เมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) โดยตั้งเป้าให้ EU ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% ภายในปี 2030 และให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Climate Neutral) ภายในปี 2050
นอกเหนือจากแผนการลงทุนอันมหาศาลในอุตสาหกรรม “สีเขียว” (ทาง EU ได้สำรองไว้ 1 ใน 3 ของงบฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 หรือเท่ากับ 6 แสนล้านยูโร) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางรัฐสภายุโรป (European Parliament) ได้ผ่านมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือ มาตราการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน โดยวางแผนการบังคับใช้ในปี 2023
แม้ชื่ออาจจะฟังดูซับซ้อน แต่ที่จริงแล้ว CBAM คือ กลไกภาษีนำเข้าคาร์บอนของ EU ซึ่งจะบังคับให้ผู้นำเข้าสินค้าจากนอก EU ต้องซื้อ “ใบรับรองพิเศษ” โดยมีราคาเชื่อมโยงกับราคาของ EU Emission Trading System (EU ETS) หรือตลาดการค้าคาร์บอนภายในของ EU
ข้อที่ทำให้ CBAM ไม่ผิดกฎระเบียบของ WTO ที่ต่อต้านแนวทางของการคุ้มครอง หรือ Protectionism คือ การออกข้อยกเว้นการปรับสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศที่มีกลไกควบคุมคาร์บอนของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้เป็นแค่ประเทศส่วนน้อย แถมทางธนาคารโลกยังได้ระบุว่าปัจจุบันแค่ 1 ใน 5 ของการปล่อยมลพิษของโลกนั้นมีการปรับราคา
ทำไมถึงต้องมี CBAM?
อย่างแรกต้องย้อนกลับมาพูดถึงระบบ EU Emission Trading System (EU ETS) มาตรการนี้กำหนดเกณฑ์การปล่อยคาร์บอนขั้นสูงสุดของแต่ละโรงงาน (cap) โดยถ้าโรงงานหนึ่งปล่อยได้ต่ำกว่า cap ของตนเอง จะสามารถขายสิทธิ์ในการปล่อยให้กับโรงงานอื่นได้ ส่วนในทางกลับกันโรงงานที่ปล่อยเกิน cap ของตนเองก็จะสามารถซื้อสิทธิ์ในการปล่อยเพิ่มได้
ทาง EU นั้นได้ริเริ่มมาตรการนี้ตั้งแต่ปี 2005 โดยผู้ประกอบการจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรมที่ถูกบังคับเข้าร่วม ตั้งแต่เหล็ก ซีเมนต์ โรงกลั่น โรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมการบินภายในเขตเศรษฐกิจยุโรป
แม้มาตรการนี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ลดลงของ EU แต่ได้ทำให้เกิดปัญหา “Carbon Leakage” ซึ่งคือการที่ผู้ประกอบการได้ย้ายฐานการผลิตออกจาก EU ไปยังประเทศที่ไม่มีกฎระเบียบควบคุมคาร์บอน หรือการที่ทางผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้านำเข้าที่มีราคาที่ถูกกว่า
ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการภายในไม่น้อย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ราคาการปล่อยคาร์บอนต่อหน่วยได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และเมื่อเดือนพฤษภาคมราคาได้พุ่งเกิน 50 ยูโรต่อ Metric Ton เป็นครั้งแรก
เป้าหมายของ CBAM นั้น มีอยู่สามมิติ ประกอบด้วย
- 1) มิติการเมือง: สร้างแรงกดดันให้ประเทศต่างๆออกมาตรการควบคุมคาร์บอน และเพิ่มความแข็งแกร่งของ EU ในฐานะผู้นำในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก
- 2) มิติเศรษฐกิจ: แก้ปัญหาเรื่อง “Carbon Leakage” และปกป้องผู้ประกอบการภายในให้ไม่เสียเปรียบ
- 3) มิติงบประมาณ EU: มีการคำนวนว่ารายได้จาก CBAM จะอยู่ระหว่าง 5,000 ล้านถึง 14,000 ล้านยูโร/ปี ซึ่งปัจจุบันมีการถกเถียงในประเด็นการใช้งบนี้ ระหว่างการใช้สำหรับโครงการใน EU ภายใต้แนวทาง Green Deal หรือสำหรับโครงการในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีงบจำกัด
CBAM จะเกิดได้จริงหรือไม่?
