กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

1 เมษายน 2564

“การปฏิวัติพลังงานสะอาด” คือภารกิจเร่งด่วนอันดับแรกของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ที่ประกาศจุดยืนชัดจะเดินหน้าสนับสนุนนโยบายสิ่งแวดล้อมแบบ 360 องศา ประเดิมด้วยการลงนามคำสั่งพิเศษพาอเมริกากลับเข้าร่วมในความตกลงปารีสเพื่อลดภาวะโลกร้อน ปลุกกระแสให้ชาติสมาชิกทั้ง 196 ประเทศขององค์การสหประชาชาติ กลับมาผนึกกำลังอีกครั้ง เพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงทะลุเป้าหมาย

เมื่อโลกทั้งใบกำลังตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กลุ่มอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของโลกจึงต้องเร่งวางกลยุทธ์ด่วนจี๋เพื่อหนุนส่งให้เกิด “การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การลดการปล่อยมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เต็มลูกสูบคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมพลังงาน, สาธารณูปโภค และทรัพยากร ซึ่งกำลังเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากชาวโลก ที่ต้องการเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ตามเจตนารมณ์ของยูเอ็น

ถึงเวลาแล้วที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมพลังงานด้วย “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) เพราะนี่คือกุญแจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล ซึ่งมุ่งเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีของเสียน้อยที่สุด เพื่อจะนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในระบบ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ยืดอายุการใช้งานให้เต็มที่ รวมทั้งหาทางนำของเสียมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยรายงาน “Taking on tomorrow : The rise of circularity in energy, utilities and resources” ของ “PwC ประเทศไทย” เสนอแนวทางไว้อย่างน่าสนใจหลายอย่าง เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เริ่มจาก “ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตมากขึ้น” ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งต่อไปการเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจะยิ่งแพร่หลายขึ้น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน และประหยัดพลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้องค์กรในระยะยาว

“เพิ่มการรีไซเคิล” นอกจากจะหาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การสร้างระบบหมุนเวียนที่วัตถุดิบทั้งหมดมาจากกระบวนการรีไซเคิล ก็มีส่วนช่วยให้ธุรกิจพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ลดการสูญเสียทรัพยากร” ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนกลยุทธ์การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะต้องใส่ใจกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

“สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเป็นพันธมิตรห่วงโซ่อุปทาน” องค์กรส่วนมากมีระบบห่วงโซ่อุปทานแบบเส้นตรง จึงขาดกระบวนการฟื้นฟูและนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ความท้าทายนี้ไม่ใช่แค่การเพิ่มกระบวนการ แต่ยังต้องเชื่อมประสานและสร้างสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เพราะระบบห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า หากรู้จักต่อยอดจับมือกับพันธมิตรรอบตัว เพื่อพัฒนานวัตกรรมและหาโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ.

Source : ไทยรัฐ