลิกคิดไปเลย บ้านเราทำไม่ได้ ถ่านหิน กลายเป็นเรื่อง Toxic ในประเทศไทย เมื่อไหร่ก็ตามที่จะทำถ่านหิน เมื่อนั้นต้องเลิก เหลือเฉพาะไฟฟ้าพลังงานน้ำ แหล่งใหญ่ แต่ก่อน กฟผ.เป็นผู้ผลิต ซึ่งเพียงพอ วันนี้แหล่งน้ำไฟฟ้าใหญ่อยู่ที่ประเทศลาว ลาวคือ Battery of Asia

ลาวก็วางตัวเองเอาไว้เป็นผู้ผลิต ของไฟฟ้าภูมิภาค โดยทำไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากเขื่อน ลาวมีไฟฟ้าโอเวอร์ซับพลายมาก ก็อยากขายมาที่ไทย ไทยเราก็มีปัญหา เพราะเราก็โอเวอร์ซับพลายของไฟฟ้าที่เราวางแผนในประเทศเอง ถึงจะขาดถ่านหินไป

วันนี้ความไม่มั่นคงไฟฟ้า มีอยู่ส่วนเดียวในประเทศไทย คือทางตอนใต้ของไทย ที่มีความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าดีไม่พอ ยังดีไม่พอ กำลังเร่งแก้ไขอยู่ เราแก้ปัญหาภาคใต้เราไปได้ แต่อนาคตถ้าทิศทางยังเป็นอย่างนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมเอาไว้แล้วคือ ปรับตัวเอง จากเคยคิด พลังงานเฉพาะประเทศไทย ตอนนี้กระทรวงพลังงานเปลี่ยนวิธีคิด ต้องคิดทั้งภูมิภาค แล้วใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนเล่นบทบาทของพลังงาน ให้มีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร

มีความมั่นคงทางพลังงานที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร เมื่อเกิดความคิดแบบนี้ ตัวอย่างเรื่องไฟฟ้า ก็ทำให้ประเทศไทยนั้น Trader of Asian ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้า แล้วขายไฟฟ้าไปที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน ประเทศลาวที่มีไฟฟ้ามากมาย ก็รับซื้อไฟฟ้าจากลาว แล้วใช้ประเทศไทยเป็นสายส่ง ขายออกไปที่พม่า

พม่าเติบโตรวดเร็วสร้างโรงไฟฟ้าไม่ทัน ไฟฟ้าในพม่าต้นทุนสูง เสถียรภาพไฟฟ้าในพม่าไม่มี เป็นโอกาสมหาศาลกับธุรกิจไฟฟ้า ตอนนี้ก็เร่งทำตัวเป็นเทรดเดอร์ขายไฟฟ้าไปทางพม่า

ทางเขมรปัญหาเดียวกับพม่า ไม่มีความมั่นคงด้านไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าไม่ทัน เรากำลังเร่งขายไฟฟ้าผ่านทางเขมร มาเลเซียแข็งแรง ที่เขามีไฟฟ้า เราจะใช้ประโยชน์ความแข็งแรงอย่างไร เชื่อมไปหาสิงคโปร์ อันนี้เป็นโจทย์ที่จะต้องทำต่อไป

การบริหารแบบนี้เราทำได้จริง เราเป็นเทรดเดอร์ ของทุกภูมิภาคได้จริง แปลว่าความมั่นคงไฟฟ้า ใครก็ตามลงทุนแล้วต้องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่สุดในภูมิภาค

และเมื่อเราบริหารไฟฟ้าเอง เราวางแต้มต่อ เป็นมหาอำนาจของไฟฟ้าของภูมิภาคเอาไว้ จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น ใช้ประโยชน์ของประเทศไทยที่ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร

ประเทศไทยมีจุดแข็ง เรื่องที่สอง เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำได้หลายอย่าง อาหาร เพื่ออุตสาหกรรม แต่ตัวหนึ่งที่ใหญ่มาก แล้วประเทศไทยยังใช้ประโยชน์ของความเป็นประเทศเกษตรกรรมได้ไม่ดีพอ และเป็นโอกาสทางธุรกิจ คือการเอาเกษตรมาทำเป็นพืชพลังงาน

