กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

30 ตุลาคม 2562

“สนธิรัตน์” ปรับแผนพีดีพีใหม่ ให้สอดคล้องนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ลดสัดส่วนโซลาร์ภาคประชาชนที่ทำไม่ได้ผล ปัดฝุ่นพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์ บรรจุในแผน 1.5 พันเมกะวัตต์ เกิดการลงทุน 1.5 แสนล้าน เร่งคลอดโรงไฟฟ้า 3 แห่ง นำร่องก่อนปูพรมหญ้าเนเปียร์ 300 เมกะวัตต์ ใน 3 ปี

แผนขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน (Policy Quick Start) ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ 7 เรื่อง ที่จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้ไป โดยมี 2 เรื่องสำคัญที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน โมเดล 1 และการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ในด้านการใช้และการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ก่อนหน้ามีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ดำเนินการ

ปัดฝุ่นหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟ

การปรับปรุงแผนพีดีพีนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดรับนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน โดยจะปรับลดการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่ในแผนระบุไว้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ลงมาเหลือในเบื้องต้นราว 8,500 เมกะวัตต์ เพื่อนำสัดส่วนที่ลดลงมาดังกล่าวไปส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวมวล จากหญ้าเนเปียร์ 1,500 เมกะวัตต์เมื่อสิ้นแผนปี 2580 และอาจจะมีการปรับสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนบางประเภทด้วย แต่ในภาพรวมแล้ว เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเมื่อสิ้นแผนพีดีพี 2580 จะยังอยู่ที่ 2 หมื่นเมกะวัตต์ เท่ากับพีดีพีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตไฟฟ้า ถือเป็นการปัดฝุ่นนโยบายพืชพลังงานอีกครั้ง จากที่ต้องถูกยกเลิกไปจากรัฐบาลชุดที่แล้วเมื่อปี 2557 ที่ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ได้เห็นชอบแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ในระยะเวลา 10 ปี (2555-2564) ของประเทศไทย มีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้า จากหญ้าเนเปียร์ 3,000 เมกะวัตต์

ลดสัดส่วนโซลาร์รูฟท็อป

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้นายสนธิรัตน์ได้ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เร่งจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ด้านนโยบายที่ปรับเปลี่ยนไป และรองรับนโยบายการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน โดยจะไปลดการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาน ที่มีเป้าหมายให้บ้านอยู่อาศัยติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป 10,000 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นแผนปี 2580 ในเบื้องต้นจะปรับลดลงมาเหลือราว 8,500 เมกะวัตต์ เพื่อนำการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์เข้าไปแทน 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่รวมพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น ก๊าซชีวภาพจากนํ้าเสียไปผลิตไฟฟ้าอีก 183 เมกะวัตต์ เพื่อไปทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บางส่วนลงมา

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าในปีนี้ 100 เมกะวัตต์ การดำเนินงานมีความล่าช้า และไม่เป็นที่สนใจของประชาชน เห็นได้จากเปิดรับสมัครบ้านอยู่อาศัยเข้าโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเพียง 2,246 ราย คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4.64 เมกะวัตต์ แต่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้เพียง 184 ราย กำลังผลิต 1.04 เมกะวัตต์ เท่านั้น

ปูพรมโรงไฟฟ้า500MW

ขณะที่นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนในระยะแรก จะมุ่งการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์และนํ้าเสียเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายการผลักดันในช่วงระยะเวลา 3 ปี(2563-2565) จำนวน 500 เมกะวัตต์ หรือราว 500 ชุมชน จะผลิตไฟฟ้าสร้างรายได้จากการถือหุ้นและขายวัตถุดิบจากชีวมวล จำนวน 100 เมกะวัต์ และส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้หญ้าเนเปียร์นำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพจากนํ้าเสียอีก 100 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าการปรับแผนพีดีพีครั้งนี้ จะทำให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน สามารถกลับมาผลิตไฟฟ้าจ่ายจะเข้าระบบเร็วขึ้นจากแผนพีดีพีปัจจุบันที่วางไว้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น หลังจากมีเป้าหมายในการดำเนินงานแล้ว และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้เห็นชอบการดำเนินงาน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การลงทุนโดยภาคเอกชน หรือบริษัทลูกของการไฟฟ้าที่มีความพร้อมอยู่แล้ว 2. เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงปลายสาย หรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยจะนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาดำเนินงานและ 3.เป็นการลงทุนเพื่อนำขยะของเสียมาจัดการให้เป็นประโยชน์เชิงพลังงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะมาจัดทำรูปแบบรายละเอียด คาดว่จะเริ่มประชุมได้ราวต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อเสนอกบง.อีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้

เร่งคลอด3แห่งนำร่อง

ที่สำคัญการดำเนินงานเร่งด่วนหรือ Quick win ที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องออกมาก่อน 3 แห่ง ที่ใช้วัตถุดิบผลิตไฟฟ้าต่างกันทั้งจากหญ้าเนเปียร์ นํ้าเสีย และชีวมวล และเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จและได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐไปก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ นำไปดำเนินการ

ส่วนรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ได้ข้อยุติว่า ชุมชนจะเข้ามาถือหุ้นโรงไฟฟ้าในสัดส่วนตั้งแต่ 10-30 % มีการประกันราคาวัตถุดิบที่จะส่งป้อนเข้าโรงไฟฟ้าให้ รวมถึงมีส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 25 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น ซึ่งโครงการ Quick win ที่จะเสนอเข้ามาพิจารณานั้น จะต้องเสนอเงื่อนไขหรือผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชน มากกว่าที่จะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะสร้างขึ้นมาใหม่

ช่วยสร้างรายได้เกษตรกร

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน)
หรือ UAC กล่าวว่า ยูเอซีพร้อมที่จะเป็นโครงการ Quick win เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าที่จังหวัดขอนแก่นก่อสร้างเสร็จแล้ว และได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในการดำเนินงาน แต่ขายไฟฟ้าไม่ได้ เพราะรัฐบาลยกเลิกโครงการ ซึ่งหากกระทรวงพลังงานปรับแผนพีดีพีใหม่ โดยเพิ่มการส่งเสริมพืชพลังงานหรือหญ้าเนเปียร์ 1,500 เมกะวัตต์ จะก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานระยะแรก 300 เมกะวัตต์ นั้น จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ได้เพิ่มขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีการประกันราคารับซื้อให้ตั้งแต่ 400-600 บาทต่อตัน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่เท่าใด จากที่มีศึกษาจะอยู่ที่ราว 5.34 +0.50 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ หากกระทรวงพลังงาน เร่งส่งเสริมได้เร็ว จะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้เร็ว เพราะหากพิจารณาจากเป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชน 500 เมกะวัตต์ จะก่อให้เกิดเงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ราว 2 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับจากการขายหญ้า
เนเปียร์ป้อนโรงไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ซึ่ง 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกราวไม่เกิน 600 ไร่ หรือราว 1.8 แสนไร่ มีผลเฉลี่ยต่อไร่ราว 40 ตันต่อปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ถึง 2,880-4,320 ล้านบาทต่อปี สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นได้ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562