กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

6 ตุลาคม 2562

ทันทีที่เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงพลังงาน สิ่งที่“นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขับเคลื่อนและพร้อมคิกออฟ เรื่องหลักๆ คือ ประกาศนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้า “ทำให้พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน หรือ Energy for All”  สนับสนุนภาคประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการ “ลดค่าใช้จ่าย” และ “สร้างรายได้” จากพลังงานควบคู่ไป 

นอกจากนี้ยังออกมาประกาศชัดถึงการชูธงเดินหน้าปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561- 2580 หรือ PDP2018 โดยเพิ่มสัดส่วนการสร้างพลังงานทดแทน  ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงพลังงานทดแทนได้มากขึ้น

     ต่อยอดโครงการ  “โซลาร์ภาคประชาชน” นโยบายภายใต้แผน PDP2018 ที่สตาร์ตโครงการไปแล้วเมื่อกลางปี 2562 โดย “รัฐ” รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคประชาชน ปริมาณ 10,000  เมกะวัตต์   นำร่องรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้าน  หรือโซลาร์รูฟท็อป ทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์  แบ่งการรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30  เมกะวัตต์ โดยผู้มีสิทธิยื่นชื่อเข้าโครงการต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1  หรือบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น

ที่น่าติดตามคือ  “โซลาร์ภาคประชาชน”  คือการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน เหลือใช้จากประชาชน ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย  กำหนดเวลารับซื้อ 10 ปี  แต่ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าราคารับซื้ออาจยังไม่จูงใจมากพอ บางรายรอดูตัวอย่างจากกลุ่มนำร่อง รวมทั้งข้อดีของการร่วมโครงการที่ยังไม่รับรู้อย่างแพร่หลาย ซึ่งในแง่กระทรวงพลังงานเอง ก็อยู่ในช่วงกำลังพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อนำไปปรับปรุง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการในระยะต่อไป

-จับตาบรรดาผู้นำร่องรายใหญ่

     ปัจจุบันโครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีผู้เล่นที่น่าจับตาคือ “บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA” เข้าร่วมโครงการนี้ เป็นลำดับแรกๆ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรก ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย ติดตั้งให้บ้านทุกหลังในโครงการของเสนา  เว้นบ้านที่มีราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาท  นอกจากจุดแข็งการติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับลูกบ้านเท่านั้น  แต่พ่วงบริการแบบครบวงจร  ดำเนินการติดตั้ง พร้อมดูแลรักษา โดยบริษัท เสนา โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่เสนาถือหุ้น 100% 

     เสนารับเป็นตัวกลาง นำพาลูกบ้านที่มีโซลาร์รูฟท็อป จากโครงการเสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา , เสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา-วงแหวน , เสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 (ศาลายา) , เสนาแกรนด์ โฮม รังสิต-ติวานนท์ , เสนาช็อปเฮ้าส์ พหลโยธิน-คูคต และโครงการเสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค เฟส 1 และเฟส 2 ยื่นสิทธิขายไฟฟ้าให้รัฐ  ถือเป็นกลุ่มผู้ยื่นสิทธิสูงสุดในปีนี้มากกว่า 164 ราย  ขายไฟฟ้าเข้าระบบมากกว่า 394.40 กิโลวัตต์ 

     ด้านบริษัท แสนสิริ  จำกัด ก่อนหน้านั้นโดดจับมือกับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เปิดตัวโฉมใหม่การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยบีซีพีจีเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการแสนสิริ เพื่อผู้อยู่อาศัยในโครงการสามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง  รวมถึงยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกันภายในโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการใช้blockchain technology และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว 5 ปี เบื้องต้นมีโครงการของแสนสิริที่จะเข้าร่วมกว่า 20 โครงการ

        นอกจากนี้ล่าสุดแสนสิริยังออกมาเนรมิตเสาไฟอัจฉริยะที่ใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า Smart Lighting Pole พัฒนาโดย Omniflow ซึ่งใช้พลังงานสะอาด 100% ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ย่านอ่อนนุช 1/1 และเข้าไปในเมือง T77 โดยเสานี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟ และไม่ต้องห่วงว่าหากไม่มีแดดหรือลมแล้วจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เพราะเสาไฟอัจฉริยะนี้ใช้แบตเตอรี่ชนิดพิเศษที่สามารถจ่ายไฟให้อยู่ได้นานถึง 3 วัน ติดตั้งขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณถนนโดยรอบของศูนย์การค้า Habito Mall ภายในเมือง T77 สร้างให้เมืองได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์แบบถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นำร่องใช้พลังงานสะอาด

                สำหรับโซลาร์รูฟท็อป อาจจะยังดูใหม่และอยู่ในวงจำกัดในเมืองไทย แต่ในหลายประเทศคืบหน้าไปไกลแล้ว  เช่น ในสหรัฐอเมริกา  มีการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าที่ขายให้กับผู้บริโภค ด้วยเหตุผลว่าไฟฟ้าจากโซลาร์นั้น ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม   ไฟฟ้าไม่สูญเสียในสายส่ง  และลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  หรือเรียกว่าการให้คุณค่ากับพลังงานแสงอาทิตย์ (Value of Solar) มากกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ  ขณะที่ไทยนั้นไฟฟ้ากว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดลง ต้องนำเข้า แต่ปริมาณใช้ไฟยังคงเติบโตต่อเนื่อง

      เมื่อทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ไทยยังเดินสวนทาง เพราะการผลิตไฟฟ้ายังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงไม่อาจมองข้ามพลังงานสะอาดจากโซลาร์รูฟท็อป ที่กำลังทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป

      พลังงานจากแสงอาทิตย์ จึงเป็นอนาคตที่มองข้ามไปไม่ได้ และเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ช่วยลดปัญหามลพิษ!!!

คอลัมน์ : Let Me Think

โดย     : TATA007