ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้คุณค่าของขยะว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ที่สำคัญยังขาดความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น มักพบปัญหาการถ่ายเทขยะไม่ทัน หรือการทิ้งขยะไม่ถูกที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะสะสมจนกลายเป็นวิกฤต เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดการขยะของประเทศมีจุดด้อยมากมาย มักมีคำถามว่า แยกไปทำไม แยกแล้วก็เอาไปรวมกันอยู่ดี หรือ แยกแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือ ทั้งที่จริงแล้ว ขยะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม จนนำไปสู่อาชีพใหม่ๆ หากมีการคัดแยกขยะ
จากปัญหาขยะนี้จึงนำไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เกิดไอเดียใหม่ๆ จากการคิดค้นของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเข้าใจบริบทของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อจูงใจการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร สร้างแรงกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จนเกิดการต่อยอดและนำแพลตฟอร์มเหล่านั้นไปใช้งานได้จริง เหมาะสมตามพฤติกรรมของคนในแต่ละชุมชนที่มีความหลากหลายของขยะ ทั้งนำไปรีไซเคิล อัพไซคลิง หรือนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือ RDF เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
ความคิดสร้างสรรค์ที่นำมาสร้างกระบวน การให้ผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ เกิดเป็น 4 แพลตฟอร์มต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ CEA ให้ข้อมูลว่า 4 แพลตฟอร์มจัดการขยะครัวเรือนและชุมชน เกิดจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้เพื่อการระดมความคิดเห็นและแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ร่วม (co-create) ระหว่างนักคิดเชิงสร้างสรรค์ นักออกแบบ
ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ จนพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่นำขยะไปให้กับโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าได้จริงและมีประสิทธิภาพ
4 แพลตฟอร์มที่ใช้ใน 4 พื้นที่ 4 บริบท บนพื้นฐานของการศึกษาพฤติกรรมผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ได้แก่ 1.PowerPick ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ 2.Care4 ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ 3.บุญบุญ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และ 4.BABA Waste ย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต
1.PowerPick…พื้นที่ติดตั้ง..ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด ถนนมหาพฤฒาราม บางรัก กทม. แพลตฟอร์มที่มีแนวคิดแก้ไขปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นหลังบริโภคจากฟู้ดเดลิ
เวอรี่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up ที่มีบริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิลด้วยตู้อัตโนมัติ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อม Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพคขยะ สู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พร้อมใช้จักรยานเพาเวอร์พิกไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick WtE eBike บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ผ่านแอพพลิเคชั่นในการกำหนดเวลารับขยะถึงที่
2.care4… พื้นที่ติดตั้ง หมู่บ้านจิตรณรงค์ 21 ใกล้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กทม. เป็นแพลตฟอร์มระบบเก็บขยะด้วยกระบวนการแยกขยะรับขยะ พักขยะ และส่งขยะเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะเพื่อให้การเผาขยะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
การแยกขยะ จะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้านพร้อมเอกสารแนะนำ เพื่อสร้างความเข้าใจวิธีการคัดแยก มีการรับขยะถึงหน้าบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนแยกขยะ จากนั้นมีจักรยานไปรับขยะไปจัดการตามแต่ละชนิด และพักขยะเพื่อลดความชื้นด้วย Solar Waste Dryer ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการของ กทม.ต่อไป
3.บุญบุญ…พื้นที่ติดตั้ง ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น เป็นหุ่นยนต์แมวเก็บขยะ สร้างแรงจูงใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่นำเทคโนโลยี Delivery Robot ด้วยการนำถังขยะมาหาคน ให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูล และความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ
ประกอบด้วยหุ่นยนต์แมวใช้ภายในร้านคาเฟ่ บุญเล็ก ที่วิ่งไปรับบริจาคขยะที่ใช้ภายในร้านค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และหุ่นยนต์แมวใช้ภายนอก บุญใหญ่ ที่รับขยะจากร้านค้าที่มีการคัดแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระบบ Line Official โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งต่อยอดด้วยการจัดแคมเปญ Activity Waste Information ร่วมกับพื้นที่อีกด้วย
4.BABA Waste พื้นที่ติดตั้ง เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต เป็นแพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน โดยใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างครัวเรือน ร้านค้า-คนเก็บขยะ-ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัดภูเก็ต พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจเพื่อให้เกิดการจัดการที่สมบูรณ์และความยั่งยืน ประกอบด้วย BABABIN ถังขยะสำหรับใช้ภายในคาเฟ่หรือบ้านเรือน และสำหรับใช้ภายนอก BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกขยะ ทั้งขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก
ผู้อำนวยการ CEA ระบุว่า โครงการ Wonder Waste! เป็นการผนึกกำลังความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานฝั่ง ความคิดสร้างสรรค์ อย่าง CEA และ กกพ. ที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาด เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงชุมชน ด้านหนึ่งคือการสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมเรื่องพลังงาน โดยเน้นการให้ความรู้เรื่องพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการผลิตเชื้อเพลิงขยะ
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสริมว่า โครงการ Wonder Waste! มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องการจัดการขยะให้ได้คุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนต่อไป
โมเดลแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ และสามารถขยายผล ทั้งใช้งานจริงและโมเดลธุรกิจในอนาคต คือ แพลตฟอร์ม PowerPick คิดค้นโดย บริษัท ขอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยแพลตฟอร์มนี้บริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up ที่มีบริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิลด้วยตู้อัตโนมัติและเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อม Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพคขยะ เพื่อเข้าสู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พร้อมใช้จักรยานเพาเวอร์พิกไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick WtE eBike ในการให้บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ ผ่านแอพพลิเคชั่นซึ่งจะกำหนดเวลารับขยะถึงหน้าบ้าน
ดร.บัณฑูรย้ำว่า กกพ.ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและสนับสนุนนโยบายรัฐที่จะก้าวไปสู่สังคมปลอดขยะ ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งประเทศไทยมีขยะมูลฝอยอีกจำนวนมากที่ยังกำจัดไม่ถูกวิธี ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนยังขาดความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้กำจัดขยะยังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
โครงการ Wonder Waste! จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์รูปแบบหรือนวัตกรรมการคัดแยกขยะใหม่ๆ ที่ชุมชนและ
ผู้ประกอบการในพื้นที่มีส่วนร่วม นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง จะสร้างคุณค่าในทุกมิติให้เกิดขึ้น เช่น ขยะแห้งสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนขยะเปียกหรือขยะชีวภาพ เข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ย ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็นำไปเข้าสู่กระบวนการทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต่อไป
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดพื้นที่การฝังกลบได้อย่างดี ทั้งยังสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นให้แก่ประเทศ ดร.บัณฑูรสรุป
เป็นอีกโครงการ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างแพลตฟอร์มบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง ทำให้เส้นทางของขยะจากต้นสู่ปลายชัดเจน นอกจากช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองแล้ว ยังสามารถนำขยะไปสร้างประโยชน์เพิ่มมูลค่าต่างๆ รวมถึงเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า
Source : MATICHON ONLINE