Akio Toyoda ประธาน Toyota Motor ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ในวงการยนตรกรรม ว่า การนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มากเกินไป รวมถึงการห้ามใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องถึงกับล่มสลาย ท่านประธานของแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น วัย 64 ปี ได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าว ในการแถลงข่าว ในฐานะประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal
นอกจากนี้ Akio Toyoda ยังแนะนำว่า การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างฉับพลันทันที หรือไม่มีความพร้อมในด้านพลังงานไฟฟ้าสำรอง จะไม่ส่งผลดีต่อระดับการปล่อยมลพิษ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ ยังคงก่อมลพิษมหาศาล เพื่อให้ได้ไฟฟ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน พลังงานก๊าซธรรมชาติ หรือแม้แต่การผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
“ยิ่งเราสร้างรถยนต์ EV มากเท่าไหร่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเท่านั้น” Toyoda กล่าวโดยอ้างถึงการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าบางประเภท “เมื่อมีนักการเมืองออกมาพูดว่า ‘มาช่วยกันกำจัดรถยนต์ทุกคันที่ใช้น้ำมันเบนซินกันเถอะ’ พวกเขามีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้หรือไม่ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงจากพลังงานเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเมืองใหญ่แทบจะทุกเมืองบนโลก ต่างประสบกับปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ”
Toyoda ได้ชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นซึ่งกำลังพิจารณาที่จะห้ามการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2030 การเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับการขับเคลื่อนรถยนต์ในญี่ปุ่น จะทำให้การผลิตไฟฟ้าบนเกาะญี่ปุ่นไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และใช้กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“รูปแบบธุรกิจในปัจจุบันของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังจะพังทลายลง จากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีแผนงานรองรับที่ดีพอ เกี่ยวกับการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก จะตามด้วยการเลิกจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง” สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความคิดเห็นดังกล่าวของประธาน Toyota Motor เกิดขึ้นหลังจากต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แบรนด์ Toyota ได้จัดแสดงรถต้นแบบ SUV พลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ พร้อมแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงแบบล่าสุดที่ใช้เวลาในการชาร์จไฟแค่ 10 นาที จะได้กระแสไฟในแบตมากถึง 80% SUV พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ดังกล่าว กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ โดยใช้แพลตฟอร์ม e-TNGA และมีระยะทำการไกลถึง 600 กิโลเมตร
ในส่วนของประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงจากการใชัรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จากสถานีชาร์จไฟเพื่อรองรับการใช้งานที่ยังมีอยู่ไม่มากนัก แม้ภาครัฐที่จับมือกับเอกชนบางรายในการสร้างสถานีชาร์จไฟให้ครอบคลุมและแพร่หลาย ก็ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี กว่าที่ไทย จะมีสถานีชาร์จไฟครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด จำนวนที่น้อยนิดของสถานีชาร์จไฟ ทำให้การขับรถไฟฟ้าเดินทางไกล ต้องวางแผนเผื่อสำหรับการหาสถานีชาร์จ เมื่อมีสถานีชาร์จไฟอยู่ทั่วทุกหัวระแหง รถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ใช้แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง ทำให้มีระยะทางของการวิ่งใช้งานไกลขึ้นกว่าเดิม เฉลี่ยเท่ากับการเติมเชื้อเพลิง 1 ถัง หรือประมาณ 600-700 กิโลเมตร รวมถึงระยะเวลาในการชาร์จเร็ว สำหรับแบตฯประสิทธิภาพสูง แค่ 10-15 นาที ก็เกือบเต็มความจุแบตฯ หากรถไฟฟ้าสามารถทำได้ (ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีรถไฟฟ้าแบบนั้นออกมาขาย ในราคาที่เป็นมิตร?) ความนิยมในรถยนต์พลังงานสะอาดก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า พลังงานไฟฟ้าที่รถไฟฟ้าใช้ป้อนให้กับมอเตอร์ขับเคลื่อนนั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากพลังงานสกปรก เช่น การเผาถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า กลับกลายเป็นตัวการที่ย้อนมาทำลายสภาพแวดล้อมหนักเข้าไปอีก!
ปัจจุบัน รถไฟฟ้าส่วนใหญ่มีระยะทำการแค่ 200-400 กิโลเมตร บางบริษัทเคลมว่า ชาร์จไฟจนเต็มสามารถวิ่งได้ไกลถึง 600 กิโลเมตรนั้น จะต้องขับด้วยความเร็วต่ำถึงจะวิ่งทำระยะทางไกลขนาดนั้นได้ หากใช้ความเร็วปกติบนไฮเวย์ 120 -140 ในบางจังหวะเพื่อแซงก็กดกันถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเป็นคนขับรถเร็ว ซื้อรถไฟฟ้ามาหนึ่งคันราคาเป็นล้าน หรือหลายล้าน คงไม่เอามาขับแค่คลานๆ อยู่แต่ในเมือง เมื่อขับเร็วขึ้น ไฟในแบตเตอรี่จะลดลงอย่างรวดเร็ว มอเตอร์ที่ทำหน้าที่ส่งถ่ายแรงบิดไปยังล้อขับเคลื่อน จะกินกระแสไฟแบบไม่ยั้งเมื่อคนขับกดคันเร่งอย่างต่อเนื่อง และคงไม่มีใครซื้อ Tesla Taycan i3 หรือแม้แต่ Audi e-TRON ราคาหลายล้านบาท แล้วเอามาวิ่งแบบย่องๆ หยอดๆ อย่างแน่นอนที่สุด
ทุกประเทศในโลกกำลังเกิดปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่พอใช้ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมอย่างประเทศไทย ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงหรือพลังงานธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เขื่อน น้ำมัน และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ แต่จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ไทย ต้องนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน การใช้ไฟฟ้าจำนวนมากนี้ ย่อมต้องใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดเพื่อผลิตกระแสไฟให้ได้มากที่สุด เชื้อเพลิงที่เผาไหม้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างที่บอกว่า มลพิษจากการเผาไหม้ ก็จะยังคงส่งกระทบกับสภาพแวดล้อมเหมือนเดิม แน่นอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง อีกไม่นาน รถยนต์ทั้งหมดก็จะค่อยๆเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฟฟ้า เมื่อถึงวันนั้น เราต้องจัดหาไฟฟ้าปริมาณมหาศาลเพื่อให้เกิดความพอเพียงสำหรับทุกบ้านที่มีรถไฟฟ้า ส่วนสภาพอากาศรอบตัวเราจะดีขึ้นหรือแย่ลงนั้น ต้องตามดูกันอีกทีครับ.
อาคม รวมสุวรรณ
Source: ไทยรัฐ