กระทรวงพลังงานเตรียมแปลงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ปริมาณรับซื้อ 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล โดยจะใช้วิธีประมูล กำหนดเพดานราคาไฟฟ้าที่รับซื้อไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย คาดออกประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ได้ ม.ค. 2564 ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ จะเปิดรับซื้อ ม.ค.2564 เช่นเดียวกัน ในปริมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ และหากไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เกษตรกรและชุมชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด จะมีการพิจารณายกเลิกปริมาณรับซื้อที่เหลือ ( ตามแผนPDP2018 rev 1 ต้องรับซื้อเข้าระบบ 1,933 เมกกะวัตต์ )
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ปรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระยะเร่งด่วน หรือ Quick Win 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็น “โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล” โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพที่สร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วแต่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาด้านสายส่งไฟฟ้าในอดีต แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงสายส่งแล้ว หรือโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA) โดยกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์
ทั้งนี้โควต้า 100 เมกะวัตต์ที่จะเปิดรับซื้อดังกล่าวจะนำโควต้ามาจาก “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560” ที่เลยกำหนดเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ไปตั้งแต่ 13 ธ.ค.2562 มาใช้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลดังกล่าวแทน โดยใช้วิธีเปิดให้ประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ เพื่อไม่ให้เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และจะใช้กรอบราคาที่ SPP Hybrid Firm เคยประมูลได้ราคาต่ำเพียง 2.44 บาทต่อหน่วย มาเป็นกรอบพิจารณากำหนดราคาประมูลสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล คาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ต้นปี 2564
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ที่ประมูลใน ปี 2560 ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ นั้น มีผู้ชนะประมูลทั้งหมด 17 ราย แต่ปัจจุบันมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ได้ลงนามสัญญา PPA แล้ว ที่เหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถที่จะลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 100 เมกะวัตต์
โดยถึงแม้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ.จะเปิดให้ผู้ประกอบการทั้ง 14 รายยื่นเสนอแผนสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อปลายเดือน ต.ค.2563 เพื่อพิจารณาขยายสัญญา PPA แต่เมื่อพิจารณาแผนงานที่เสนอมาพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าได้จริง จึงต้องโยกปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวให้กับโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลแทน
ทั้งนี้คาดว่า กกพ.จะสรุปผลว่าจะเหลือผู้ประกอบการกี่รายที่ได้ต่อสัญญา PPA และจะมีปริมาณไฟฟ้าที่แท้จริงเหลือให้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผลกี่เมกะวัตต์ ซึ่ง กกพ.จะสรุปผลให้กระทรวงพลังงานทราบภายในเดือน พ.ย. 2563 นี้
โดยโรงไฟฟ้าขยายผล เป็นเรื่องของการลงทุนเฉพาะเอกชน ที่แยกออกมาจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างชัดเจน
ด้านนายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ว่า ในส่วนของโครงการนำร่องจะมีขนาดโรงละ 3-6 เมกะวัตต์ปริมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ และจะเปิดรับซื้อในเดือนมกราคม 2564 เช่นเดียวกัน ในอัตรารับซื้อตามหลักเกณฑ์เดิม ( ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท ต่อหน่วย ) โดยต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเกษตรกรอย่างแท้จริง
ทั้งนี้จะมีการนำเสนอการปรับปรุงทบทวนหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาในวันที่ 11 พ.ย นี้ ก่อนเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จะมีการประเมินผลสำเร็จจากโครงการนำร่อง โดยหากไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจจะพิจารณายกเลิกการดำเนินการในส่วนที่เหลือ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 กำหนดปริมาณรับซื้อทั้งหมดภายในปี 2567 ถึง 1,933 เมกะวัตต์
Source : Energy News Center