ลองหลับตา ไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรมากมายมหาศาล เศรษฐกิจหัวใจหลักของไทยอยู่ที่ภาคเกษตร เมื่อไหร่ก็ตามภาคเกษตรพลิกกับมาได้เมื่อไหร่ กำลังซื้อในประเทศจะเปลี่ยน ความสามารถในการแข่งขันก็จะดีขึ้น

ดังนั้นภาคเกษตรคือตัวแปร บทบาทที่กระทรวงพลังงานจะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ปัญหาในระยะสั้น การเอาภาคเกษตรให้กลับมาโดดเด่นในเรื่องของพืชพลังงาน

ทำอยู่ 2 มิติใหญ่ๆ มิติแรก มิติการเอาพืชพืชพลังงาน มาเป็นไบโอฟีล เป็นพลังงานทางไบโอ ตัวอย่างสำคัญคือ กรณีของไบโอดีเซล ที่เราเอาซีพีโอของปาล์มน้ำมันมาผสม ที่เรียกว่า บี 7 บี 10 บี 20 บี 100 ของเหล่านี้คือเอาซีพีโอมา

ทิศทางไปชัดเจน เมื่อเราไปอย่างนี้ เราก็จะเอาพืชพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศ ไบโอดีเซลจะถูกปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ 1 มกราคม ที่จะถึงนี้ โดยการประกาศใช้ปรับบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของไบโอดีเซลทั้งระบบ

แล้วบี 7 จะมีสัดส่วนเหลือลงนิดเดียว จาก 70 ล้านลิตรต่อวัน บี 7 จะลงเหลือ 5 ล้านลิตรต่อวัน บี 10 จะโตขึ้นประมาณ 57 ล้านลิตรต่อวัน และบี 20 จะใช้สำหรับรถขนาดใหญ่ หรือรถรุ่นใหม่ รถรุ่นใหม่หลายๆค่ายใช้ได้อยู่แล้ว และก็ให้แรงจูงใจค่าน้ำมันให้ไหลไปที่ บี 10 กับบี 20 เพื่อลดบี 7 ลง

ด้วยการบริหารแบบนี้ซึ่งที่เกิดกระทบปาล์มน้ำมันจะเกิดความสมดุลระหว่างซับพลายในประเทศ กับดีมานด์ในประเทศอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก เพราะทุกวันนี้เรามีสต็อกซีพีโอของปาล์มน้ำมัน โอเวอร์ตัวดีมานด์อยู่ 4 แสนตันต่อปี พอพลิกเป็น บี 10 เต็มรูปแบบได้เมื่อไหร่ สต็อกของปาล์มน้ำมันในประเทศจะบาลานซ์ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันจะเสถียร เกษตรกรจะเสถียร แต่สิ่งที่แก้ให้ได้คือน้ำมันลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้าน

เพราะประเทศไทยผลิตน้ำมันปาล์มเพียง 5% ของโลก มาเลเซียกับอินโดนีเซียผลิตประมาณ 80-90% ของโลก ยักษ์ใหญ่อยู่ที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ถ้าป้องกันในเรื่องของการลักลอบได้ปาล์มน้ำมันจะพลิกกลับมา อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันจะถูกปรับให้ดีขึ้น เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เรื่องเดียวกันจะถูกนำไปใช้กับเอทานอล อ้อย มันสำปะหลัง

นั่นคือที่มาของการเอาพืชเกษตรกลับมาพลิกให้เกิดความแข็งแรง ธุรกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรที่เป็นพืชพลังงานจะถูกกระทบกับนโยบายรัฐบาลนี้ ค่อนข้างเยอะ เพราะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในการเอาพืชพลังงานนั้น มาใช้เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำของประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งฐานรากขึ้นมา ด้วยการใช้พืชพลังงานแก้ปัญหา

