กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

10 มีนาคม 2564

อีกไม่เกิน 5 เดือนโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาด 45 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ก็จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ ที่สามารถทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีเสถียรภาพ และยังเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ วันที่มีการเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าอีกด้วย

โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ.

โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ. แห่งนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ให้ดีขึ้น จากเดิมพื้นที่ดังกล่าวต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะใน สปป.ลาว  พร้อมๆ กับการโปรโมทให้เป็นจุดท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ของโครงการที่สวยงามแห่งใหม่แห่งเดียวในประเทศที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศไม่ควรพลาด

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ. นั้นได้ไอเดียมาจาก โครงการสาธิต Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาดเล็กแห่งแรกของโลกที่ เขื่อน Alto Rabagao  ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทพลังงานแห่งโปรตุเกส หรือ EDP (Energias de Portugal)  ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ.เคยพาคณะสื่อมวลชนจากหลายสำนักของไทยไปดูงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

โครงการสาธิต Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาดเล็กแห่งแรกของโลกที่ เขื่อน Alto Rabagao  ประเทศโปรตุเกส

อย่างไรก็ตาม โครงการสาธิตที่เขื่อน Alto Rabagao นั้นมีขนาดเล็กว่า โครงการของ กฟผ. มาก   โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียง 220 กิโลวัตต์เท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือมีการนำมาใช้ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของตัวเขื่อนที่มีกำลังผลิต 72 เมกะวัตต์ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 36 เมกะวัตต์)

ส่วนโครงการที่เขื่อนสิรินธรของ กฟผ. เฉพาะแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำก็ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 45 เมกะวัตต์ กินพื้นที่บนผิวน้ำประมาณ 480 ไร่ (ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด) ซึ่งทีมวิศวกรของ กฟผ. พัฒนาโครงการให้เป็นระบบ Hybrid System คือผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แหล่งพลังงานมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป เช่นเดียวกับที่เขื่อน Alto Rabagao โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากทั้งแผงโซลาร์เซลล์และพลังน้ำจากเขื่อน และใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วร่วมกัน เช่น สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าฯ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ  ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดต่ำลงได้ โดยมีจำนวนชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าที่ยาวนานขึ้น เพราะในช่วงเวลากลางวันที่เดิมต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนตอบสนองความต้องการ ก็จะเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทน  ส่วนในช่วงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ จึงจะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ.

จุดแตกต่างกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ โครงการสาธิตของ EDP ที่เขื่อน Alto Rabagao นั้น ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐในรูปของ Feed in Tariff หรือ FiT ที่ 95 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง (3.2 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง) ภายในระยะเวลา 15 ปี เพื่อช่วยให้โครงการสามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้นกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ในขณะที่โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ.ที่เขื่อนสิรินธรนั้น ไม่ได้รับการส่งเสริม FiT จากภาครัฐ

โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ.

นอกจากนี้ การลงทุนส่วนแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการของ กฟผ.นั้น ก็เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ที่สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งยังติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene ) ที่มีความทนทานต่อการใช้งานมากกว่าอีกด้วย

สำหรับความสำเร็จของโครงการสาธิต  ณ เขื่อน Alto Rabagao นั้น ทาง EDP ผู้พัฒนาโครงการจะนำไปขยายผล ที่เมือง Alqueva ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของโปรตุเกส โดยหวังจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวมสูงถึง 480 เมกะวัตต์ ที่ตามแผนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ใน ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา  แต่เมื่อโครงการมีความล่าช้าออกไป  จึงทำให้โครงการ ที่เขื่อนสิรินธร ของ กฟผ. สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ก่อน และกลายเป็นโครงการที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปจนกว่าโครงการที่เมือง Alqueva จะแล้วเสร็จ

ภาพจำลองทัศนียภาพรอบโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ. ที่จะโปรโมทให้เป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยงามแห่งใหม่ของไทย

จุดสำคัญที่ทางผู้บริหาร กฟผ. พาคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเดินทางไปดูงานโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ผสมผสานโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่เขื่อน Alto Rabagao ประเทศโปรตุเกสในครั้งนั้น ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า เป็นโครงการที่สามารถทำได้จริง และยังไม่พบข้อบกพร่อง

ซึ่งจากวันนั้นที่เริ่มต้นจากการได้ไอเดีย มาถึงวันนี้ที่การพัฒนาโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เขื่อนสิรินธร มีความคืบหน้าไปมากกว่า 80 % โดยมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ 100% และจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564 นี้  ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ ให้เห็นถึงศักยภาพของ กฟผ. ว่าพูดแล้วทำได้จริง

Source : Energy News Center