สังคมโลกและสังคมไทยรู้มานานแล้ว ว่าขยะ เป็นปัญหาที่พองตัวไม่เคยหยุด และน่าขยะแขยง
ในฐานะที่ผมได้สัมผัส ลงตามเก็บและสังเกตติดตามขยะมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับเมื่อได้ศึกษาร่วมไปกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา และน้องๆเยาวชนที่อาสาแก้ไขกับเรื่องขยะในภาคสนามทำให้ผมคิดว่า
ขยะนั้น ถ้าเราเข้าใจมันมากขึ้น เราจะเห็นแนวทางที่เราไม่เคยฝึกฝน ในการจัดการมันมากขึ้น ดีขึ้นได้ และแต่ละวิธีก็ให้ความยั่งยืนไม่เท่ากัน
นักวิชาการพบว่าขยะนั้นมีวิธีจำแนกได้หลายวิธีมาก
วิธีแรก ผู้บริหารเมืองส่วนมากคิดว่าขยะในโลกนี้ถ้าเอามาแปรเป็นพลังงาน จะได้ไม่กองอยู่ให้รกตา ขอแค่เผามันให้ถูกวิธี สารพิษในขยะจะถูกควบคุมและทำให้สลายไปได้มากกว่าจะปล่อยให้มันตากแดดหรือปนเปื้อนลงน้ำ แถมได้ไฟฟ้ามาใช้อีก
จึงนึกแยกขยะเป็นประเภทที่เผาได้กับที่เผาไม่ได้ เช่นแยกกระดาษ และพลาสติกออกมาเผา ส่วนโลหะ แก้ว ไม่เผาแต่เอาไปหาทางหลอมใหม่ใช้งานต่อ ส่วนกระเบื้อง เศษปูนก็เอาไปทำอย่างอื่นเท่าที่ทำได้
อย่างไรก็ดี ขยะที่จะเผาได้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นมาช่วยเร่งให้ได้อุณหภูมิสูงมากพอที่จะทำลายสารพิษที่จะถูกปลดปล่อยออกมา อีกทั้งขยะส่วนมากก็ไม่แห้งจริง จะเพราะมันเป็นอินทรียวัตถุที่มีความชื้นตกค้างจากภายในหรือเพราะมันได้ดูดซับรับฝนและความชื้นระหว่างกองรอจัดการ ก็ตามแต่
ขยะไทยมีค่าความชื้นราว 50-60% ส่วนมากจะเป็นเศษอาหารหรือพลาสติกเปื้อนอาหารมาก่อน แถมมีฝนบ่อยกว่า จึงค่อนข้างต่างจากขยะในประเทศพัฒนาแล้วที่มักเป็นขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ซึ่งแห้งกว่า การก้อปวิธีของฝรั่งมาใช้กับขยะไทยจึงมักเจออุปสรรคที่ฝรั่งก็คาดไม่ถึง
การเผาขยะจึงไม่ใช่การเผาด้วยขยะ แต่เป็นการเผาเชื้อเพลิงบางอย่างผสมไปกับการเผาขยะในเตาเผาที่มีคุณภาพสูง และมีแผ่น”ตะกรับ”หนีบกองขยะให้พลิกตัวได้(คล้ายที่ปิ้งปลาหมึกบนเตาถ่านให้สุกเท่ากันทั้งสองด้านนั่นแหละ แต่ใหญ่กว่าเยอะนะครับ) โดยเตาเผาต้องเพิ่มค่าความร้อนให้ถึงอย่างน้อย 850 * เซลเซียสขึ้นไป เพื่อจะทำลายสารพิษเช่น ไดออกซินที่มักถูกปลดปล่อยออกมาจากขยะที่ติดไฟอีกที และเมื่อความร้อนลดลง ปฏิกิริยาเคมีในห้องเผาจะสร้างไดออกซินขึ้นมาเองเสียอีก ดังนั้นวิศวกรจึงต้องมีคงอุณหภูมิเตาเผาให้สูงคงที่สม่ำเสมอและมีห้องดึงควันและขี้เถ้าออกมามาเผาซ้ำเพื่อขจัดไดออกซินอีกรอบ ก่อนปล่อยออกจากโรงเผาไป
เรื่องไดออกซินนี่ร้ายแรงและมีรายละเอียดแยะจนผมนำมาจาระนัยในนี้ไม่ไหว แต่มันคือสารก่อมะเร็งที่ไม่แค่เข้าร่างกายคนทางการสูดดม แต่มันไปรอเราในสัตว์บกสัตว์น้ำสารพัดและคงพิษไปได้นานทั้งในดิน ในน้ำ จนถึงวันที่เราสัมผัสหรือรับมันเข้าไปด้วย
การเผาจึงมีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม และต้องทำอย่างมีความรู้สูง เพราะขยะไม่ได้เป็นเชื้อไฟที่มีประสิทธิภาพในตัวมันเอง แถมมันปลดปล่อยสิ่งอันตรายร้ายแรงออกมา ถ้าทำแบบหยวนๆ ก็จะมีแต่หายนะตามมา
ยิ่งถ้าใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงก็ยิ่งมีไดออกซินออกมามาก
ไฟไหม้กองขยะ จึงไม่เคยเป็นทางออกใดๆ แต่เป็นปัญหาที่ยิ่งซ้ำเติมต่อปัญหาขยะและสุขภาพอีกทีเสมอ
อีกส่วนของสมการนี้คือ โรงเผาขยะต้องมีขยะมาป้อนให้พอดีคำ ถ้ามีขยะในพื้นที่ใกล้ๆโรงเผาน้อยไป มันจะเปลืองค่าเชื้อเพลิง ถ้าขยะมีมากไปมันก็จะสำลักง่าย
ครั้นถ้าขยะต้องเดินทางมาจากที่ไกล ค่าขนส่งจะสูงและการต่อต้านจากราษฏรก็จะเกิดขึ้นกับโรงเผา เพราะแม้ปลายปล่องจะทำได้สะอาดเข้มงวดเพียงใด แต่ขยะขามาและที่กองคอยก่อนเข้าเตาก็จะสร้างความกังวลใจให้เจ้าของที่ดินใกล้เคียง
Source : MGR Online