อีกด้านซึ่งขณะนี้กำลังเป็นกระแสไปแล้ว คือการเอาพืชพลังงาน ที่เป็นวัตถุดิบในการเกษตรเหล่านั้นกำลังถูกรณรงค์ให้เกิดโครงการใหญ่มากที่จะเกิดผลกระทบ และขณะนี้มีภาคเอกชน พร้อมเงินลงทุนในโครงการนี้ ผมว่ามากกว่าล้าน ถ้าเกษตรขนาดนี้รวมตัวกันขอเข้ามาทำโครงการนี้เต็มไปทั้งประเทศหมดเลยติดต่อเข้ามาที่จะขอทำโครงการนี้

คือโครงการพลังงานชุมชนผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในเมื่อ 2 สัปดาห์ แนวคิดเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียว เอาการเกษตรมาใช้ผลิตไฟฟ้า เป็นการผลิตไฟฟ้าเรียกว่าชีวภาพ ชีวมวล เป็นไบโอแก๊ส ไบโอแมส

หลับตาดูนะครับ ในภาคเกษตรเรามีพืชพลังงานที่เรารู้จักแค่ ปาล์ม มัน อ้อย แต่ความจริงไม่ใช่ เรามีซังข้าวโพด เชื่อมั้ยไหมครับผมไปเอาที่แม่แจ่ม ที่เดียวที่เชียงใหม่ เราบุกรุกปลูกข้าวโพด ปรากฏว่าเราเอาแต่ไอ้ตัวข้าวโพดเม็ดข้าวโพด พอถึงซังข้าวโพดเราทิ้งหมดเลย เฉพาะแม่แจ่มที่เดียวมีคนรายงานผมว่า มีซังข้าวโพดตรงแม่แจ่มเชียงใหม่ ประมาณ 8 หมื่นตันต่อปีต่อปี

แล้วทำยังไงครับ เผาทิ้ง เพราะมันเป็นขยะ เอามาเผาทิ้ง เรามีวัสดุอย่างนี้ ซังข้าวโพด ฟางข้าว ฟางข้าวแถวชัยนาท แถวนครสวรรค์ ปีนึงไม่รู้กี่แสนตันเผาทิ้ง สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบเหล่านี้จะถูกนำมาผลิตเป็นไบโอแมสผลิตโรงไฟฟ้า ภายใต้นโยบาย 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้าชุมชน

เปิดโอกาสให้เอกชนลงไปลงทุนกับชุมชน ใช้วัตถุดิบของชุมชนเพื่อให้ชุมชนเอาสิ่งที่ตัวเองทิ้ง กลับมาเป็นรายได้เพื่อให้ชุมชนที่ปกติเป็นคนใช้ไฟฟ้า ในฐานะผู้ซื้อกลับตัวมาเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ขาย กลับตัวเอาชุมชนที่อยู่ปลายสายส่ง ที่ไม่มีความมั่นคงด้านไฟฟ้าเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจะต้องเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อรองรับการใช้งานของชุมชน

ปรับตัวเมื่อมีไฟฟ้าแล้ว ต้องเอาไฟฟ้านั้นมาสร้างความแข็งแรงของชุมชนโดยการให้ไฟฟ้าที่มีความเพียงพอก่อเกิดเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น ในพื้นที่ที่มีผลการเกษตรเยอะ ส่งเสริมให้เกิดห้องเย็นไฟฟ้ามาทำห้องเย็น สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแปรรูปโดยใช้ไฟฟ้า

เมื่อการทำอย่างนี้แปลว่าเรากำลังใช้จุดแข็งของประเทศไทยด้านภาคเกษตรที่เป็นพืชพลังงาน และกลุ่มนี้เป็นส่วนของเกษตรที่ถูกทิ้ง เศษไม้ ซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม ทิ้งหมดเลย เราจะส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วทดแทนการทำเกษตรบางประเภทที่มีผลผลิตต่อไร่ได้รายได้ต่ำ

มีคนติดต่อเข้ามาแล้วจะขอปลูกไผ่ 1 ปี 2 ปี จะได้ไผ่พันธุ์นี้ ทั้งไผ่ ทั้งลำ จะมีแต่เนื้อ มีรูตรงกลางเล็กนิดเดียวจะได้ผลผลิตเท่านี้ ออกมาต่อไร่เท่าไหร่ แล้วเอามาใช้เป็นวัตถุดิบ จะมีการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ที่เคยโด่งดัง แต่ตอนหลังเจ๊งไปหมดทั้งประเทศเลยหญ้าเนเปียร์เป็นวัตถุดิบสำคัญในการมาทำไบโอแกสผสมผสานกับการเลี้ยงวัวเพื่อทำให้เกิดการผลิตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกหญ้าเนเปียร์ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 800-1000 ไร่ต่อการจะผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ถูกส่งเสริมให้เกิดการลงทุนร่วมกัน