มีนักวิเคราะห์มองว่าการที่ CBAM มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศที่มีมาตราการควบคุมคาร์บอนของตัวเอง อาจทำให้ CBAM เป็นแค่เครื่องมือที่ EU ถือไว้ต่อรองมากกว่าที่จะนำมาใช้จริงด้วยซ้ำ (โดยเฉพาะถ้าเจอแรงต่อต้านจากประเทศที่จะถูกกระทบโดยตรง เช่น จีน อินเดีย หรือรัสเซีย) เพราะถ้าสามารถกดดันให้ประเทศอื่นๆ เริ่มควบคุมคาร์บอนด้วยตัวเองได้ ทาง EU ก็จะบรรลุเป้าหมายในทั้งมิติการเมืองและเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องไปมีปัญหากับใคร
และอนาคตอาจจะทำให้เกิดคล้ายๆกลุ่ม “Climate Club” เฉพาะสำหรับประเทศที่มีมาตรการคาร์บอน
อีกปัจจัยสำคัญ คือ สหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความสนใจในเรื่องนี้และได้พูดถึงตั้งแต่ช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับการที่ จอห์น เคอร์รี่ ผู้แทนพิเศษ ว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯได้แถลงว่าทางรัฐบาลเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วในกรณีที่ทั้งสหรัฐฯและ EU ใช้กลไกนี้ บีบให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่เน้นส่งออกไปสองตลาดนี้ ต้องรีบปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมส่งออกของตัวเองโดยทันที
ผลกระทบต่อประเทศไทย และแนวทางการเตรียมตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า CBAM จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่สามอย่างไทยแน่นอน รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ได้ประเมินผลกระทบ เช่น
- 1) ราคาสินค้านำเข้าจากประเทศที่ไม่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เทียบเท่ากับของ EU จะมีราคาสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าสู่ตลาด EU ลดลง
- 2) ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค EU จะหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในมากขึ้น
- 3) สินค้าราคาถูกจากประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าถูกกีดกันทางอ้อมไม่ให้เข้าตลาด
โดยรายงานยังได้ระบุถึงมาตรการเตรียมตัวของไทย ไม่ว่าจะเป็น 1) ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products) 2) ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction) 3) โครงการนำร่องระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอนด้วยความสมัครใจ (voluntary carbon market)
แม้มาตรการเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ใกล้ที่จะเพียงพอต่อการรับมือกับ CBAM และเทรนด์ใหม่ของการค้าระหว่างประเทศได้
มาตรการฉลากมีความสำคัญต่อการให้ข้อมูลและการสร้างความตื่นตัวสำหรับประชาชน แต่ก็ไม่ใช่นโยบายหลัก ส่วนการซื้อขายสิทธิคาร์บอนแบบสมัครใจ เช่น การเปิดตัวของ “Carbon Markets Club” ของกลุ่มเอกชนรายใหญ่บางราย ที่ประกาศว่าจะแก้ปัญหามลพิษผ่านการซื้อขายคาร์บอนกันเอง แม้อาจจะมีความตั้งใจดี
แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่า “ความสมัครใจ” ของเอกชนและการมาตั้งกฎกันเองโดยที่ไม่มีผู้ควบคุม (Regulator) ที่แข็งแกร่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ CSR เท่านั้น
เริ่มต้นวันนี้ดีที่สุด
สำหรับการเตรียมพร้อมต่อ CBAM และการค้าระหว่างประเทศแบบใหม่ บทความนี้ เสนอว่าประเทศไทยจะต้องมองการณ์ไกลและรีบวางแผน จะต้องมีกลไกควบคุมคาร์บอนที่หนักแน่นกว่าของปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของภาษีคาร์บอน หรือระบบซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซแบบภาคบังคับ
การมีกลไกควบคุมคาร์บอน คือ ความได้เปรียบของเรา โดยเราจะตั้งกฎเกณฑ์ของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาตั้งให้แทน เหมือนกับที่ทาง EU อยากจะทำ และมากไปกว่านั้น จะทำให้เราเจรจากับทาง EU หรือกลุ่ม “Climate Club” ด้วยความเท่าเทียมได้
ส่วนในทางกลับกัน การไม่มีกลไกควบคุมคาร์บอน ก็คือความเสียเปรียบโดยปัจจุบันเริ่มมีหลายประเทศที่มองถึงตรงนี้แล้ว เช่น อินโดนีเซีย ได้เริ่มผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ส่งร่างกฎหมายไปที่รัฐสภาเพื่อการพิจารณา
ถ้าเรายังไม่เตรียมตัว เราจะกลายเป็นผู้ตกรถและถูกมองข้ามโดยสายตาของประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่สำคัญจะทำให้เรามีอุปสรรคต่อการดึงดูดบริษัทใหม่ๆเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะแนวโน้มของบรรษัทข้ามชาติ (Multi-National Corporation) ที่หันมาจริงจังเรื่องความยั่งยืน หรือหลักการ ESG มากขึ้น ซึ่งการพิจารณาสถานที่ตั้งโรงงานหรือสำนักงานภูมิภาคจะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับประเทศที่มีมาตรการรองรับเรื่องนี้
CBAM คือจุดเริ่มต้นของมิติการค้าโลกแห่งอนาคต เราต้องเริ่มจากการ “ยอมรับ” ว่าวันนี้ เรื่องวิกฤติสภาพอากาศไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆอีกต่อไปแล้ว โดยมีบรรทัดฐานใหม่ที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นการปล่อยมลพิษในทุกๆการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้านานาชาติ หรืออื่นๆ
ส่วนหลังจาก “ยอมรับ” และเราต้อง “ถกเถียง” โดยมีการร่วมหารืออย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นในสภาผู้แทนราษฎร ในสื่อมวลชน หรือในภาคประชาชน
การเริ่มต้นเร็ว คือ ความได้เปรียบของเรา ที่จะเตรียมพร้อมและปรับตัวก่อนคนอื่น เราต้องรีบลงมือทำก่อนที่จะสายเกินไป
Source : Thaipublica