จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่หนุนราคาน้ำมันดิบให้พุ่งทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้ยุโรป รวมถึงอีกหลายประเทศคว่ำบาตรไม่นำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย และหันมาเร่งพัฒนานโยบายด้านพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น
นับเป็นการจุดกระแสการลงทุนพลังงานสะอาดให้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนรวมในไทยที่มีนโยบายลงทุนใน clean energy, renewable energy, green energy มีอยู่ 12 กองทุน มูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท (ณ 25 มี.ค. 2565) ซึ่งส่วนใหญ่ไปลงทุนในสหรัฐและยุโรปเป็นหลัก
และมักจะลงทุนในธุรกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ผลิตอุปกรณ์แผงโซลาร์สำหรับใช้ในครัวเรือน
“จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น เป็นอีกแรงหนุนให้กลุ่มพลังงานที่จะเข้ามาทดแทนกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยในช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กองทุนเหล่านี้มีการฟื้นตัว มีผลตอบแทนเฉลี่ยราว 4.6% อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ต้นปียังติดลบที่ -10.8%”
สำหรับกองทุนพลังงานสะอาดที่มีผลตอบแทนสะสมสูงสุด ได้แก่ กองทุน TISCO New Energy จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ ที่มีผลตอบแทนย้อนหลัง 2 สัปดาห์ ฟื้นตัวขึ้นมาถึง 10.26% ส่วนผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ -8.84%
ตีโจทย์นโยบายพลังงานสะอาดยุโรป-จีน
“ชยานนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา กล่าวว่า ผลตอบแทนกองทุนพลังงานสะอาดที่ปรับขึ้นตัวมา เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงในปีที่แล้ว ซึ่งพอปีนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็ส่งผลให้ผลตอบแทนปรับตัวขึ้นมา
โดยการลงทุนด้านพลังงานสะอาดมีการลงทุนหลัก ๆ อยู่ในแถบยุโรป และประเทศจีน ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยข้อดีของการลงทุนพลังงานสะอาดในยุโรป คือ เมื่อยุโรปแตกหักกับรัสเซีย ทำให้ยุโรปจะต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้น้อยลง ซึ่งปัจจุบันคาดว่านโยบายด้านพลังงานสะอาดจะอยู่ในแผนของการร่างกฎหมายของยุโรป โดยคาดว่าจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีนี้
ส่วนจีนเป็นประเทศที่ลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากที่สุด เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด อันดับที่ 2 ของโลก จะเห็นว่าจีนลงทุนด้านนี้มานานกว่า 2 ปี
โดยนโยบายด้านพลังงานสะอาดของจีนจะเป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องผู้บริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่, รถยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
“ทั้งยุโรปและจีนต่างมีความสนใจในเรื่องของพลังงานสะอาดที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าการลงทุนธีมพลังงานสะอาด หรือ clean energy มาแน่นอน ดังนั้นถ้านักลงทุนต้องการลงทุนระยะยาวสามารถเข้าลงทุนได้ เนื่องจากผลตอบแทนเพิ่งเริ่มปรับตัวขึ้นมาในระยะแรก ก็ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปต่อได้”
การบริโภคพลังงานหมุนเวียน 5-10 ข้างหน้า อัตราเร่งแรง
ด้าน “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรปพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหินจากรัสเซีย
แต่เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ ทำให้หลายประเทศในยุโรปรวมไปถึงเยอรมนี พยายามกระจายความเสี่ยงแหล่งที่มาของพลังงาน เพื่อลดการพึ่งพลังงานจากรัสเซีย หันมาให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานอื่น โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน
ดังนั้นการบริโภคพลังงานหมุนเวียนในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ จะเติบโตด้วยอัตราเร่งมากกว่าที่หลายสำนักคาด และจะส่งผลดีต่อบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และส่งผลดีต่อการลงทุนธีมพลังงานสะอาดทั่วโลกโดยเฉพาะในจีน ซึ่งมีสัดส่วนในการผลิตพลังงานสะอาดสูงที่สุดของโลก
“แม้จะมีความต้องการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดค่อนข้างมากขึ้นในช่วงสงครามที่กำลังร้อนระอุเช่นนี้ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ลงทุนได้
“หากพิจารณาที่การเคลื่อนไหวของราคา ETF ย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ICLN กองทุน ETF ลงทุนตามดัชนี S&P Global Clean Energy Index ซึ่งคำนวณจากหุ้นทั่วโลกที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในขณะนี้ ระดับราคายังถือว่ายังไม่สูงมากนัก หากเทียบกับในอดีตที่เคยปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดช่วงปลายปี 2563” ตราวุทธิ์ กล่าว
เรียกได้ว่าการลงทุนในพลังงานสะอาด นับเป็นอีกเทรนด์การลงทุนแห่งอนาคตที่น่าจับตาเลยทีเดียว
Source : ประชาชาติธุรกิจ