ดังนั้นนโยบายพลังงานลักษณะอย่างนี้ ก็จะมีผลต่อการที่เรายกระดับ ในแง่ของความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้มันกระจายตัวลงไปข้างล่าง

2.ทำให้เกิดภาพของเศรษฐกิจที่อยู่ข้างล่างแล้วมันเกิดการปรับตัว ที่เกิดอะไรกับการที่ทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วง 1 ปี 2 ปีจากนี้ไปในเรื่องนี้ ถ้าท่านตามเรื่องนี้มาเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลายประเภททีเดียว

อันที่ 1 ใครก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชพลังงาน ก็ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ดี

2.เป็นการเปลี่ยนการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้ลงไปช่วยให้เธอมีให้มากขึ้นให้คนตัวเล็กมีโอกาสที่จะเข้าประชุมธุรกิจพลังงานมากขึ้น ให้ชุมชนซึ่งไม่เคยมีโอกาสเลยที่จะมีส่วนในธุรกิจพลังงานพลิกตัวกลับเข้ามาเป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจพลังงานงาน เพราะต้องมีสัดส่วนของทุกโรงไฟฟ้า

และสำคัญก็คือชุมชนจะต้องเข้ามาเป็น Value chain ของธุรกิจพลังงาน คือ ไฟฟ้า สอดรับกับทิศทางไฟฟ้าของประเทศ ของโลกที่ผมอธิบายว่าฟอสซิลจะมีบทบาทของความสำคัญที่ลดลง แต่พลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญที่มากขึ้น เมื่อองค์ประกอบเล็กๆเหล่านี้รวมกันกับ Direction ของประเทศที่จะเป็น Center ของพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน มันก็จะเดินไปด้วยกันการบริหารจัดการภาคใหญ่ทั้งระบบ

กระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เปิดโอกาสจะเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน เดิมธุรกิจพลังงานมั่งคั่งเฉพาะองค์กรใหญ่ๆไม่ผิดเพราะผมพูดตั้งแต่ต้นว่า ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่เน้นความมั่นคงและความมั่นคง ดังนั้นองค์กรพลังงานก็เป็นองค์กรขนาดใหญ่

ท่านจำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเมื่อ 30 ปีได้ไหม เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่กู้เงินเยอะที่สุดในประเทศไทย สมัยคุณเกษม จาติกวณิช สื่อเรียก ซูเปอร์เค สมัยนั้น เฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกู้เงินมากที่สุดในองค์กรในประเทศไทย ถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นใครเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีประเทศไทยได้เลยนะ เพราะองค์กรใหญ่มาก

นี่คือคนผลิตไฟฟ้าในอดีต แต่ที่ผมเล่าให้ฟังกำลังแปรรูปหมดเลยนะ บทบาทเปลี่ยน มันจะมีความมั่นคงเดิมยังคงอยู่ แต่จะถูกแชร์บทบาทด้วยการกระจายลงสู่ข้างล่างคนตัวเล็ก แล้วมันจะไปสู่ความเป็นประเทศในอนาคตที่ก็เรียกว่ามี Community Enegy พลังงานของชุมชนเกิดขึ้นประเทศยุโรป

ผลที่ตามมาที่พูดไปทั้งหมด สอดรับกับทิศทางของโลกในเรื่องที่ 3 ที่ผมจะพูดต่อไปคือ สิ่งแวดล้อมของโลกโลกใบนี้คนที่ทำให้มีปัญหา แก๊สเรือนกระจก โลกร้อนมากที่สุดก็พลังงานนี่แหละ คือ สาเหตุที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เกิดสูงเกินมากในปริมาณก่อเกิดทิศทางของลูกที่กำหนดไว้แล้วว่า โลกในอนาคตจะต้องมีคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกินเท่าไหร่ และถูกบังคับหมด ต่อไปการค้า การขาย มันจะมาในเรื่องของคาร์บอนปริ้นท์ Co2

