วินโคสท์-ททบ.5ลงนามนำร่องติดโซลาร์รูฟท็อปสถานีสนามเป้า เริ่มจ่ายไฟกลางปี65
วินโคสท์ จับมือ ททบ.5 ลงนาม 2 ฉบับ ศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบและการพัฒนาระบบแบตเตอรี่สำรอง (ESS) นำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแห่งแรกที่สถานีสนามเป้า 264 KWh พร้อม ESS ก่อนขยายไปยังสถานีโครงข่ายทั่วประเทศในระยะต่อไป พร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสัญญา 20 ปี “ททบ.5” มั่นใจเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดตอบโจทย์ความยั่งยืน คาดโซลาร์รูฟท็อปสนามเป้าก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟเชิงพาณิชย์กลางปี 2565
เมื่อเร็วๆ นี้ นายจักร จามิกรณ์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) และพล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.5) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบ และการพัฒนาระบบแบตเตอรี่สำรอง(ESS) พร้อมกันนี้ พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ ยังได้ร่วมลงนามกับ พลตรี สุรศักดิ์ ศุขะ ตัวแทน บริษัท ฉะเชิงเทรา เพาเวอร์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ วินโคสท์ ถือหุ้นใหญ่) ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(Solar Rooftop) ขนาด 264 KWh
นายจักร จามิกรณ์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วินโคสท์ ได้รับสิทธิจาก ททบ.5 แต่เพียงผู้เดียวในการศึกษาและพัฒนา การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสถานีและโครงข่าย และพื้นที่อื่นๆ ของ ททบ.5 โดยเบื้องต้นทางกลุ่มบริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนและก่อสร้าง โดยแผนก่อสร้าง บริษัท ฉะเชิงเทรา เพาเวอร์ จำกัด มีประสบการณ์ทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และแผงโซลาร์ฯ ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) โดยจะนำร่องแห่งแรกที่สถานีสนามเป้า ขนาด 264 KWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง) พร้อมด้วยการติดตั้งระบบ ESS ขนาด 100 KWh ลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหลังลงนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565
“การพัฒนาลงทุนติดตั้งที่สถานีสนามเป้านำร่องจะเป็นโซลาร์รูฟท็อป โดยติดตั้งบนหลังคาอาคารสตูดิโอของ ททบ.5 ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งหมดจากบริษัทฯ และจะจำหน่ายกลับไปยัง ททบ.5 ซึ่งรูปแบบนี้ก็จะใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่เราจะดำเนินการในระยะต่อไป” นายจักรกล่าว
ด้าน พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.5) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการรองรับจุดเปลี่ยนของประเทศในเรื่องของพลังงานที่จะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือกที่ไทยได้นำมาใช้มากกว่า 10 ปี โดยหลังจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสำรองไฟไว้ใช้ได้ช่วงกลางคืน ระบบการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์จึงมีความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของกิจการต่างๆ ทั้งอาคารสำนักงาน โรงงานและบ้านเรือนประชาชนทั่วไป หันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น และทำให้พลังงานทดแทนกลายเป็นพลังงานหลักในที่สุด ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการปฏิรูปด้านพลังงานครั้งยิ่งใหญ่ของไทย
ทั้งนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งการติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) และติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ไทยมีการใช้เป็นพลังงานทางเลือกมา 10 ปี แล้วทั้งที่จริงควรเป็นพลังงานหลัก แต่ติดปัญหาตรงที่ยังขาดแคลนแบตเตอรี่สำรอง (ESS) เพราะการผลิตไฟขึ้นอยู่กับแสงแดด ตอนกลางคืนจึงไม่มีไฟใช้ ซึ่งบริษัท วินโคสท์ฯ มีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีอยู่ก่อนแล้วภายใต้ความร่วมมือกับประเทศจีนในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถนำพลังงานมาใช้ในช่วงกลางคืนได้ และได้พัฒนาเทคโนโลยีไปจนถึงระบบที่คุ้มค่าแก่การลงทุนแล้ว และเมื่อ ESS พัฒนามากขึ้นเชื่อว่าภายในปลายปีหน้าจะสมบูรณ์และคุ้มค่าต่อการลงทุนในเชิงธุรกิจ
“โครงการนี้จะเป็นการให้สิทธิวินโคสท์ ในการศึกษาพื้นที่ศักยภาพทั้งสถานีเครือข่ายของ ททบ.5 และพื้นที่ต่างๆ ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน โดยการติดตั้งแผงโซลาร์ตามรูปแบบที่เหมาะสมของขนาดพื้นที่เป็นสำคัญ ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อที่จะนำมาสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด โดยทางกลุ่มวินโคสท์จะลงทุนทั้งหมดและขายไฟให้กับ ททบ.5 ในสัญญา 20 ปี ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ของความยั่งยืนอย่างแท้จริง” พล.อ.รังษีกล่าว
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากโครงข่ายสถานีของ ททบ.5 ที่มีศักยภาพมีทั้งสิ้น 53 สถานี ดังนั้นจึงมีแผนจะพัฒนาในเฟสที่ 2 อีก 10 สถานีเครือข่ายที่อยู่ในภูมิภาค โดยคาดว่าจะมีการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 30 ล้านบาท บมจ.สวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ และบริษัทย่อย ได้เริ่มโครงการพลังงานทดแทนบนหลังคา โดยมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2558 พัฒนาระบบโซล่าคาร์พอร์ทแห่งแรกในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทได้ทดลองและพัฒนาระบบสมาร์ท กริดภายในสวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ รองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาด 12 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 บริษัทฯ มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการออกแบบติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่า 28 โครงการ ปัจจุบัน มีโครงการทั้งในและต่างประเทศ ที่รอรับรู้รายได้ (แบ็คล็อก)ในอนาคต
Source: Matichon Online