กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

1 เมษายน 2564

“ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” จ่อประมูลจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊ม PTT Station ปีนี้เพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศรองรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งเร่งขยายธุรกิจในต่างประเทศ ตั้งเป้า 5 ปีนี้ มี EBITDA ธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 33% และธุรกิจน้ำมันมี EBITDA ลดลงจาก 68% เหลือ 55%

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะเปิดประมูลจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในปีนี้เพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศเน้นหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัด ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน (Quick Charge) ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา และจะขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่งภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 30 สาขาเพื่อรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมทั้งได้มีการจัดทำ Application ‘EV Station’ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างครบวงจร

ปัจจุบันกฎระเบียบยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั่วไปจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถอีวีได้ ยกเว้น 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทใช้วิธีให้สมาชิกบัตรบลูการ์ดมาเสียบที่เครื่องเพื่อใช้งานได้อย่างอัตโนมัติ ดังนั้น หากภาครัฐต้องการให้มีการใช้รถ EV อย่างแพร่หลาย จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งออกกฎหมายเพื่อให้สัมพันธ์กับนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเชื่อมโยงการส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมและทั้งระบบ รวมทั้งมีมาตรการทางด้านภาษีออกมาสนับสนุนด้วย

ส่วนแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศนั้น ปัจจุบันบริษัทได้จัดตั้งบริษัทเข้าไปร่วมลงทุนขยายธุรกิจใน 3 ประเทศแล้ว คือ จีน, เมียนมา และเวียดนาม โดยในส่วนของจีนที่ได้จัดตั้งบริษัท PTTOR CHINA เพื่อทำธุรกิจหล่อลื่นในประเทศจีน รวมถึงได้มีการขยายสาขาร้านคาเฟ่ อเมซอนในจีนไปแล้ว 3 สาขา ซึ่งการขยายสาขาในอนาคตจะเน้นลักษณะของการหาพันธมิตรร่วมลงทุน 

ส่วนเมียนมา มีการจัดตั้ง 2 บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท คันบาวซา จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา ในการจัดตั้ง 2 โครงการ คือ 1. โครงการร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ในการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงการจัดตั้งและบริหารคลังน้ำมัน ท่าเรือ และโรงบรรจุก๊าซหุงต้มแอลพีจี ซึ่งเดิมโครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 นับเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา มีความจุรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุแอลพีจีรวม 4,500 ตัน 

2. โครงการร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ รีเทล จำกัด โดยจะนำแบรนด์ OR ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยมาต่อยอดเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคชาวเมียนมา ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ก๊าซหุงต้มแอลพีจี และร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งเดิมวางเป้าหมายการขยายสถานีฯ ที่ 70 แห่งภายในปี 2566 นั้น โดยทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยโครงการแรกคืบหน้าไปแล้ว 65% และโครงการที่สองอยู่ระหว่างก่อสร้างปั๊ม 2 แห่ง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาทำให้ต้องชะลอทั้ง 2 โครงการดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง 

ด้านการลงทุนในเวียดนาม บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผ่านบริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ (สิงคโปร์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพื่อดำเนินธุรกิจคาเฟ่ อเมซอนในเวียดนาม ปัจจุบันจัดตั้งแล้ว 5 สาขา


นางสาวจิราพรกล่าวถึงแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2568) บริษัทตั้งเป้าขยายสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ของธุรกิจค้าปลีก (Non-Oil) เพิ่มเป็น 33% จากสิ้นปี 2563 อยู่ในระดับ 25% ทำให้สัดส่วน EBITDA ธุรกิจน้ำมันจะอยู่ในระดับ 55% จาก 68% ส่วนธุรกิจในต่างประเทศมีเป้าหมาย EBITDA ที่ 12% จากสิ้นปี 2563 อยู่ในระดับ 4.9% 

ทั้งนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นขยายซื้อกิจการ หรือ M&A และการร่วมลงทุน (Joint Venture) โดยจะขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR ที่ถือหุ้น 100% เน้นเข้าลงทุนธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต โดยคาดว่าจะใช้เงินในการลงทุนสำหรับ M&A และ Joint Venture ในสัดส่วน 29% ของวงเงินลงทุน 74,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี เพื่อช่วยสนับสนุนให้สัดส่วน EBITDA ของธุรกิจ Non-Oil ให้ได้ตามเป้าหมาย 

ปัจจุบัน OR อยู่ระหว่างเจรจาดีลธุรกิจใหม่อยู่หลายราย โดยให้ความสำคัญในการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพและ SME ที่มีศักยภาพเป็นหลัก เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตภายใต้แพลตฟอร์มของ OR ที่มีสถานีบริการน้ำมันภายในประเทศกว่า 2,000 แห่ง และร้านคาเฟ่ อเมซอน 3,300 สาขา โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับคาร์แชริ่ง (Carsharing) ธุรกิจเพื่อสุขภาพ (Health Care) รวมถึงธุรกิจให้บริการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

Source : MGROnline