ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์มาตลอดว่าแหล่งพลังงานที่มนุษย์คุ้นเคยและใช้กันมา เช่น พลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก๊าซ ปิโตรเลียม ถ่านหิน และนิวเคลียร์ จะค่อยๆหมดไป เพราะพลังงานเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่ม ใช้ไป หมดไป ด้วยเหตุนี้ กระแสการประหยัดพลังงานไปจนถึงการหานวัตกรรม แหล่งพลังงานทดแทน จึงเกิดขึ้นและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
เพื่ออัปเดตถึงนวัตกรรม แหล่งพลังงานทดแทน แห่งโลกอนาคต ที่มาแรง และทั่วโลกให้การตอบรับ Facebook : PTT Group Rayong ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “5 แหล่งพลังงานแห่งโลกอนาคต” ที่บอกเล่าถึงความพยายามในการคิดค้นวิธีลดปริมาณการใช้พลังงาน ตลอดจนการหาแหล่งพลังงานทดแทนพลังงานเดิมที่จะหมดไปในอนาคต ซึ่ง แหล่งพลังงานทดแทน ที่น่าสนใจและมาแรงที่ควรค่าแก่การทำความรู้จักและเรียนรู้มี 5 ชนิด
แหล่งพลังงานทดแทน มาแรง 5 ชนิด ติดสปีดให้โลกอนาคต
- พลังงานชีวภาพจากสาหร่าย – Algae Power
หลายคนอาจจะแปลกใจว่าเราจะนำสาหร่ายมาสร้างพลังงานทดแทนได้จริงหรือ ต่อข้อสงสัยนี้ ได้รับการคลายความข้องใจแล้วโดยนักวิทยาศาสตร์หลายสำนัก ที่บอกตรงกันว่าได้ค้นพบน้ำมันในสาหร่ายในปริมาณมาก เราจึงสามารถนำสาหร่ายเหล่านี้มาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้
นอกจากนั้น สาหร่ายยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีถึงแม้จะเป็นน้ำเสียก็ตาม และสาหร่ายเองก็มีความสามารถในการช่วยบำบัดน้ำเสียอีกด้วย โดยสาหร่ายที่เพาะปลูกในพื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่ จะให้ปริมาณน้ำมันมากถึงประมาณ 34,000 ลิตร ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในต่างประเทศที่กำลังพัฒนาการใช้พลังงานน้ำมันชีวภาพจากสาหร่าย มาใช้ในรถยนต์ไฮบริดควบคู่กับแบตเตอรี่แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น น้้ามันดิบที่สกัดได้จากสาหร่าย สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้เช่นเดียวกับน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ โดยหลังจากผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันจากสาหร่าย น้้ามันดิบที่ได้มาเมื่อน้ำไปผ่านกระบวนการทางเคมี สามารถผลิตได้เป็นน้้ามันไบโอดีเซล น้้ามันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ (BHD) หรือน้้ามันเครื่องบินชีวภาพ (Bio-jet) ได้ ส่วนกากสาหร่ายซึ่งเป็นผลพลอยได้จากขั้นตอนการสกัดน้ำมัน ก็สามารถน้าไปใช้เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ อาหารสัตว์ ปุ๋ย ยา เป็นต้น
หน่วยงานเอกชนในชื่อ UOP A Honeywell Company ได้ทำการศึกษาวิจัยน้ำมันที่ผลิตได้จากสาหร่าย โดยได้นำน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากสาหร่าย (Crude Algal Oil) มาผ่านกระบวนการ Hydrogenation เพื่อให้ได้น้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างเหมือนกับน้ำมันดีเซล
- พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ – Flying Wind Power
พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ คือ พลังงานที่ได้จากลม โดยมีกังหันลมเป็นเครื่องจักรกลไว้รับพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ของลมผ่านตัวกังหันเพื่อเปลี่ยนลมให้เป็นพลังงานกล จากนั้นเราก็สามารถนำพลังงานกลมาใช้ประโยชน์ได้
แต่พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศจะแตกต่างจากพลังงานจากกังหันลมทั่วไป คือ กังหันลมแบบลอยบนอากาศจะติดตั้งบนพื้นที่ หรือบริเวณในระดับความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 1,000 – 2,000 ฟุต เพื่อรับแรงลมที่แรงกว่าแรงลมปกติ โดยแรงลมที่ความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 1,000 – 2,000 ฟุต นี้จะได้รับลมที่มีความเร็วมากกว่าลมที่ติดตั้งแบบทาวเวอร์ประมาณห้าถึงแปดเท่า และกังหันลมแบบลอยบนอากาศสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่ากังหันลมขนาดใกล้เคียงกันที่ตั้งแบบทาวเวอร์ถึง 2 เท่า
- พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งได้ทุกพื้นผิว – Embeddable Solar Power
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่มีความสำคัญ เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนที่โลกได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะกลายเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักในอนาคต อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานสะอาด โดยปกติแล้วการจะแปรสภาพพลังงานจากแสงอาทิตย์จะทำได้โดยผ่านแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเราจะต้องนำแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งหลังคาของบ้าน อาคาร และที่สูง เพื่อให้โซลาร์เซลล์ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่
