กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

7 พฤศจิกายน 2563

ส.อ.ท.จัดทำ AEDP ภาคประชาชนเตรียมส่งมอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานธ.ค.นี้ โดยเรียกร้อง 5 ข้อให้พัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งเร่งรัดโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์-เพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์-ให้นำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% หนุนผุดโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า 

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มพลังงานหมุนเวียนได้ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดสัมมนา “AEDP ภาคประชาชน หรือแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ภาคประชาชน” ซึ่งหลังจากรับฟังความเห็นแล้วจะจัดทำฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในเดือน ธ.ค.นี้ 

สำหรับเสนอที่ ส.อ.ท.เสนอแนะประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. การผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร หรือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเสนอ ให้กำหนดระยะนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 10,300 ล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่จะรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,933 เมกะวัตต์ จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 134,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยให้เกิดการจ้างงานอีก 1 หมื่นตำแหน่ง

2. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม คณะทำงานได้เสนอให้เพิ่มเป้าหมายพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และกำหนดอัตรารับซื้อที่เหมาะสม พร้อมเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไฟฟ้าให้เหมาะสมและลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตและลดความซ้ำซ้อนลง ส่วนโซลาร์ฯ เสนอให้ลดขั้นตอนในการออกใบอนุญาต โดยสารมาระยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ได้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยไม่ต้องขอใบอนุญาต ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นให้ขอใบอนุญาตติดตั้งระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แทนการขอ อ.1 และ พค.1 หรือขอใบยกเว้นโดยที่ไม่ต้องขอ รง.4 พร้อมกันนี้ขอให้มีการอนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer หรือการซื้อขายระหว่างกันได้และมี National Energy Trading Platform รองรับการซื้อขายระหว่างกน ขณะเดียวกันรัฐควรรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย

3. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ได้เสนอแนวคิดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยให้ลดขั้นตอนและลดความซ้ำซ้อนในการขออนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ควรมีผังเมืองรองรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ นอกจากนี้ ประชาชนควรมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดเก็บขยะแบบคัดแยกอย่างเป็นระบบ สถาบันการเงินควรสนับสนุนเงินทุนแก่โรงไฟฟ้าขยะ สนับสนุนงบประมาณแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดการบริหารจัดการขยะและให้นำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด

4. การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง Prosumer โดยภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชนและอนุญาตให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้และเกินความต้องการใช้ให้แก่คนอื่นได้ พร้อมกันนี้ให้ปรับข้อกฎหมายตลาดของพลังงานไฟฟ้าจาก Enhanced Single Buyer ไปสู่ Wholesale Power Market ปรับปรุง Grid Code ให้เหมาะสมและรองรับเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยจัดทำโรดแมป ที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนโครงสร้างระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเข้ามาของ Prosumer พัฒนา Digital Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน อนุญาตให้บุคคลที่สามสามารถใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ ฯลฯ

5. ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ได้เสนอให้รัฐส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยให้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยคณะทำงานฯ ได้เสนอโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจำนวน 13,500 คัน และจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 433 สถานีเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้าซึ่งได้มีการศึกษาได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ กทม.-อีอีซี กทม.-สระบุรี และ กทม.-อยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 3 เส้นทางระยะเวลา 10 ปีเท่ากับ 127,878 ล้านบาท

Source : MGRonline