แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 โดยประเมินว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 อยู่ที่ 2,777 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้น 1.8% จากปีก่อน การเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นมาจาเหตุผลต่างๆ
ข้อมูลอ้างอิงสมมติฐานด้านเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ที่ประเมินว่า ในปี2563 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) จะอยู่ที่ 2.7-3.7% อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่หลายสำนักฯ ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 55-63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นคาดการณ์ก่อนเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับข้อมูลในปี 2562
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ เปิดเผยว่า สนพ.ได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงพยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 โดยประเมินว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 อยู่ที่ 2,777 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้น 1.8% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน ที่คาดว่าจะเติบโตราว 1.2% ,ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 1.4%,พลังงานทดแทน เพิ่มขึ้น 3.9% ,ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 7.3% จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวที่เข้าระบบจำนวน 3 โรง ช่วงปลายปี 2562 และก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1%
ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 2563 เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว
โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) ของประเทศในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 37,437 เมกะวัตต์(MW) เพิ่มขึ้น 0.3% จากปีก่อน และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น คาดว่า อุณหภูมิจะอยู่ที่ 38 องศา จาก Peak ในปี 2562 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 เวลา 14.27 น. อยู่ที่ระดับ 37,312 เมกะวัตต์(MW) ขณะที่ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) ของ 3 การไฟฟ้า(การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ในปี2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและสหรัฐอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบด้านราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ระดับ 65.66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และล่าสุด วันที่ 6 ม.ค. 2563 อยู่ที่ 69.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ เพิ่มขึ้นราว 3.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดังนั้น ยังต้องติดตามดูราคาน้ำมันดิบในช่วง 1-2 วันนี้ ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ได้มีการจัดทำเป็นสมมุติฐาน(Scenario) ในช่วงระดับราคาต่างๆ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็สามารถใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปบริหารจัดการได้ โดยในวันที่ 10 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เพื่อพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันและอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯที่เหมาะสมอีกครั้ง
สำหรับภารกิจของ สนพ.ในปี2563 จะต้องปรับปรุง 5 แผนพลังงาน คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP),แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP),แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP),แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 รวมถึง จะต้องจัดทำโครงสร้างกิจการก๊าซฯเสรีให้เกิดความชัดเจน หลังจากที่ กฟผ.ได้เริ่มทดสอบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) 2 ล็อต โดยล็อตแรก 6.5 หมื่นตัน นำเข้ามาแล้วในเดือนธ.ค.2562 และล็อตที่ 2 อีก 6.5 หมื่นตันจะนำเข้าเดือน เม.ย.นี้
อีกทั้ง การปรับโครงสร้างน้ำมัน ในกลุ่มของเบนซิน ที่ทางกรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมในการลดชนิดน้ำมันลง และอาจส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานของกลุ่มเบนซิน
Source : กรุงเทพธุรกิจ