แต่ในปัจจุบันได้มีการนำแผงโซลาร์เซลล์มาประยุกต์กับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น หลอดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เคสโทรศัพท์มือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้แต่ตุ๊กตาติดหน้ารถพลังงานแสงอาทิตย์ โดยของใช้เหล่านี้จะมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กถูกติดตั้งมา และจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับผ่านแผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน หรือ หากเป็นเคสโทรศัพท์มือพลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานที่ได้รับจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นจะเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับมือถือที่สวมใส่เคสพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เคสโทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นเหมือน Power Bank แบบไร้สายเพื่อประจุไฟเข้าโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
ในอนาคตเหล่านักวิจัย และผู้พัฒนาได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อทำให้เราสามารถเคลือบ หรือ ฝังโซลาร์เซลล์ลงบนพื้นผิวของวัตถุต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านนอกอาคาร หลังคาบ้าน หลังคารถ หน้าต่าง และกระจกของอาคารต่างๆ เรือใบ เต็นท์ บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแม้แต่บนเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทุกวัน
โดยที่ทางผู้พัฒนาคาดหวังว่าการพัฒนานี้จะช่วยให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ง่ายขึ้น โดยสามารถติดตามสถานที่ วัตถุ หรือ พื้นผิวต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น และมีราคาที่ถูกลง เพื่อให้การใช้โซลาร์เซลล์กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคต
- พลังงานฟิวชั่น – Fusion Power
พลังงานฟิวชั่น คือ พลังงานที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น พูดง่ายๆ พลังงานฟิวชั่นก็คือพลังงานนิวเคลียร์ชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่พลังงานชนิดนี้เป็นพลังงานสะอาด แตกต่างจากพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไป
โดยพลังงานฟิวชั่นเป็นการรวมตัวของพลังงาน คือ ธาตุเบารวมตัวกันเป็นธาตุหนัก เช่น ไฮโดรเจน รวมกันเป็น ฮีเลียม แล้วปล่อยพลังงานออกมา และเรานำพลังงานที่อยู่ในใจกลางอะตอม (Nucleus) มาใช้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพลังงานฟิวชั่นจะไม่มีการปล่อยสารกัมมันตรังสี และมีขั้นตอนในการทำปฏิกิริยาที่ต่างกับพลังงานนิวเคลียร์แบบปกติ แต่มีแหล่งต้นกำเนิดพลังงานจากนิวเคลียสเหมือนกัน
ในปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสได้สร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลองความร้อนระหว่างประเทศ (ITER) ซึ่งจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชั่นเชิงพาณิชย์ แห่งแรกของโลก โดยประเทศฝรั่งเศสได้รับทุนจาก 7 ประเทศในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลองความร้อนนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปี 2027
- พลังงานจากร่างกายมนุษย์ – Human Power
พลังงานจากร่างกายมนุษย์กลายมาเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่น่าสนใจในโลกอนาคต เนื่องจากมนุษย์สามารถสร้างพลังงานผ่านการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนหมุนเวียนที่ค่อนข้างน่าสนใจ และจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตทีเดียว
เนื่องจากมนุษย์เราต้องเคลื่อนไหวร่างกายทุกวัน นั่นหมายถึงมนุษย์เราสามารถสร้างพลังงานได้ทุกวันด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายนั่นเอง โดยในอนาคตมนุษย์เราอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เราพกติดตัว ซึ่งหากเราสามารถสร้างพลังงานทดแทนจากมนุษย์ได้จริง ก็จะทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้น
เช่น การพกแบตเตอรี่สำรองสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์แบบ Laptop ขนาดเล็ก เนื่องจากเราสามารถสร้างพลังงานได้เอง มนุษย์สามารถสร้างพลังงานได้เฉลี่ย 100 วัตต์ ต่อ วัน หรือ อาจสร้างกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 300-400 วัตต์ ต่อ วัน
สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรือ มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น นักกีฬา ในขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ ใช้กำลังไฟฟ้าเพียง 2 วัตต์เท่านั้น จึงเรียกได้ว่าพลังงานจากร่างกายมนุษย์นั้นจะมากพอที่จะเป็นพลังงานทดแทนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กแน่นอน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือ การคิดค้นอุปกรณ์สำหรับการแปลง และกักเก็บพลังงานจากการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักพัฒนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องทำขึ้นมาให้สำเร็จ เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต
ประเทศไทย กับการเดินหน้าพัฒนา แหล่งพลังงานทดแทน เพื่อการใช้พลังงานของชาติอย่างยั่งยืน
ในปีที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนในประเทศไทยไม่น้อย โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ที่นำมาต่อยอดสู่ขุมพลังงานสำหรับยานยนต์แห่งอนาคต
ยกตัวอย่างในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เปิด Gigafactory โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในนาม ‘อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)’
“เป้าหมายของเรา คือการเป็น ASEAN EV Hub และถ้าเราไม่มีโรงงานแห่งนี้ เราจะสูญเสียความสามารถในฐานะผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายแขนงนี้ไปให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซียและเวียดนาม ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่เขายังไม่มีโรงงานแบบเรา และไม่มีซัพพลายเชนหรือระบบสายส่งที่เพรียบพร้อมและดีเท่าเรา ดังนั้นถ้าวันนี้เราเดินให้เร็ว จับตลาดให้ได้ นักลงทุนก็ย่อมอยู่ที่เมืองไทยต่อไป”
“โดยการเกิดขึ้นของ โรงงาน Gigafactory นี้ยังตอบโจทย์พอดีกับเป้าหมายใน COP26 ด้วย ที่ต้องการเปลี่ยนรถใช้พลังงานฟอสซิล เป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้า และลดการผลิตพลังงานจากฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด โรงงานนี้จึงถือว่าเกิดมาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ซึ่งพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ด้านพลังงานสะอาดที่กำลังจะเกิดขึ้น”
“ดังนั้น การที่ไทยมีฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอยู่ในประเทศที่หลากหลาย ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่นักลงทุน นักธุรกิจ ต่างชะลอการเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่ง ถือเป็นเรื่องดี ถ้าเราใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นโอกาสของประเทศ โดยการเพิ่มศักยภาพของประเทศ เพิ่มดีมานด์ในประเทศ ตรงนี้ย่อมเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ความสำเร็จของ EA และ โรงงานโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือกับ บริษัท อมิตา ที่ไต้หวัน ถือว่าอยู่ในลำดับ 1 ใน 3 ของโลก ที่มีการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงถือว่าไต้หวันเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีนี้ในระดับโลก
ในโอกาสนี้ทาง อมิตา เทคโนโลยี ไต้หวัน ได้นำคนไทยเก่งๆ ไปร่วมกันทำงาน ร่วมออกแบบโรงงานแห่งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง วิศวกรไทย และ วิศวกรไต้หวัน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และ Knowhow กัน โดยวิศวกรไต้หวันต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่ที่เมืองไทย และช่วยกันเอาความคิด ประสบการณ์ มาถ่ายทอดและสอนให้กับทางไทย
ขณะที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็ได้ริเริ่มโครงการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดต่างๆ หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ เพื่อให้พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดเหล่านี้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศไทย ทดแทนการผลิตพลังงานรูปแบบเดิมที่อาจจะหมดไปในอนาคต
รวมไปถึงการคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟตที่เรียกว่า SemiSolid เพื่อเป็นการส่งเสริมวงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟตตัวนี้เป็นเทคโนโลยีจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปใช้งานเป็นแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพราะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีความปลอดภัยในการใช้งาน
อีกทั้ง GPSC ยังมีการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย และไต้หวัน เพราะมีการคาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้นยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าของนิคมอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณ 4 – 6% จากปีก่อน
และการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถือเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอัตราการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย
Source : SALIKA