ที่ผมเล่าให้ฟัง จำเป็ นต้องแปลเป็นรูปแบบนี้เพื่อที่จะลดการเอาพลังงานมาทำอะไรก็ตามแล้วสร้างปัญหามลพิษกับสิ่งแวดล้อมของโลก กลุ่มที่จะลงไปอยู่ชุมชนทั้งหมดจะเป็นกลุ่มที่เป็นพลังงานทางเลือกพลังงานทดแทน ที่ใช้กลุ่มนี้แล้วก็จะมีส่วนในการลดปัญหาผลกระทบด้านภาวะโลกร้อน ด้านก๊าซเรือนกระจกของโลกและประเทศไทยนั้นมีโอกาสในการลดสัดส่วนของการเปลี่ยนพลังงานที่เกิดจากฟอสซิลจะลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ

อย่างทุกวันนี้โรงงานไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าเลิกหมด เพราะว่าไปไม่ได้ครับทิศทางของโลกอันนี้แล้วก็ทยอยยกเลิกกันหมด บวกกับต้นทุนแก๊สถูกลง

และอีกสักเรื่องก่อนที่จะลืมนะครับในประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลาง LNG ของภูมิภาค เมื่อก่อน LNG ไม่ได้มีบทบาทขนาดนี้ จะมีเฉพาะ LPG ที่ได้จากอ่าวไทย มาทำแป๊สหุงต้ม เพื่อการขนส่งบางส่วน แต่ปรากฏว่าตอนนี้ได้ถูกพัฒนาแล้วก็กลายเป็นไอตัว L N G บีบลงไปจนกลายเป็นน้ำ แล้วก็เอามาใช้ขนส่ง แล้วกลับมาเป็นแก๊สใหม่ มันก็จะวิธีปล่อยให้น้ำตัวนี้กลับเป็นแก๊สขยายตัว อีก 700 เท่า แล้วกลับมาเป็นแก๊ส ก็เท่ากับหนึ่งลำเรือที่ขน LNG คูณอีก 700 เท่า ของปริมาณแก๊สที่เราใช้พอเป็นเทคโนโลยีอย่างนี้ LNG ก็เลยกลายเป็นทิศทางใหม่ของโลก แต่เรื่องที่สำคัญมากคือ LNG มีแต่ถูกลงและถูกลงในอนาคต

สาเหตุมาจากเพราะโลกใบนี้มันเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี การค้นพบน้ำมันก็ดี การค้นพบแก๊สก๊ เทคโนโลยีก็ไป disrupt 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราจำได้ เรากลัววันนึงเราจะไม่มีพลังงานจากฟอสซิล น้ำมันจะหมดจากโลก แก๊สจะหมดไป ทุกคนต้องประหยัดนี่ความเชื่อเก่า ในธุรกิจพลังงาน

พอในอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีตัวนี้ แต่ก่อนขุดจัน้ำมันเขาจะขุดลงไป เจอหลุมน้ำมันก็ดูดขึ้นมา แต่ปรากฏว่าจริงๆเวลาขุดเจาะน้ำมัน มันมีรูเล็กๆเต็มไปหมด อเมริกาค้นพบวิธีการขุดเจาะออกทางข้าง แล้วไปเก็บหมดเลย รูเล็กรูน้อยเก็บน้ำมันเก็บแก๊สหมดเลย ปรากฏว่าการค้นพบอันนี้ disrupt ใหญ่มาก จนน้ำมันและแก๊สของโลก มีแนวโน้ม Over Supply

เพราะมันเพิ่มผลผลิตขึ้นมาโดยคาดไม่ถึง ประกอบกับเมื่อ 10 ตกใจกลัวน้ำมันและแก๊สจะหมด ก็พัฒนาเทคโนโลยีด้านของพลังงานทดแทน จนปัจจุบันไม่น่าเชื่อ พลังงานจากโซลาร์มีต้นทุนถูกมากและมีประสิทธิภาพสูงมาก จนกระทั่งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ขณะนี้ผมว่าอีกไม่นาน ผมว่าต้นทุนสูงกับน้ำไม่เท่าไหร่

ถูกมากเมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นๆ ที่อาบูดาบีเหลือต้นทุนผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1.90 บาท ถูกมากเลยไฟฟ้าพลังน้ำทุกวันนี้ยังไม่ได้เลยนะ แล้วลงทุนต่ำกว่ามาก ไฟฟ้าจากเดิมอาจจะต้องใช้ตัวฟอสซิลผลิตก็ลดตัวลงมากลายเป็นเอาไฟจากฟ้าก็ได้ แสงแดดก็ได้ พลังงานลมก็เปลี่ยนทิศทางพลังงานลมก็ถูกขึ้น

สิ่งเหล่านี้มันเกิด disrupt ทั้ง 2 ทางไปด้วยกัน แล้วมันก็มีผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้วก็มีผลกระทบต่อการประกอบการของเรา ในฐานะทีมเศรษฐกิจผมเชื่อว่าเรื่องนี้กระทบกับทุกท่านในห้องนี้ คือ ปัญหาประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้ปัญหาอยู่ที่ตัวเลข GDP ไม่ใช่ปัญหาการเติบโต ไม่ใช่ความแข็งแรง

ปัญหาคือเศรษฐกิจฐานราก ที่ดูเหมือนโดนฝ่ายค้านแซวว่า รวยกระจุกจนกระจาย ข้างล่างเหือดแห้งความจริงมีหลายสาเหตุ วิธีการค้าขายเปลี่ยนหมดแล้ว อีคอมเมิร์ซโตมาก การค้าแบบเดิม แม่ค้าในตลาดสดแบบเดิมเจ๊งหมด เพราะขายมา 30 ปีไม่เคยเปลี่ยนโปรดักซ์เลย ขณะที่ตลาดสดไม่เปลี่ยนโปรดักซ์ เดลิเวอร์รี่มาหมดทุกอย่างแล้ว ไม่ปรับตัวไปต่อไม่ได้ แล้วเศรษฐกิจฐานรากเป็นหัวใจ ดังนั้นสิ่งที่มีการทำงานร่วมกันเมื่อวันเสาร์ มีการเปิดตัว กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก

เปิดโครงการที่เรียกว่า ประชารัฐสร้างไทย อันนี้ไม่ได้หาเสียง มันมาจากความหมายที่เชื่อว่า ประชารัฐก็คือการรวมทุกฝ่ายเข้ามาเหมือนเดิม เอาเอกชนเข้ามา เอารัฐเข้ามา เอาชุมชนต่างๆเข้ามา แล้วมาร่วมกันทำ วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจข้างล่าง โดยการที่เอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจข้างล่าง

หัวใจหลักของกระทรวงการคลังคือ ปล่อยสินเชื่อกับภาคการเกษตร กองทุนหมู่บ้านทำอะไรไว้เยอะมากกับภาคของชุมชน ตัวออมสินทำอะไรดีๆไว้เต็มหมดกับคนจนเมือง แต่ปัญหาประเทศไทยคือมันทำต่างคนต่าง ใครอยู่องค์กรไหนก็ทำของตัวเอง เป็นชิ้นๆ เวลาพรีเซนต์เต็มไปหมดเลย แต่มันต่อถักทอเป็นผืนใหญ่ไม่ได้

เรากำลังทำงานกันใหม่ ยกตัวอย่างโครงการของผม สมมติไฟฟ้าชุมชนเมื่อลงไปแล้ว ไม่ลงคนเดียวลงไปแล้วอาจจะเลือกชุมชนที่กองทุนหมู่บ้านมาต่อยอดได้ ไปทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ออกตลาดได้ ต่อยอดกับกระทรวงเกษตรฯ ต่อยอดกับ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อหญ้าเนเปียร์ ผลไม้โตเร็ว จะสร้างความแข็งแรงของเศรษฐกิจฐานรากได้

