สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมนำเสนอความชัดเจนของนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา ภายในเดือน ก.ค.2563 นี้ แง้มทางเลือก ให้ เอกชนจัดหาLNG ให้โรงไฟฟ้าได้เองตามระบบTPA หรือจะให้แข่งขันจัดหาให้ ปตท.ในฐานะ Single buyer ในขณะที่ การอนุมัติใบอนุญาต Shipper รายใหม่ของ กกพ.โดยไม่รอ มติ กพช. และ นโยบายจากกระทรวงพลังงาน ถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดทางให้เจรจากับ ปตท.ในฐานะผู้ลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 ที่มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. )ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้นำเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณานั้น ทำให้การดำเนินการต่างๆตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ที่เคยแบ่งเป็น 3 ระยะ นั้น ในส่วนของระยะที่ 2 และระยะที่ 3 จะต้องเป็นไปตามมติกบง.และ กพช.ที่คาดว่าจะมีการประชุมพิจารณาภายในเดือนก.ค. 2563 นี้
สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 1 นั้นในมติ กพช.วันที่ 16 ธ.ค.2562 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในมติกพช.เดิม เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 ที่ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็น Shipper รายใหม่และจัดหาไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เปลี่ยนเป็นการ
นำเข้า LNG ในรูปแบบ Spot ไม่เกิน 200,000 ตันแทน ( ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ) ซึ่ง กฟผ.ได้ดำเนินการนำเข้ามาแล้ว จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 และ ในข่วงกลางเดือนเม.ย.2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผลจากการแก้ไขมติ กพช.ดังกล่าว ยังมีผลให้ กฟผ.ต้องยกเลิกการลงนามสัญญาการนำเข้า LNG ปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตัน เป็นระยะเวลา 8 ปี ที่ทาง ปิโตรนาสแอลเอ็นจี เป็นผู้ชนะประมูลด้วย
แหล่งข่าว กล่าวว่า การทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ในระยะที่ 2 และ 3 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ นั้น สนพ.กำลังพิจารณาในหลายทางเลือก เช่นจะให้เป็นระบบ Third Party Access -TPA ที่จะเปิดให้โรงไฟฟ้าใหม่ ที่ยังไม่ได้มีสัญญาก๊าซผูกพันกับปตท.สามารถจัดหาหรือนำเข้า LNG ได้เอง โดยมีค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ทั้ง ท่าเทียบเรือ สถานีรับจ่าย โครงข่ายท่อส่งก๊าซ ในอัตราที่ทาง กกพ. เป็นผู้กำกับ ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวน Shipper รายใหม่ๆเข้ามาในระบบ ให้เกิดการแข่งขัน (สอดคล้องกับมติ กพช.วันที่ 31 ก.ค.2560 ) โดยที่ ผู้ประกอบการเอกชนจะต้องมีส่วนรับความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70-80% ของต้นทุน โดยที่ต้องไม่ผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในรูปของค่าเอฟที
หรือทางเลือก ที่จะให้ ปตท.เป็น Single Buyer ในการรับซื้อก๊าซในดีมานด์ใหม่เข้าสู่ระบบ เช่นเดียวกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ที่ให้ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงรายเดียว โดยเปิดให้มีการประมูลแข่งขันระหว่าง shipper ที่ได้รับใบอนุญาตจากกกพ. รวมทั้ง ปตท. ด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ LNG จาก shipper ที่จัดหามาในราคาถูกที่สุด โดยในแนวทางนี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพก๊าซ หรือค่าWobbe index ในระบบท่อส่งก๊าซที่อาจกระทบกับกลุ่มลูกค้าเดิมของปตท. เพราะ ปตท.ยังเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซและรักษาสมดุลของระบบท่อเช่นเดิม
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า สำหรับการที่ กกพ. ออกใบอนุญาตเป็น shipper รายใหม่ ให้กับ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง (HKH) ซึ่ง GULF ถือหุ้น 49% และกำลังพิจารณาให้ บี.กรีม. ด้วยนั้น ถือเป็นการให้เอกชนมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม ส่วนในทางปฏิบัติว่าจะดำเนินการนำเข้าได้หรือไม่หรือในรูปแบบใดนั้น จะต้องรอดูความชัดเจนเรื่องนโยบายการเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 จากมติ กบง.และกพช.ในเดือน ก.ค.นี้
Source : Energy News Center