กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

9 พฤศจิกายน 2564

“กลุ่มปตท.(PTT)” ตั้งเป้า 5 ปี(64-68) ลงทุน 8.65 แสนลบ. แบ่งเป็นลงทุนปี 65 กว่า 4.3 แสนลบ. ชูกลยุทธ์ 2 ส่วน ลงทุนธุรกิจพลังงานอนาคต ทั้งพลังงานหมุนเวียน 12,000 MW-กลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่-EV และ ธุรกิจยา-การแพทย์ หวังช่วยหนุนคุณภาพชีวิตคนไทย ด้าน BANPU-BPP ขายโรงไฟฟ้าสิงคโปร์ Sunseap รับเงิน 1.2 หมื่นลบ. เตรียมนำเงินลุยธุรกิจพลังงานสะอาด  

*** PTT กางแผนลงทุนกลุ่มปตท. 5 ปี วงเงิน 8.65 แสนลบ.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า แผนการลงทุนของกลุ่มปตท. บริษัทตั้งเป้าภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี64-68) เตรียมวงเงินไว้ประมาณ 865,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ซึ่งวงเงินดังกล่าวยังไม่นับรวมเงินทุนที่สำรองไว้หากมีโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 430,000 ล้านบาท พร้อมคาดว่าการลงทุนของบริษัทจะมีส่วนในการช่วยบูทอัพประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ มองว่าพันธกิจหลักของ ปตท. ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ได้มีการจัดหาพลังงานให้กับประเทศใช้อย่างเพียงพอ ตั้งแต่การพัฒนา การลงทุน สร้างโรงกลั่น พัฒนาก๊าซธรรมชาติในประเทศ หรือการสร้างท่าเรือ LNG เพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติจากทั่วโลก และทำให้บริษัทต้องเข้าไปเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานแห่งอนาคต

โดยปตท.ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อสอดรับกับการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นและทิศทางการเติบโตที่มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต รวมถึงการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าด้านพลังงาน

*** ลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต – ดันพลังงานทดแทนแตะ 12,000MW 

นายอรรถพล กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.พลังงานอนาคต (Future Energy) อาทิ การมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฟฟ้า,ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจดังกล่าวไปบ้างแล้ว 

ซึ่งในส่วนของพลังงานทดแทนจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งได้มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนไปแล้วหลายที่ เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน, การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จาก Sheng yang Energy ในไต้หวัน และการซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทพลังงานหมุนเวียน Aveada Energy ในอินเดีย เป็นต้น

พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานทดแทนเป็น 12 GW หรือราว 12,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 73 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 2,000 MW

ขณะที่ธุรกิจ EV บริษัทได้ร่วมกับ Foxconn จากไต้หวัน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในปี 65 และอยู่ระหว่างศึกษาการทำ M&A บริษัทสตาร์ทอัพสำหรับรถจักรยานยนต์และรถบัส ส่วนด้านแบตเตอรี่ได้พัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบขนาดเล็ก โดยใช้วัสดุ Core-shell cathode

ขณะที่สถานีชาร์จได้สร้าง Ecosytem ในประเทศโดยตั้งเป้าติดตั้ง 200 จุด ในปีนี้และปีหน้า 300 จุด และพัฒนา EV Service platform หรือแอพพิเคชั่น EVME เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

*** รุกธุรกิจยา-การแพทย์ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย
    
นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ด้าน Beyond จะมีการเข้าไปรุกธุรกิจใหม่ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย อาทิ ธุรกิจด้านยา,อุปกรณ์การแพทย์,ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อีกทั้งยังมีธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ High Value Business ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี, Mobility & Lifestyle, Logistics & Infrastructure จะเป็นพื้นฐานให้กับประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปอีกขั้น และ AI, Robotics digitalization 

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องยาที่ไต้หวัน,ร่วมกับองค์การเภสัชและสวทช.ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา เช่น สารตั้งต้นสำหรับการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์, ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ได้ร่วมกับ Nove Foods ดำเนินธุรกิจ Plant-Based Food เพิ่มทางเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ

โดยจะมีการตั้งโรงงานระดับโลกในประเทศไทยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้ร่วมกับบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ตั้งบริษัท Innopolymed สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

    “เมื่อมองไปในอนาคต Future energy จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และด้วยพันธกิจของบริษัทก็ต้องมุ่งไปสู่พลังงานในอนาคตเหล่านั้นด้วย ส่วนคำว่า Beyond จะสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปอีกขั้นของประเทศ หรือ New S-curve ที่ต้องได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากหลายภาคส่วนทั้ง ภาคเอกชนและภาครัฐ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า Beyond ของ ปตท. เช่นเดียวกัน” นายอรรถพล กล่าว

*** BANPU-BPP ขายโรงไฟฟ้าสิงคโปร์ ‘Sunseap’รับเงิน 12,154 ลบ. 

     ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัท BPIN Investment Co., Ltd. (BPINI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) (บริษัทฯ และ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ถือหุ้นใน Banpu NEXT สัดส่วนเท่ากันที่ 50%) ได้ลงนามขายหุ้นทั้งหมดที่สัดส่วน 47.5% ในบริษัท Sunseap Group Pte, Ltd. (Sunseap) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์

โดยบริษัทฯ ได้ขายหุ้น Sunseap ให้แก่บริษัท EDP Renov veis SA (EDPR) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียน จดทะเบียนในประเทศสเปน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Euronext Lisbon stock exchange of Portugal การจำหน่ายหุ้น Sunseap ของ BPINI ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายการทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ Sunseap โดย EDPR

ภายใต้สัญญาการซื้อขายดังกล่าวการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดโดย BPINI มีมูลค่าเท่ากับ 489.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเทียบเท่า 364 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 12,154 ล้านบาท) ทั้งนี้การซื้อขายจะมีผลสมบูรณ์เมื่อบรรลุเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาฯ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 65

*** นำเงินลงทุนพลังงานสะอาด หวังกำลังผลิตแตะ 6,100MW ในปี 68 

นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทฯ จะนำเงินทุนที่ได้จากการจำหน่ายไปลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความเติบโตตามแผนกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิต 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 68

ทั้งนี้ ณ ต้นปี Sunseap มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน จากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วรวมทั้งสิ้น 320 เมกะวัตต์ ซึ่งกว่าครึ่งของกำลังการผลิตดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกกว่า 700 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ

โดย BPINI ได้ทำการลงทุนครั้งแรกใน Sunseap ในปี 60 และมีการลงทุนเพิ่มในปี 61 และปี 63 เพื่อสนับสนุนแนวทางการลงทุนเพื่อการเติบโตของ Sunseap โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 BPINI รายงานเงินลงทุนใน Sunseap รวม 236.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเทียบเท่า 177.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 5,569 ล้านบาท) ทั้งนี้การจำหน่ายหุ้นดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการลงทุน (Portfolio Rationalization)

Source : efinancethai.com