ดังนั้นวิธีคิดอย่างนี้ คือสิ่งที่ขณะนี้เรากำลังประกาศโครงการ ที่เรียกว่าประชารัฐสร้างไทย จะดำเนินการในลักษณะของ Body ขึ้นมา ที่รวมองค์กรเหล่านี้ขึ้นมา แต่การรวมครั้งนี้จะไม่รวมเฉยๆรวมแล้วเอาแผนมาคลี่เข้าหากัน ผมจะทำไฟฟ้าชุมชนถ้าไม่มีโครงการนี้มา ผมก็ทำกับผมไป 100 ชุมชน 200 ชุมชน 500 ชุมชน

แต่พอมีโครงการนี้ผมจะทำไฟฟ้าชุมชนที่เล่าให้ท่านฟังแล้ว ผมก็จะขึงกับแผนของ ธ.ก.ส. สภาเกษตร ตัวกองทุนหมู่บ้าน ขึงไปแล้วสินค้าบางตัวผมก็จะเชื่อมกับของออมสินที่ทำไปแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะยกความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากขึ้นไป ทำให้เศรษฐกิจฐานรากแข็งแรงขึ้น

เศรษฐกิจฐานรากเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว มีความสามารถในการอยู่รอดมากขึ้น ไม่ใช่เป็นหนี้กันเต็มประเทศแบบนี้ มันไม่สามารถจะสร้างกำลังซื้อใหม่ๆได้ ความมั่งคั่งมันอยู่ข้างบน ตรงกลางมั่งคั่งบนหนี้ ถ้าหมุนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พวกเราที่เป็นภาคเศรษฐกิจมันก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้ากลับหัวเศรษฐกิจฐานรากแข็งแรงขึ้น ความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจพื้นฐานถูกเชื่อมให้แข็งแรงขึ้น กำลังซื้อก็จะเปลี่ยน โอกาสธุรกิจก็จะเปลี่ยนนั้

ดังนั้นสิ่งที่พลังงานได้ดำเนินการและเล่าให้ฟังวันนี้ ต้องการมีเจตนาจะเล่าให้ฟังว่ากำลังจะเชื่อมความเข้มแข็งของประเทศเข้าสู่พลังงาน และใช้ความเข้มแข็งด้านพลังงาน เสริมหนุนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของประเทศ ด้านความสามารถในการแข่งขัน เสริมหนุนธุรกิจพลังงานประเทศไทยให้เป็นธุรกิจพลังงานที่ดีในภูมิภาคของโลก

ผมเรียนท่านเรื่องหนึ่งนะ พลังงานประเทศไทยถูกยอมรับทั่วโลก ว่ามีความเข้มแข็ง สัปดาห์หน้าผมจะไปเยอรมันเขามีการประชุมระดับโลก เรื่องพลังงานทางเลือก ผู้จัดเป็นองค์กรพลังงานของโลก เขาเชิญเอเชีย 3 ประเทศ เชิญให้เข้าร่วมแล้วไปพูด 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และไทยแลนด์ แปลว่า เราคือหนึ่งในเจ้าพ่อของโลกด้านพลังงาน ฝากท่านท่านด้วยความภูมิใจที่ใช้น้ำมันแพงอยู่นะถึงจะได้แก๊ส

จะบอกท่านว่า เรามีของดีนะด้านพลังงาน บริษัทอย่าง ปตท. Top 5 ของฟอร์จูน ให้เป็นเสาหลักของประเทศไทย ในอาเซียนประเทศใดมีโครงสร้างพลังงานที่แข็งแรงที่พร้อมจะแข่งขันได้ถึงเราจะไม่มีน้ำมันเยอะนะ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก ก็จะสัมพันธ์กับการสนับสนุนในเรื่องเศรษฐกิจ ความสามารถการจัดการความผันผวน การทำให้ท่านมีความสามารถการแข่งขัน และสำคัญที่ผมพยายามเชิญชวนท่านด้วยนะ เข้ามาเป็นผู้ประกอบการพลังงานที่จะขยายตัว

ถ้าท่านอยากรวยแบบในตลาดหลักทรัพย์ ตอนนี้พลังงานมีโอกาสเยอะมาก สอดรับกับควาวมเข้มแข็งของประเทศถือเป็นโอกาสธุรกิจ แล้วก็ถ้าท่านใช้ความแข็งแรงให้ดี เราก็จะมีความสามารถการแข่งขันที่ดีขึ้นบนความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้ ขอบคุณครับ